xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายภาคประชาสังคม 40 องค์กร ยื่น กมธ.กิจการเด็กฯ แก้ ป.อาญา ม.301-305

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครือข่ายภาคประชาสังคม 40 องค์กร ยื่น กมธ.กิจการเด็กฯ แก้ ป.อาญา ม.301-305 ชี้ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเป็นจริง

วันนี้ (10 มิ.ย.) นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะ กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ รับยื่นหนังสือจากนางกฤตยา อาชวนิจกุล ผู้แทนเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และเครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 40 องค์กร เรื่องมาตการแก้ไขปัญหาการทำแท้ง โดยขอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งมาตรา 301-มาตรา 305


ทั้งนี้ นางกฤตยากล่าวว่า เป็นเวลากว่า 60 ปี แล้ว ที่ประเทศไทยได้บังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งมาตรา 301-305 โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อผู้หญิงที่ทำแท้งไว้ในมาตรา 301 และมีข้อยกเว้นบทลงโทษผู้กระทำการให้ผู้หญิงแท้งในกรณีของแพทย์ รวมถึงเงื่อนไขความจำเป็นบางประการในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือหญิงมีครรภ์จากการกระทำความผิดอาญา ในทางปฏิบัติพบว่ามีคดีที่กระทำความผิดตามมาตรา 301 ขึ้นสู่ศาลน้อยมาก เนื่องจากการทำแท้ง มีลักษณะเป็นอาชญากรรมที่ปราศจากเจ้าทุกข์ หรือ เป็นการกระทำความผิดที่ไม่มีผู้เสียหาย กล่าวคือเป็นการกระทำที่ผู้กระทำยินยอมให้ผลของการกระทำนั้นเกิดกับตัวผู้กระทำเอง โดยที่กฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิดไว้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ผู้กระทำเป็นทั้งอาชญากรและเป็นเหยื่อไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นการยากที่จะพิจารณาถึงผู้เสียหายได้โดยชัดเจนเพราะเป็นเรื่องของความยินยอม ซึ่งทำให้ยากแก่การจับกุมและปราบปรามเพราะทั้งผู้ให้บริการทำแท้งและตัวหญิงที่ยินยอมให้ทำแท้งจะไม่มีฝ่ายใดดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์


จากข้อมูลการเฝ้าระวังการทำแท้งของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้งจำนวนร้อยละ 60 ทำแท้งด้วยเหตุผลทางสังคม และเศรษฐกิจ ในขณะที่ร้อยละ 40 ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้ ในมาตรา 305 ที่ยกเว้นการลงโทษในกรณีที่แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย และการตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดทางอาญาไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวหน้ามากสามารถให้บริการดูแลรักษารองรับการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ได้อย่างปลอดภัย จึงอยากให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ด้านนางมุกดากล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ยินดีที่จะนำเสนอข้อมูลดังกล่าว เพื่อที่จะศึกษาและนำไปสู่การแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น