คณะกรรมการสรรหา กสม.แจ้งเลื่อนวันแสดงวิสัยทัศน์ออกไปปลายเดือน มิ.ย. อ้างต้องประชุมกันก่อน 19 มิ.ย. เคลียร์ปม 7 ผู้สมัคร ถือหุ้นสื่อจะตัดสิทธิหรือไม่ ชี้กรณี 2 สนช.ปิ๋วจะเป็นประเด็นขัดแย้งสู่วิกฤต ส.ว.-องค์กรอิสระ
วันนี้ (4 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้แจ้งการเลื่อนกำหนดวันแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็น กสม.จากวันที่ 8-9 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 26 และ 29 มิถุนายน ทั้งนี้ เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามี 7 คนจากผู้สมัคร 34 คน ยังถือหุ้นสื่อในบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด กรรมการสรรหาจึงนัดประชุมกันเองวันที่ 19 มิถุนายน เพื่อพิจารณาหาข้อยุติในประเด็นการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ โดยที่ไม่ได้ทำกิจการเกี่ยวกับสื่อโดยตรง เพียงแต่ระบุในวัตถุประสงค์ตามแบบฟอร์มที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัครหรือไม่ และอาจมีการหารือถึงกรณีที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้กรณีวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ส่งชื่อมาซึ่งขัดแย้งกับคณะกรรมการสรรหา กสม.ที่มีมติตัดสิทธิการเป็นผู้สมัคร 2 คน เนื่องจากเคยเป็น สนช.และพ้นจากตำแหน่งมาไม่ถึง 10 ปี ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ น.ส.จินตนันท์ ริญาต์ร ศุภมิตร
แหล่งข่าวกล่าวว่า ความขัดแย้งที่กลายเป็นการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน มีความเชื่อมโยงไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันหรือองค์กรสำคัญในฐานะที่เป็นกรรมการสรรหาทั้ง 2 ชุด ได้แก่ ประธานศาลฎีกา (เป็นประธาน), ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
“ความขัดแย้งจากการตีความกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม ความเป็นอิสระของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไม่สนใจความรู้สึกของสังคม มุ่งแต่สนับสนุนส่งเสริมพวกเดียวกันให้มีอำนาจเพื่อจะได้ปกป้องช่วยเหลือกัน กลายเป็นประจักษ์พยานของการมีสองมาตรฐานอาจนำไปสู่จุดวิกฤตเพิ่มขึ้นของวุฒิสภา และองค์กรอิสระ” แหล่งข่าวกล่าว