xs
xsm
sm
md
lg

“ลุงป้อมคุมพรรค-ลุงตู่คุมรัฐ-ลุงป็อกคุมมวลชน ป้าหน่อยก็มาหาหมอ” ฝันหวานของลุงไพศาล กับความจริงที่ไม่ได้หวานดั่งฝัน **เกมตรวจคุณสมบัติ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ งานนี้หวังผลให้สะเทือนไปทั้งวุฒิสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** “ลุงป้อมคุมพรรค-ลุงตู่คุมรัฐ-ลุงป็อกคุมมวลชน ป้าหน่อยก็มาหาหมอ” ฝันหวานของลุงไพศาล กับความจริงที่ไม่ได้หวานดั่งฝัน

ควันหลงการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐยังคงดรามา ว่ากันเป็นฉากๆ

ดังที่ “ไพศาล พืชมงคล” อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า นับแต่กรรมการบริหารพรรค 18 คนลาออกแล้ว ได้เห็นปฏิกิริยาของ “สาวกลุง” ชัดเจนไปในทางเดียวกัน คือ การประณามด่าว่าการเคลื่อนไหว เปลี่ยนกรรมการบริหารของพรรคอย่างเสียๆ หายๆ

ทำเป็นขวัญอ่อนแบบคนอ่อนหัดไปได้! จะบอกให้เอาบุญ !! “3 ลุง” เขาไม่แตกกันหรอก ! แค่เอาจอก 3 ขารินสุราเหมาไถยกขึ้นดื่ม ก็พอจะรู้ว่า

“ลุงป้อมคุมพรรค-ลุงตู่คุมรัฐ-ลุงป็อกคุมมวลชน !!

ดื่มสุราคนเดียวก็ไม่สนุก ต้องมีคอเหล้ารู้ใจร่วมดื่มด้วย

“ลุงสนธิรัตน์” คุมน้ำมัน “พี่พีระพันธุ์” คุมตาชั่ง แล้ว “ป้าหน่อย” ก็มาหาหมอ

“พี่แรมโบ้” แกมาจากสำนักเม้งก่าของ “ลุงจิ๋ว” ก็โจ้กับสื่อสิครับ

ส่วน “ลุงไพศาล” ทำไร? ก็นั่งเชียร์หมากรุก สนุกกว่าเอย !! เลิกจิกเล็บให้เจ็บเนื้อเถอะพ่อเจ้าพระคุณ !!

ยกข้อความของไพศาลที่โพสต์มาให้ดูเต็มๆ เห็นถึงความหวังดีต่อ “3 ป” อยากให้กองเชียร์ลุงหันมารักดังเดิม เลิกจิกเล็บให้เจ็บเนื้อหนัง จากพลังประชารัฐเละเป็นโจ๊ก มองให้เป็นดรามาก็สนุกดี

แต่ !! ช้าก่อนลุง ความเป็นไปและความเป็นจริงมันเป็นอย่างที่ลุงว่าหรือเปล่า? มาวิเคราะห์กันสักหน่อย

เริ่มจากที่ว่า “ลุงป้อมคุมพรรค” ในความเป็นจริงตอนนี้ ลุงป้อมมีตำแหน่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค เพราะลุงป้อมมากบารมี มี ส.ส.นับหน้าถือตาให้ความเคารพ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ ทุกวันนี้เป็นเจ้าของพรรคตัวจริงอยู่แล้ว

คำถามคือว่า แล้วลิ่วล้อป้อยอลุงป้อมจะให้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อคุมพรรคให้ “ลุงตู่” งั้นหรือ ? ทั้งๆ ที่วันนี้ลุงป้อมก็คุมให้อยู่แล้ว ไม่ใช่คุมอย่างเดียว แต่ยังให้ท้ายจนกรรมการบริหารพรรคกลายเป็นเรื่องพรรคแตกเละเทะ มันออกจะย้อนแย้งกันน่าดู

ที่สำคัญ หากลุงนั่งหัวหน้าพรรค ก็ให้ลองดูปฏิกิริยาของคนในสังคมตลอดสองวันที่ผ่านมา ก็สะท้อนออกมาเห็นๆ กันแล้ว เรื่องนี้เป็นความจริงที่ต้องถามกันอีกละว่า ... รับกันไหวมั้ยล่ะลุง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
มาถึง “ลุงตู่คุมรัฐ” หากหมายถึงรัฐบาล ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลลุงตู่ก็เล่นบทบาทของตัวเองได้ดีไม่ใช่น้อยในการบริหารจัดการโควิด-19 แต่หากเป็นรัฐที่ล้มเหลว ผลพวงจากการเล่นการเมือง “แย่งชามข้าว” ตบตีกันแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีใน พปชร.แตกแยก หวังคุมงบ จ้องกอบโกยเงิน 4 แสนล้าน ลุงตู่จะคุมยังไง ? หากคนเหล่านั้นขึ้นมาเป็น รมต.เมื่อไร รัฐบาลก็นับถอยหลังเมื่อนั้น

