“ปิยบุตร” ชี้ปม ส.ว.ตั้งอดีต สนช.เป็นกรรมการ ป.ป.ช.เหมือนผลัดกันเกาหลัง เตรียมเปิดแคมเปญ “มี ส.ว.ไว้ทำไม” หลังปล่อยให้สืบอำนาจมา 1 ปี เผยตั้งแต่ลงเล่นการเมืองเจอคดีหมิ่นประมาทเพียบ ทั้ง ป.อาญาฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นเหมือนกฎหมายปิดปาก
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้าย ส.ว.เลือกนายสุชาติ ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เท่ากับเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนกันอยู่เพียงกลุ่มคนเดิมๆ ปัญหาต่อมาก็ต้องดูว่ามีองค์กรไหนมาชี้ขาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะทราบว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ก็มีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง เพราะตัดสิทธิผู้ที่เคยเป็น สนช. ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง กสม.ได้
“อยากให้ไปย้อนดูจุดเริ่มต้น สนช. หน่วยธุรการที่เขานำไปใช้ก็คือสำนักงานเลขาวุฒิสภา ถือเป็นนัยสำคัญหนึ่งว่า สนช. เท่ากับ ส.ส.หรือ ส.ว.กันแน่ ตั้งแต่ยึดอำนาจมาก็วนกันอยู่ที่เดิม โดยวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) หากจำกันได้ มีการเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดย 500 เสียง มี 249 เสียงเป็นวุฒิสภา เว้นประธานวุฒิสภาที่งดออกเสียง จึงเห็นได้ว่า ส.ว.ที่เลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงชัดเจนที่สุดว่าวุฒิสภาชุดนี้ตั้งมาเพื่อการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร”
นายปิยบุตรกล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) เราจะเปิดแคมเปญ “ส.ว. มีไว้ทำไม” อย่างเป็นทางการ และวันที่ 6 มิ.ย.จะมีการจัดสัมมนาออนไลน์เพื่อให้สังคมพิจารณาว่า ส.ว.ทำหน้าที่มา 1 ปีแล้วเพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ ซึ่งสังคมจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ และจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะมี ส.ว.
นายปิยบุตรกล่าวถึงคดีความว่า ตั้งแต่ยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ยังมีคดีความค้างคาคือเรื่องดูหมิ่นศาล กรณีวิจารณ์การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) รวมทั้งได้ทราบข่าวว่ามี ส.ส.ไปแจ้งความตนอีกหลายเรื่อง ไม่คิดว่าการมาเป็นนักการเมืองจะถูกฟ้องมากขนาดนี้ ซึ่งกฎหมายหมิ่นประมาทออกมาเพื่อคุ้มครองตัวบุคคล แต่ไม่ได้มีไว้เพื่อกลั่นแกล้งหรือปิดปากคนอื่น โดยเฉพาะกับบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะที่ใช้อำนาจรัฐด้วย ควรจะมีความอดทนอดกลั้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมาเล่นการเมือง เพราะในระบบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และให้สังเกตดูตั้งแต่ปี 2557 มีคดีความเรื่องหมิ่นประมาทเยอะมาก รวมทั้งใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 116 เกี่ยวกับการยุยงปลุกปั่น ซึ่งนานวันเข้ากฎหมายเหล่านี้จะเป็นกฎหมายปิดปากผู้ที่แสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่เพียงแต่ตนเท่านั้น สื่อมวลชนต้องตระหนักด้วยเพราะกระทบต่อการทำหน้าที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่ตนเล่นการเมืองมาก็ถือว่าเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ถูกวิพากวิจารณ์มากที่สุด แต่ก็ไม่เคยฟ้องหมิ่นประมาทใครเลย เพราะตนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่าสามารถถูกตรวจสอบ และวิพากษ์วิจารณ์ได้