“ศรีสุวรรณ” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลวินิจฉัย “สุชาติ” นั่ง ป.ป.ช.ได้หรือไม่ เหน็บได้รับแต่งตั้งหนีไม่พ้นถูกครหามีผลประโยชน์ทับซ้อน คล้ายนาฬิกา “บิ๊กป้อม” เล็งเล่นงาน ส.ว.219 คน ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบหากศาลวินิจฉัยผิด
วันนี้ (4 มิ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่าการที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่งรายชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี จึงมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 11 (18) ให้วุฒิสภาเห็นชอบเป็นว่าที่กรรมการ ป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากนายสุชาติจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี โดยนายศรีสุวรรณกล่าวว่า การที่ที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 26 พ.ค.เห็นชอบให้นายสุชาติซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการ ผู้พิพากษาศาลมีนบุรี เป็นบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการ ป.ป.ช.แทนตำแหน่งที่ว่าง แต่เนื่องจากว่านายสุชาติเคยเป็น สนช.ในช่วงตั้งแต่ 11 ต.ค. 2557 ซึ่งในกฎหมาย ป.ป.ช.ปี 2561 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.นั้นจะต้องไม่เป็นสมาชิก ส.ส., วุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนดำรงตำแหน่ง ดังนั้น การที่นายสุชาติเพิ่งพ้นจากการเป็น สนช.ได้เพียง 1 ปีที่ผ่านมา จึงน่าจะมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2561 ในมาตรา 11 (18) โดยชัดเจน อีกทั้งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่น่าจะต้องการบุคคลที่มีหน้าที่นิติบัญญัติในการออกกฎหมายมาบังคับใช้เข้าไปมีผลประโยชน์ได้เสียในองค์กรต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญจึงพยายามกำหนดระยะห่างเอาไว้เป็นเวลา 10 ปี ดังนั้น การที่ ส.ว.ทั้ง 219 คน ลงคะแนนโหวตเห็นชอบนายสุชาติน่าจะขัดแย้งต่อกฎหมาย ป.ป.ช. และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
“ต้องอย่าลืมว่านายสุชาติได้เป็น สนช.โดยการแต่งตั้งของ คสช.ในสมัยนั้น และปัจจุบันหัวหน้า คสช.ก็คือนายกรัฐมนตรี การจะเข้าไปดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง ก็อาจถูกครหาได้ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็อาจเป็นเรื่องเหมือนที่หลายคนวิพากษ์นาฬิกาบิ๊กป้อม ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรสุดท้ายก็มีการวินิจฉัยว่าเป็นการยืมใช้ของเพื่อน ผมเองก็เป็นนักกฎหมายดูแล้วไม่สามารถจะวิจารณ์เป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น ประเด็นการรับรองนายสุชาติมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.เข้าใจว่าน่าจะขัด พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.โดยชัดเจน และถ้าหากเรื่องนี้เป็นที่ยุติในชั้นศาลว่านายสุชาติไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ได้ ผมก็จะดำเนินการเอาผิดต่อ ส.ว.ทั้ง 219 คนที่รับรองนายสุชาติฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วย”
นายศรีสุวรรณกล่าวด้วยว่า ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินควรจะต้องส่งศาลปกครองเพราะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งในทางกฎหมายขัดแย้งที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในอดีตเคยมี สนช.นำเรื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลมีคำวินิจฉัยว่าคณะกรรมการสรรหาไม่สามารถจะวินิจฉัยได้และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับเรื่อง เมื่อมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้แล้ว การจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกก็อาจจะปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าอาจจะไม่ใช่อำนาจของศาลปกครองแต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นใดก็ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดินจะวินิจฉัยต่อไป เพื่ออย่างน้อยเรื่องนี้จะได้เป็นที่ยุติของสังคม ไม่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์หาที่ยุติไม่ได้