“ส.ว.ลากตั้ง” งามหน้าอีกแล้ว! ลงมติเห็นชอบอดีต สนช. “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ส่อขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ป.ป.ช. เหตุพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี ด้านที่ปรึกษา กรธ.ชี้ขัด รธน. อัดระบบ ส.ว.สืบทอดอำนาจคือเพื่อนช่วยเพื่อน
วันนี้ (2 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การใช้อำนาจของวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการประชุมลับเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 2561 เนื่องจากนายสุชาติ (ขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์) เคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี อันเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามที่กฎหมายบัญญัติ
ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 11 (18) บัญญัติว่ากรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา” ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช
และที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้”
อนึ่ง ในการประชุมลับของวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. 2 คน ได้แก่ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อดีตผู้ตรวจอัยการ และอัยการอาวุโส ได้ 224 คะแนน และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ได้ 219 คะแนน แต่กรณีนายณัฐจักรไม่ขัดต่อลักษณะต้องห้าม ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาตามมาจนเกิดเป็น “วิกฤตวุฒิสภา” ประธานวุฒิสภาควรระงับหรือชะลอการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อนายสุชาติไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติที่สังคมยอมรับได้
ด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 60 (กรธ.) กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 263 ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ทั้งนี้ หากตีความเป็น ส.ส.และ ส.ว.ด้วยก็จะเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ประกอบ 202 (4) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว.หรือข้าราชการการเมืองในระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถเป็นองค์กรอิสระได้
แต่หากตีความมาตรา 263 ว่า สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เฉยๆ ไม่ถือว่าเป็นนั้นก็ไม่เข้าลักษณะต้องห้าม แต่ในความเห็นของตัวเองคิดว่า สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. มีสวัสดิการเงินเดือนเทียบเท่าทุกอย่าง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นข้าราชการการเมืองอีกด้วย จึงถือว่าผู้ที่เคยเป็น สนช.ยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้ และสุดท้ายหากสังคมยังไม่คลายความสงสัยอาจต้องมีการยื่นตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญ
“ถือว่าเป็นเรื่องน่าคิด เพราะรัฐธรรมนูญ 60 เปิดโอกาสให้คนเป็น สนช.สามารถเป็นวุฒิสภาได้ และสุดท้ายก็มี สนช. ได้เป็นวุฒิสภาจำนวนมาก และต่อมามีอดีต สนช.มาลงสมัครองค์กรอิสระ และสุดท้ายมีมติได้รับเลือก ก็เหมือนกับเพื่อนช่วยเพื่อน ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้สุดท้ายอาจไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องน่าวิเคราะห์ต่อไปว่าเหมาะสมหรือไม่” อดีตที่ปรึกษา กรธ.ให้ความเห็น