xs
xsm
sm
md
lg

“พี่เต้” ห่วง รบ.ซื้อหุ้นกู้ เสี่ยงหนี้เสีย แนะแก้กฎเกณฑ์ขายหุ้นกู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ (ภาพจากแฟ้ม)
“มงคลกิตติ์” ห่วงรัฐบาลซื้อหุ้นกู้ เสี่ยงหนี้เสีย แนะแก้กฎเกณฑ์ขายหุ้นกู้ ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ป้องกันซ้ำรอยขายทรัพย์ ปรส. อวยรัฐบาลประยุทธ์ ก่อหนี้สาธารณะน้อยกว่ารัฐบาล “อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์”

วันนี้ (30 พ.ค.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายพระราชกำหนด 3 ฉบับ เกี่ยวกับการแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ว่า ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์ได้ดีระดับต้นๆ ของโลก แต่จะต้องแลกมาด้วยเสรีภาพและผลกระทบทางธุรกิจ หยุดทำงาน อยู่เชื้อเพื่อชาติ ทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างมหาศาล ปิดรับนักท่องเที่ยวทั่วโลกกว่า 4 เดือน ทำให้รายได้ลดไป 1.1 ล้านล้านบาท จึงทำให้ต้องเสนอพระราชกำหนด 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท

นายมงคลกิตติ์ กล่าวถึงการบริหารหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ บริหารรัฐบาล 2 ปี 8 เดือน มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 809,048 ล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่ม 303,393 ล้านบาทต่อปี เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.32 ต่อ GDP, รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศ 2 ปี 10 เดือน หนี้สาธารณะเพิ่ม 1.252 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่ม 442,101 ล้านบาทต่อปี เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.42 ต่อ GDP, ส่วนรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศ 6 ปี หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 1.48 6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยหนี้เพิ่ม 247,686 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น เป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 ต่อ GDP เท่านั้น บริหารหนี้ได้น้อยกว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ 1.78 เท่า น้อยกว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 1.22 เท่า

ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจประเทศไทย ปี 2563 นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์เศรษฐกิจจะติดลบร้อยละ 5.3 ของ GDP, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์ติดลบร้อยละ 6.7, กลุ่มธนาคารเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ติดลบร้อยละ 6.8 โดยสรุปจะมีเงินหายไปจากระบบประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

นายมงคลกิตติ์ อภิปรายถึง พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ซื้อหุ้นกู้เอกชน วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้หุ้นกู้เอกชนทั้งระบบมีทั้งหมด 3.6 ล้านล้านบาท เท่ากับว่า มีงบประมาณเข้าไปรองรับร้อยละ 11 ของหุ้นกู้ทั้งหมด จึงต้องพิจารณาว่าหุ้นกู้ที่จะเข้าไปรับรองรับมีคุณภาพดีมากน้อยแค่ไหน

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า โดยปกติการปล่อยหุ้นกู้จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีเพียงหนังสือการยืนยันปล่อยซื้อหุ้นกู้ และการกำหนดเรตติ้งหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน แต่มาตรา 11 ของพระราชกำหนดให้มีหลักประกันแก่ผู้ถือตราสารหนี้ ตราสารหนี้ที่กองทุนซื้อจะต้องได้รับหลักประกันไม่ด้อยกว่า หลักประกันที่ผู้ออกตราสารหนี้ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่นในคราวเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา มีเอกชนขายหุ้นกู้ เพื่อไปใช้หนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยเครือ CP ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ขายหุ้นกู้ไป 440,562 ล้านบาท เครือ TCC Group ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขายหุ้นกู้ไป 329,662 ล้านบาท รวมทั้ง 2 ราย ถือเป็นหุ้นกู้กว่าร้อยละ 20 ของทั้งหมด ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีแค่เรตติ้งเท่านั้น เช่นเดียวกับ บริษัท การบินไทย มีหุ้นกู้หมื่นล้าน ระดับ A+ แต่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, ปูนซิเมนต์ไทย มีหุ้นกู้ 5 หมื่นล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, บริษัท แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ มีหุ้นกู้ 14,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้หมดอายุ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับการซื้อหุ้นกู้ของเอกชน ออกเงื่อนไขให้มีหลักเกณฑ์ในการค้ำประกันร้อยละ 30-50 เพื่อกันพลาด ไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย

นายมงคลกิตติ์ ยังเปรียบเทียบปี 2541-2542 มีการขายทรัพย์สินขององค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ต่ำกว่าราคาจาก 810,000 ล้านบาท ต้องขายไปในราคา 190,000 ล้านบาท ขาดทุน 62,000 ล้านบาททันที จึงอย่าลืมว่านี่เป็นของแผ่นดิน ซึ่งนี่ของปี 2540 ยังมีค้างอยู่ 748,000 ล้านบาท จึงอยากฝากให้รัฐบาลควบคุมติดตามการดูแลของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยว่าการซื้อหุ้นกู้จะพลาดไม่ได้ หากพลาดติดคุก


กำลังโหลดความคิดเห็น