อดีต กก.สรรหา กสม.ยัน สนช.เป็น ส.ส.-ส.ว.พ้นตำแหน่งไม่ถึงสิบปี เป็น กก.ในองค์กรอิสระไม่ได้ ขำคนอ้างแค่ทำหน้าที่แทน ถามกลับไม่เป็น ส.ส.-ส.ว.แล้วคุณเป็นใคร ชี้ต้นตอเกิดจาก รธน.เริ่มบิดเบี้ยว แนะส่งศาล รธน.ชี้ขาด เหตุเป็น กก.สรรหา 2 ชุดขัดแย้ง
วันนี้ (7 มิ.ย.) นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา กสม.ที่มีมติถึงสองครั้งว่าอดีต สนช.เป็น ส.ส.และ ส.ว.ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาตำแหน่งในองค์กรอิสระได้หากพ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี ทำให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีต สนช.ขาดคุณสมบัติไม่สามารถเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ได้ ซึ่งเป็นการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างไปจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่มีมติเสนอชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีต สนช.เป็น ป.ป.ช.และผ่านความเห็นชอบจาก ส.ว.ไปแล้ว กล่าวถึงปัญหากรรมการสรรหาสองชุดตีความเรื่องนี้แตกต่างกันว่า อยากให้สังคมย้อนดูถึงที่มาขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 40 โดยมีการถ่วงดุลโดยคณะกรรมการสรรหา เช่น กรรมการสรรหา กสม.ในขณะนั้นมีมากถึง 27 คน ซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ขณะที่ ส.ว.ซึ่งเป็นผู้ผ่านความเห็นชอบในช่วงเวลานั้นมาจากการเลือกตั้ง เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 50 เริ่มเบี้ยวบูด เพราะปรับโครงสร้างกรรมการสรรหาใหม่เหลือแค่ 7 คนอยู่ในแวดวงศาล 5 คน นอกนั้นเป็นประธานสภากับผู้นำฝ่ายค้านซึ่งถือว่าแคบมาก ไม่มีภาคประชาชนเลย ต่อมารัฐธรรมนูญ 60 กรรมการสรรหา กสม.จะมีความแตกต่างจากชุดอื่น เพราะเป็นไปตามกฎหมาย กสม.จึงมีบุคคลจากสาขาอาชีพอื่นรวมอยู่ด้วย แตกต่างจากกรรมการสรรหาของ ป.ป.ช.ที่ไม่มีภาคประชาชนร่วมด้วย
“เจตนารมณ์ในการมีองค์กรอิสระ คือ ต้องการให้เกิดการถ่วงดุล ผู้ทำหน้าที่ต้องกล้าตรวจสอบรัฐบาล จึงไม่ให้ผูกพันกับนักการเมือง โดยรัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดห้ามว่า ข้าราชการการเมือง ส.ส.และ ส.ว.ต้องพ้นตำแหน่ง 10 ปีจึงจะเข้าสู่แวดวงองค์กรอิสระได้ ขณะที่ สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.ทั้งหมด จะปฏิเสธว่าไม่ใช่ ส.ส.และ ส.ว. มีคำถามว่า แล้วสนช.เป็นใคร ด้วยเหตุผลนี้ กรรมการสรรหา กสม.จึงมีมติถึงสองรอบว่า อดีต สนช.เป็น ส.ส. และ ส.ว. เมื่อยังพ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี จะเข้ารับการสรรหาเป็น กสม.ไม่ได้ เรายืนกรานเรื่องนี้โดยไม่ได้ดูเรื่องตัวบุคคล ดูแค่ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้น ต้องพ้นตำแหน่ง 10 ปีก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การบอกว่าทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว. แต่ไม่ได้เป็น ส.ส.และ ส.ว.นั้นดูจะเป็นเรื่องโจ๊กจนเกินไป เพราะมีอำนาจเต็มเหมือน ส.ส.และ ส.ว. แต่พอถึงเวลาจะขอยกเว้นไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ก็ต้องถามว่าแล้วที่ผ่านมาคุณคือใคร”
นางสุนีระบุด้วยว่า คาดไม่ถึงว่ากรรมการสรรหา ป.ป.ช.จะตีความแตกต่างไปจากกรรมการสรรหา กสม. แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรรมการสรรหาสองชุดมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ส่วนตัวเห็นว่าต้นเหตุของปัญหามาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์กรอิสระตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดความยุ่งเหยิง อีกทั้ง ส.ว.ปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และมาจาก สนช.เกือบครึ่ง ทำให้คนเหล่านี้ตีความไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่สอดรับกับความเห็นของสังคม เพราะ สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.อย่างยิ่งใหญ่ มีเอกสิทธิ์เสมือนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งมาโดยตลอด ถ้าปล่อยให้มีการตีความอย่างนี้องค์กรอิสระจะมีอดีต สนช.เข้ามาสมัครอีกเยอะแยะ มีทั้งข้าราชการเกษียณ และสารพัดกลุ่ม ท่านต้องเคารพกติกาที่พวกท่านเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกันทางกฎหมายก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เนื่องจากเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้จนกลายเป็นมติของ ส.ว.ไปแล้ว จึงไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างกรรมการสรรหาสองชุดเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะมีข้อถกเถียงไม่จบสิ้น