ปธ.วิปฝ่ายค้าน ซัดรัฐไม่กำหนดแหล่งกู้ให้ชัด เตือนหมอ-พยาบาลอย่าเป็นเครื่องมือ ชี้ป้องกันโรคสำเร็จ แต่ชาติล้มเพราะพิษ ศก. ฉะช่วย SME ล้มเหลว เอื้อเจ้าสัวล้มบนฟูก หวั่นหนี้สาธารณะพุ่งถึงร้อยละ 70 เชื่อ “บิ๊กตู่” หนีก่อนประเทศล้ม
วันนี้ (31 พ.ค.) นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายสรุปข้อเสนอแนะการอภิปราย ประกอบการลงมติพระราชกำหนด 3 ฉบับ เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 แม้จะเป็นการกู้เงินโดยตรง 1 ล้านล้านบาท และอีก 900,000 ล้านบาท เป็นการสภาพคล่อง แต่ถือเป็นเงินที่ประชาชนต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด จึงเป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะรู้ ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าสัว CP บอกว่าจำเป็นต้องกู้ 3 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ แต่หากกู้มาแล้วเจ๊งก็ไม่ต้องกู้ หรือกู้แค่ 600,000 ล้านบาทเพื่อการเยียวยา นอกนั้นก็ให้เป็นไปตามงบประมาณปกติ แต่หากรัฐบาลยังสับสนไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัด สุดท้ายจะทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับการบินไทย รวมถึงไม่มีความชัดเจนว่าจะกู้จากแหล่งเงินที่ใด หากจะกู้ IMF หรือ World Bank ก็เสี่ยงเกิดการแทรกแซงกำกับประเทศ แต่ก็เป็นไปได้ยากที่จะสามารถกู้ได้หากระบบตรวจสอบภายในยังเป็นแบบนี้
นายสุทินกล่าวว่า โควิด-19 โจมตีเป็นระยะเวลา 3 เดือน ไม่ใช่เฉพาะแนวรบด้านสุขภาพเท่านั้น แต่กระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมด้วย แต่รัฐบาลประมาทหลงตัวเองว่าควบคุมได้จึงมีความเสี่ยงหากมีการระบาดรอบที่ 2 พร้อมเทียบหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และยังไม่มีการกู้เงิน พร้อมวิเคราะห์สาเหตุที่หลายประเทศแถบอาเซียนสามารถควบคุมการระบาดได้ดี เพราะภูมิอากาศร้อน ควบคุมการระบาดได้ง่าย แต่ก็ต้องรับมือหากระบาดอีกในหน้าหนาวจะเอาอยู่หรือไม่ พร้อมเตือนถึงหมอและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งทำงานได้ดีแล้ว แต่อย่าตกไปเป็นเครื่องมือของรัฐบาล
นายสุทินยังกล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเปรียบประเทศเหมือนคนป่วยโรคเบาหวาน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นหมอรักษา ให้ยาโดยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดเมืองจนได้ผลน้ำตาลลดลง แต่กลับเกิดผลข้างเคียงที่ไต คือระบบเศรษฐกิจพังทั้งประเทศ ขณะนี้ถูกต้องแล้วที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเยียวยาให้คนรอดตายก่อน แต่ก็เกิดปัญหาเยียวยามาครอบคลุม ไม่ทันเวลา ล้มเหลว การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ายังไม่สามารถทำให้ดีได้ ขณะเดียวกันไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ส่วนหนี้สาธารณะวันที่นายกรัฐมนตรีเข้าสู่ตำแหน่งอยู่ที่ร้อยละ 36 แต่ปี 2564 หนี้สาธารณะจะถึงร้อยละ 57 ของ GDP เป็นการกู้เงินจนเต็มโควตา ไม่เหลือให้รัฐบาลต่อไป ขณะที่กลุ่มเจ้าสัวก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวเอาเงินไปฝากธนาคารไว้ถึง 800,000 ล้านบาทแล้ว
นายสุทินอภิปรายถึงการตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ว่านายกรัฐมนตรียังใช้วิธีคิดแบบเดิม ส่วนใหญ่เป็นการอบรมสัมมนาภาคการเกษตร จึงขอให้นำงบประมาณไปพัฒนาแห่งน้ำ สร้างการตลาดให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้ถูกทิศคิดให้ถูกทาง ถ้าใช้เกษตรอัจฉริยะก็แค่ครอบคลุมไม่กี่กลุ่ม กล้าหรือไม่ ที่จะใช้งบ 7 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะไม่เชื่อว่าการอบรมจะทำให้ภาคการเกษตรแข็งแกร่งจริง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว เมื่อประชาชนไม่มีเงิน ก็ไม่มีอารมณ์ไปเที่ยว เกิดเป็นปัญหา สุดท้ายงบประมาณส่วนนี้ก็จะล้มเหลวอีก ขณะที่งบฟื้นฟูด้านสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ก็เชื่อว่าจะทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการแพทย์ได้
