xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” ชี้ไม่อยากเป็นแบบปี 40 ถึงใช้ พ.ร.ก.ดูแลตราสารหนี้ ดันรุ่นใหม่นำชาติก้าวกระโดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ยัน รบ.ไม่อยากเก็บศพหนี้เสียจากสถาบันการเงินเหมือนปี 40 จำต้องใช้ พ.ร.ก.ดูแลตราสารหนี้เป็นหลังพิง หาก ธปท.ไม่เข้ามา ตลาดเงิน-ทุนอยู่ไม่ได้ โอดเบื่อเต็มทีรับใช้บ้านเมืองมา 10 ปี ต้องสร้างพื้นฐานให้คนรุ่นใหม่ เตรียมพาไทยก้าวกระโดด

วันนี้ (31 พ.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลและสภาฯยังต้องร่วมกันทำงานอีก เพราะโควิดจะยังอยู่ไปอีกนาน ดังนั้น ข้อเสนอของสภาฯเป็นสิ่งที่ดีซึ่งทุกหน่วยงานจะรับไปพิจารณา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาถ้าเราไม่รีบยุติการระบาดของโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์บานปลายจนคุมไม่ได้ จึงมาถึงจุดที่รัฐบาลต้องตัดสินใจให้ทุกคนอยู่บ้าน แน่นอนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะต้องหยุด รัฐบาลรู้ถึงสถานการณ์นี้ดี เมื่อกดถึงจุดต่ำสุดแล้วก็มาพิจารณาถึงการผ่อนคลาย ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือ ระหว่างเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมีบางอย่างที่ต้องคิดล่วงหน้า คือ การหาเงินเยียวยาในช่วงแรก ทั้งการใช้งบประมาณปกติและการกู้ยืม หลักการเยียวยา คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่ควรได้รับการเยียวยา

“แต่ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น ต่อมาเริ่มอาการจากตลาดตราสารที่มีการไถ่ถอน บางกองทุนเริ่มปิดกองทุน ผมผ่านต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อไหร่เศรษฐกิจจริงมีปัญหาปัญหาจะพันไปตลาดเงินทันที เวลานี้ตลาดตราสารใหญ่มาก สมัยปี 2540 รัฐบาลต้องตามไปเก็บศพด้วยการไปซื้อหนี้เสียจากธนาคาร ดังนั้น เวลานี้เราจะไม่ทำอย่างนั้น จึงเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ดูแลตราสารหนี้ อย่าไปคิดว่าจะเป็นการอุ้มเจ้าสัว แต่มาตรการตาม พ.ร.ก.จึงเป็นสิ่งจำเป็นเป็นหลังพิง การเยียวยา 3 เดือนเงินก็หมดแล้วไม่เกิน ก.ค. เงินหมุนเวียนเศรษฐกิจจะมาจากไหน เราอาศัยการส่งออกและปัจจัยภายนอกอย่างเดียวไม่ได้ ทั่วโลกหนักหนาอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไม่มีประเทศไหนไม่เดือดร้อน แต่ประเทศไทยโชคดีที่เราทำให้โครงสร้างของประเทศมีความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องไปหาไอเอ็มเอฟ เพราะมีหนี้ต่อจีดีพีน้อยมาก นายกฯยืนยันต้องมีการผ่อนคลาย แต่ก็ต้องระวังว่าหากระบาดขึ้นมาอีกจะเอาเงินที่ไหนมาดูแล”

นายสมคิดกล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เคยคิดจะเข้ามาแทรกแซง แต่ถ้าครั้งนี้ ธปท.ไม่เข้ามาก็จะทำให้ตลาดเงินตลาดทุนอยู่ไม่ได้ การเอาเงินมาฟื้นฟูนั้นต้องทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะอะไรที่ช่วยประชาชนในท้องถิ่นจะต้องเข้าไปช่วยกัน จะใช้เป็นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทย และเพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง จะให้คนกลางเข้ามากลั่นกรองการใช้เงินโดยรับฟังจากภายนอกด้วย โดยวันที่ 5 มิ.ย.จะเริ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

“การร่วมมือระหว่างสภากับรัฐบาลสำคัญมาก เพราะอีกครึ่งปีนี้จะยังไม่เหมือนเดิมแน่นอน ดังนั้น การใช้เงินต้องมีคุณภาพ ใช้เงินไม่หมดไม่เป็นไร เงินส่วนที่เหลือใช้สำหรับการเยียวยาได้ สถานการณ์โควิดอาจลามถึงปีหน้า ความคิดของเราจึงคิดว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นจะต้องเป็นจุดแข็ง งบประมาณปี 2564 ต้องปรับแนวทางใหม่ต้องสร้างให้คนมีงานทำ คนไทยไม่ชอบนั่งรับเงินเพราะอยากมีงานทำ นอกจากนี้ รัฐบาลยังคิดล่วงหน้าไปด้วยว่าเพื่อพยุงไปให้ได้ ต้องเตรียมความคิดและโครงการ ผมทำงานรับใช้รัฐบาลและบ้านเมืองมา 10 ปีแล้ว เบื่อเต็มที่แล้วอยากสร้างคนใหม่ๆ เข้ามาดูแล แทนคนเก่าคนแก่ที่อายุมากแล้ว ถ้าเราเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้พร้อม เมื่อโควิดผ่านพ้นเราจะก้าวกระโดดทันที และจะมีข้อมูลจำนวนมหาศาล เป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เหตุการณ์ 3 เดือนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ยังมีอีกยาวที่ต้องทำงานด้วยกัน ถ้าจะมาตรวจสอบความโปร่งใสย่อมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อให้เกิดประโยชน์เท่าเทียมกัน” นายสมคิดกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น