นี่ขนาด “ลุงตู่” ประกาศแล้วประกาศอีกว่า เรื่องของรัฐบาล เรื่องปรับ ครม.เป็นอำนาจของลุงตู่แต่เพียงผู้เดียว ยังไม่ทันไร “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำสองมิตร ฝ่ายยึดอำนาจก็ให้สัภาษณ์สวนลุงตู่ ส่งสัญญาณชัดว่า ต่อจากเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค เปิดทาง “ลุงป้อม” เป็นหัวพรรค รัฐมนตรีก็ต้องปรับ ต้องจัดสรรกันใหม่ เรียกว่า ไม่ทันไรสวนลุงตู่ทันควัน! เก็บอาการไม่มิด นี่คือ ความจริงวันนี้

ทีนี้ก็จะมโนกันต่อว่า ใครจะนั่งตำแหน่งไหนก็ว่ากันไป เป็น “โผรายวัน” พวกพ้องใครก็ตั้งกันไป เลยเถิดไปถึงโยนหินถามทางจะดึง “เพื่อไทย” เข้ามา บอก “ป้าหน่อย” จะมาหาหมอ แล้วพรรคร่วมอย่าง “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล จะไปวางไว้ที่ไหน ? แล้วประชาชนคนที่เชียร์ลุงตู่เขาจะรับได้ไหม ขนาดพรรคเพื่อไทย ที่เจ๊แกดู ก็ไม่มีใครเอาเจ๊

หากว่า เพื่อไทย “ป้าหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ มาจริง ไม่ต้องวิเคราะห์อนาคตกันให้เวิ่นเว้อ บอกเลย “รัฐบาลลุงตู่” ได้เตรียมม้วนเสื่อกลับกรมกองกันเร็วกว่าที่คิดแน่ จะเคลื่อนไหวอะไรกัน ช่างไม่เห็นหัว “ลุงตู่คุมรัฐ” ตามที่ว่าเอาเสียเลย

ส่วนที่ว่า “ลุงป็อกคุมมวลชน” อันนี้แม้แต่ตัวลุงป็อกได้ยินได้ฟังก็คงจะขำ เรื่องจริงๆ ลุงคุมมวลชนตั้งแต่เมื่อไหร่ มีมวลชนให้คุมซะที่ไหน นอกจากคุมผู้ว่าฯ และส่วนปกครองท้องถิ่น และคุมโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ เท่านั้น

งานนี้ ได้เห็นกันละว่า “ลุงป้อมคุมพรรค ลุงตู่คุมรัฐ ลุงป็อกคุมมวลชน” ของลุงไพศาล เป็นเรื่องการแสดงวิชันผ่านคนอินไซด์ใกล้ชิด พยายามออกมาบอกใบ้ให้ติ่งลุงๆ ได้สบายใจไม่มีอะไรเสียหาย แต่คนไทยจะรับได้หรือ

ต้องไม่ลืมว่าสมัยนี้ข้อมูลข่าวสารเขามีหลักฐานยืนยันกันออนไลน์จับต้องได้มากกว่าบทกลอนยุทธภพของลุง

ไพศาล พืชมงคล - สมศักดิ์ เทพสุทิน - สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
**เกมตรวจคุณสมบัติ “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ งานนี้หวังผลให้สะเทือนไปทั้งวุฒิสภา


ทำท่าว่าจะมีดรามาขึ้นมาอีกเรื่อง กรณีที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบให้ “นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา” อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด และ “นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในรายของ “ณัฐจักร” นั้นไม่มีปัญหา แต่ “สุชาติ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “มีลักษณะต้องห้าม” เนื่องจากเคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาก่อน และเพิ่งพ้นจากตำแหน่ง สนช. เมื่อเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมา คือเพิ่งพ้นตำแหน่งสนช.มาเพียง 1 ปี อันเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้าม ที่กฎหมายบัญญัติว่าต้องพ้นระยะ 10 ปีไปก่อน

มีการยก “พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.” มาตรา 11(18) ที่บัญญัติว่า กรรมการ ป.ป.ช. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา”