สำหรับการช่วยเหลือ SME นายสุทินกล่าวว่า มาตรการทำให้ช่วยเหลือรายใหญ่เยอะ รายเล็กตกไปเยอะ และมีข่าวว่ากลุ่มทุนจีนสามารถเข้าถึงได้ด้วย ยิ่งถ้าประเทศไทยเข้าสู่การเป็น CPTPP อีก ยิ่งตายสนิท เพราะจะไม่เหลือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจไว้เลย ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่มีสิทธิ์เอามาปลูกใหม่ รัฐวิสาหกิจในประเทศเปิดช่องให้ต่างชาติมาถือหุ้นได้ โดยกลุ่ม SME แห่มาหาตนเองที่พรรคเพื่อไทย มาปรับทุกข์ขอให้ออกกฎหมายตั้งสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะองค์กรไม่แข็งแรงไม่มีอำนาจต่อรอง รวมตัวกันไม่ติด จึงมีการเสนอต่อสภาแล้ว เป็นเรื่องที่รออยู่ในวาระ
สำหรับการออก พ.ร.ก.ซื้อหุ้นกู้จากภาคเอกชน นายสุทินอภิปรายว่า การใช้สภาพคล่องของธนาคารแห่งประเทศไทย สุดท้ายก็มาเป็นภาระหนี้ของประเทศ ซึ่งในประวัติศาสตร์ แบงค์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เคยสร้างเคยมีการตั้งกองทุนไปซื้อหนี้เสียจากบริษัทเอกชนโดย รปส. จนต้องขายหนี้เสียราคาต่ำในที่สุดประเทศ เป็นหนี้ 8 แสนล้านบาทจนวันนี้ แล้ววันนี้จะไปซื้อหุ้นกู้เอกชน ถามว่ามีเหตุผลหรือไม่ ซึ่งมีเหตุผลว่าตลาดทุนพวกนี้มูลค่า 3.8 ล้านล้านบาท แต่มองว่าหลายบริษัทใหญ่ๆ สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่จน มีสินทรัพย์เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ รายงานสํานักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่ามีทุนใหญ่ของไทยระดมเงินฝากร่วม 800,000 ล้านบาท แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็กล่าวว่าตนเองไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ ไม่ทันเขา และกำลังจะสร้างตำนานล้มบนฟูกอีกรอบ แกล้งจน แกล้งไม่มีใช้ แกล้งล้มละลาย แล้วให้คนอื่นไปใช้หนี้แทน แล้วตัวเองก็หอบทรัพย์ออกไป จึงมองว่าแบงค์ชาติต้องสร้างความเชื่อมั่น ไม่จำเป็นอย่าลงไปทำเอง
นายสุทินกล่าวว่า การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อยู่ที่เป้าหมายของรัฐบาล หากอยากให้วงล้อทางเศรษฐกิจหมุน ก็สามารถทำได้โดยการลงเม็ดเงินในระบบ แต่ถ้าวงล้อเศรษฐกิจไม่หมุน ทุกอย่างจะตีกลับ กลายเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นทันที หนี้สาธารณะอาจสูงถึงร้อยละ 70 ของ GDP พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัจจัยโลกเปลี่ยนไป เป็นเศรษฐกิจแบบชาตินิยม ตราบใดที่ยังไม่ปฏิรูปประเทศ ก็ยังมีเรื่องให้ต้องบ่นกันอยู่ การปฏิรูปที่สำคัญคือระบบราชการและจะลองรับ New Normal ได้อย่างไร ถ้าปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ สุดท้ายจะเป็นการใช้ชาวบ้านคนจนเป็นที่ผ่านเงินเท่านั้น จึงมองว่ารัฐบาลต้องการแค่รอบหมุนทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นอะไรที่ใจร้ายมาก เพราะเงินกู้นี้สุดท้ายจะไม่ฟูและเป็นหนี้ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะหนีก่อนที่จะเศรษฐกิจจะล้มต่อหน้า และให้คนอื่นมาอุ้มศพต่อ ประเทศต้องรับกรรมรับผิดชอบ ชาวบ้าน 70 ล้านกว่าคนต้องมาใช้หนี้ มาตรการทุกอย่างจะรีดเงินถึงชาวบ้านหมด
สำหรับการตรวจสอบ นายสุทินกล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้มีปัญหา โดยคณะกรรมการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการปฏิบัติจัดซื้อจัดจ้าง ไปแก้ระเบียบปกติ ว่าไม่ต้องทำการจัดซื้อจัดจ้างระบบ E-Bidding ไปตลอดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเหมือนการเปิดทางให้มีการทุจริต จึงควรให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาตรวจสอบ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังเงียบ มีเพียงเงื่อนไขให้รายงานต่อสภาฯ ปีละครั้งเท่านั้น พร้อมตั้งข้อสังเกตปัญหาการใช้กองทุนประกันสังคม ที่ประชาชนฝากไว้ แต่ยังไม่สามรถนำเงินออกมาใช้ได้