xs
xsm
sm
md
lg

“ก้าวไกล” อัดรัฐไร้เป้าหมาย พ.ร.ก.กู้เงิน ไม่ให้เกียรติ ปชช.ชี้ควรปรับเข้าสถานการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (แฟ้มภาพ)
“ศิริกัญญา” ฉะรัฐบาลไม่มีเป้าหมาย พ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูประเทศ ไม่ให้เกียรติ ปชช. เจ้าของเงิน เห็นด้วยต้องกู้เงินเพิ่ม แต่ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ไม่ใช่บริหารงานแบบเก่า

วันนี้ (29 พ.ค.) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายพระราชกำหนดกู้เงิน 3 ฉบับ จำนวนเงิน 1.9 ล้านล้าน ได้แก่ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019, พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเธออภิปรายเฉพาะส่วนของแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีใจความว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นวิกฤตรากหญ้า เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปีก่อนหน้า รายได้เกษตรลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งยังเจอกับพิษโควิดซ้ำซ้อนลงไปอีก รายได้ของคนไทยลดลงอย่างถ้วนหน้า ซึ่งหลังโควิดจะมีอัตราการว่างงานอีกถึง 7 ล้านคน เมื่อรายได้ลดแต่ค่าใช้จ่ายยังคงอยู่ หนี้ครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้น ทั่งหนี้ในระบบและนอกระบบ และกิจการรายย่อยที่จะล้มตายอีก 26% ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษโควิดโดยกันถ้วนหน้าในหลายประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการรับมือ หลายประเทศหันกลับไปใช้วิธีการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง หลายประเทศห้ามส่งออกอาหารเพื่อให้คนในประเทศได้มีอาหารกิน ประเทศจีนดึงการลงทุนในต่างประเทศกลับมาลงทุนในประเทศ ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับประเทศตัวเองและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเห็นแนวโน้มว่าทุกประเทศจะมีรัฐบาลขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุ้มบริษัทขนาดใหญ่ ขณะเดียวกัน ตนมองว่านี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะพลิกฟื้นประเทศไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่ห้ามปล่อยให้โอกาสในช่วงเวลานี้หลุดลอยไป แต่เมื่อตนได้ฟังเลขาสภาพัฒน์ แถลง ทำให้ตนฝันสลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าแผนที่วางไว้สามารถรองรับให้คนมีงานทำได้ประมาณ 2 ล้านอัตรา แต่ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน เนื่องจากแผนนี้ยังคงเป็นแบบเดิมตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนวิกฤตโควิดได้ แล้วจะเอาอะไรมาการันตีว่าจะใช้เงินสี่แสนล้านบาทมาพัฒนาเศรษฐกิจได้ และถ้าเป็นเพราะแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตนขอแนะนำว่า ให้ฉีกแผนทิ้งไปได้เลย เพราะว่าแผนนี้คงจะอยู่ไม่ถึง 20 ปี หากไม่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ การประเมินโครงการเงินกู้ในรอบ 3 ปี ที่ตนไปตรวจสอบดูก็เป็นการประเมินแบบหยาบๆ และไม่มีการถอดบทเรียน ทั้งที่รัฐมนตรีหลายท่านอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน ยกตัวอย่างว่าในบอร์ดบริษัท ถ้าจะกู้เงินหลายล้านบาท CEO ก็ต้องทำการบ้านอย่างมาก แต่ใน พ.ร.ก. กู้เงินครั้งนี้ไม่มีรายละเอียดให้พิจารณา เหมือนคิดไปทำไป เหมือนไม่ให้เกียรติประชาชนที่เป็นเจ้าของเงิน และไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าไม่มีเป้าหมายขั้นแรก อย่างไรก็ตาม วันนี้เรายังพอมีเวลาแก้ไขโดยดูแบบอย่างจากในอดีต เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 โครงการไทยเข้มแข็ง สมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการวางแผนโครงการไว้เหมือน พ.ร.ก. ตอนนี้ แต่สิ่งที่ต่าง คือ มีการวางเป้าหมายชัดเจนว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไร และจีดีพีเพิ่มขึ้นเท่าไร และยังมีดัชนีชี้วัดอีก 7 ด้าน แม้สุดท้ายแล้วการประเมินผลในปี 2554 และผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งทำให้เห็นว่าแม้มีเป้าหมายชัดเจนยังพลาดเป้าได้ แล้วตอนนี้ไม่มีเป้าหมายที่กำหนด แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

นางสาวศิริกัญญา ชี้เห็นว่า เงิน 1 ล้านล้านบาท หรือ 6% ของจีดีพี ไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่มีการจ่ายเงินมากกว่าไทย เช่น ญี่ปุ่นใช้เงิน 21% ของจีดีพี และตนเชื่อว่า ปีหน้าก็จะมีหนี้สาธารณะเกินเพดานแน่นอน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เกิน แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถจ่ายหนี้คืนได้หรือไม่ ยกตัวอย่างประเทศกรีซ เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นในปี 2556 ทั้งที่ญี่ปุ่นมีหนี้สูงถึง 224% กรีซ 199% แต่สัดส่วนในการชำระดอกเบี้ยต่างกัน ญี่ปุ่น 11% และกรีซ 33% ไม่มีเงินมาใช้จ่ายในด้านต่างๆ ตนจึงเห็นต่างกับฝ่ายค้านด้วยกันว่าหากมีความจำเป็นต้องกู้ก็ควรกู้มากกว่านี้ เพื่อให้คุ้มค่ากับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและทำให้ได้จริง

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า รัฐบาลต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ตอนนี้ คือ มาตรการทางภาษี เช่น การคือ VAT, มาตรการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น แก้กฎหมายที่จำเป็น และทบทวนข้อตกลงการเข้าร่วม CPTPP และข้อเสนอของพรรคก้าวไกล คือ การเตรียมความพร้อมสาธารณสุขสำหรับการรับมือการระบาดในรอบใหม่ เพื่อให้ปิดเมืองสั้นลง รวมทั้งเยียวยาประชาชน โดยใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท แล้วการฟื้นฟูประเทศหากยังคิดไม่จบให้กลับไปคิดมาใหม่แล้วยื่นกลับมาเป็นพระราชบัญญัติการฟื้นฟูประเทศควบคู่ไปกับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ใหม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. จะมีความรอบคอบรัดกุมมากกว่า มีการตรวจสอบ และยึดโยงกับประชาชน ที่สำคัญคือมีการเรียนรู้บทเรียนที่ผิดพลาดในอดีต


กำลังโหลดความคิดเห็น