เพราะเห็นว่าตำแหน่ง สนช.นั้น คือ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ รธน.ปี 60 มาตรา 263 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตาม รธน.นี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรธน.(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป... และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตาม รธน.นี้”

จึงเห็นว่า ประธานวุฒิสภา ควรระงับหรือชะลอการทูลเกล้าฯ รายชื่อ “สุชาติ” ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในประเด็นดังกล่าว

เรื่องนี้ “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่าง รธน.ปี 60 เห็นว่า รธน.มาตรา 263 ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.หากตีความว่า เป็น ส.ส.และ ส.ว.ด้วย ก็จะเข้าลักษณะต้องห้าม...แต่ถ้าตีความว่า สนช.แค่ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เฉยๆ ก็ไม่ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้าม ... แต่ในความเห็นส่วนตัวนั้น คิดว่า สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. มีสวัสดิการ เงินเดือนเทียบเท่าทุกอย่าง และก็เป็นข้าราชการการเมืองด้วย จึงเห็นว่ากรณีนี้เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม

“ดร.เจษฎ์” ยังตั้งข้อสังเกตว่า รธน.60 เปิดโอกาสให้คนเป็น สนช. สามารถเป็น ส.ว.ได้ และสุดท้ายก็มี สนช. ได้เป็น ส.ว.จำนวนมาก และต่อมามีอดีต สนช. มาลงสมัครองค์กรอิสระ และสุดท้ายมีมติได้รับเลือก ก็เหมือนกับ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้สุดท้ายอาจไม่ผิด รธน. แต่น่าคิดว่าเหมาะสมหรือไม่...

สุชาติ ตระกูลเกษมสุข - ศรีสุวรรณ จรรยา - สมชาย แสวงการ
ขณะที่ “นายนัฑ ผาสุข” เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ที่เป็นอดีตเลขานุการ ป.ป.ช. ก็ออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ที่มีประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ได้มีมติชัดเจนว่า สนช. “ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในลักษณะ ส.ส.หรือ ส.ว.” เพราะ รธน.เพียงกำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้น “เป็นเพียงตำแหน่งเฉพาะกิจ” แต่ไม่ถือเป็นตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว.

เช่นเดียวกับ “สมชาย แสวงการ” ส.ว. ที่ยืนยันว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส.และ ส.ว. แต่ สนช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภา ระหว่างช่วงปฏิวัติเท่านั้น อีกทั้ง สนช.เป็นองค์ประกอบไม่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผบ.เหล่าทัพ ผู้พิพากษา มาเป็น สนช.ได้ และถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. และ ส.ว. คือ ห้ามเป็นข้าราชการ อีกทั้ง สนช.ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมืองด้วย แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มาทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น... ที่ผ่านมา ป.ป.ช. และศาล รธน. ก็ไม่เคยวินิจฉัยว่า สนช.ถือว่าเป็น ส.ส.และ ส.ว.ด้วย

“สนช.เป็นองค์กรพิเศษที่เกิดทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว.ขึ้น ผมเรียนตรงๆ วันนี้ผมเป็น ส.ว.และ รธน.60 ก็เขียนห้ามไม่ให้ ส.ว.ตาม รธน.นี้ มาเป็น หมายความว่า ตั้งแต่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ส.ว.จำนวน 80 คน ที่มาจาก สนช. ก็หลุดเก้าอี้เลย หากมีการไปร้องศาล รธน.แล้วสรุปว่า สนช.เป็น ส.ส. และ ส.ว.ก็ทำให้ทุกคนขาดคุณสมบัติ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้”

แต่เรื่องนี้หากมีผู้เสียประโยชน์ หรือคนที่ยังสงสัย ก็สามารถยื่นศาล รธน.วินิจฉัยให้สิ้นกระแสความได้

แน่นอนว่า เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกันในข้อกฎหมายเช่นนี้ “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงประกาศว่าจะไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้นำเรื่องนี้ ยื่นเรื่องต่อศาล รธน. หรือศาลปกครอง ตีความให้ชัดเจน และหากศาล รธน. หรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะดำเนินการร้องเอาผิด 219 ส.ว. ที่โหวตให้ “นายสุชาติ” เป็น ป.ป.ช. ตามครรลองของกฎหมายต่อไป


ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องจะไปถึงศาล รธน. หรือไม่ และถึงที่สุดแล้วผลจะออกมาอย่างไร หากไม่ผิดก็แล้วไป แต่ถ้าผิดขึ้นมาละก็ สะเทือนไปทั้งวุฒิสภาแน่






กำลังโหลดความคิดเห็น