xs
xsm
sm
md
lg

“สาทิตย์” เสนอตั้งตัวแทนภาค ปชช.ตรวจสอบคอร์รัปชัน ร่วมเป็น คกก.กลั่นกรองการใช้เงินกู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สาทิตย์” เสนอตั้งตัวแทนภาค ปชช.ตรวจสอบคอร์รัปชัน ร่วมเป็น คกก.กลั่นกรองการใช้เงินกู้ เตือนระวังโครงการเดิมปัดฝุ่นใหม่-โครงการฮั้วประมูลผู้รับเหมา เสนอตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้เงินควบคู่

วันนี้ (29 พ.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายการออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ว่า โจทย์และปัญหาของประเทศเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ดำเนินการผ่านมา 2 เดือนและสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปจะเป็นบรรทัดฐานการทำงานในอนาคตด้วย ย้อนดูประวัติศาสตร์ระยะ 30 ปีที่ผ่านมา วิกฤตที่ต้องกู้เงิน 2 ครั้งสำคัญ คือ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2551 ถึง 2552 ทั้ง 2 ครั้งเป็นวิกฤตภาคการเงิน ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและองค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง แต่ผลกระทบไม่ได้เกิดโดยตรงต่อประชาชนหรือภาคเกษตรกร แต่วิกฤตครั้งนี้เปลี่ยนโจทก์เป็นวิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้นฉับพลัน ทันที รุนแรง รัฐบาลก็ต้องตัดสินใจบริหารประเทศในสภาวะวิกฤต

นายสาทิตย์กล่าวว่า มาตรการที่รัฐบาลใช้ระยะต้นเป็นเรื่องจำเป็นและทำถูกต้องแล้ว ทั้งการล็อกดาวน์พื้นที่ การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดมาตรการให้สัมพันธ์กับพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ผลกระทบกิจกรรมเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดลงโดยสิ้นเชิง ส่งผลกระทบต่อคนจน ไม่สามารถเดินทางข้ามเขตพื้นที่เพื่อไปทำงานได้ และเมื่อเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ถึงเวลาที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณทั้งหลายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยใช้ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อดำเนินการวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วน พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ แม้จะเป็นเรื่องการใช้สภาพคล่อง ไม่ใช่เงินกู้ แต่ก็เกี่ยวพันกับเงินของรัฐด้วย ตามที่ระบุไว้ว่าหากเกิดความเสียหาย กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้ชดใช้

นายสาทิตย์ตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ต้องให้เกิดผลทันที โดยมีโครงการเป็นตัวชี้วัด แม้จะมีการกำหนดกรอบแผนงานในบัญชีแนบท้ายไว้ 4 ด้าน แต่ไม่มีการเขียนแยกแยะวงเงินแผนงานแต่ละด้านเอาไว้สะท้อนว่าไม่มีการคิดหรือเตรียมการหรือไม่ และเมื่อไม่มีตัวกรอบโครงการ ก็มีแนวทางปฏิบัติให้แต่ละจังหวัดเสนอโครงการมาภายในเดือนมิถุนายน จึงขอตั้งข้อสังเกตไว้ 3 ข้อ คือ 1. โครงการต้องระวังไม่ให้เป็นโครงการที่ฮั๊วกับผู้รับเหมาหรือโครงการเก่ามาปักฝุ่นเขียนใหม่ให้เข้าเงื่อนไข ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับงบประมาณฟื้นฟูที่จะได้ราวจังหวัดละ 5,000 ล้านบาท

2. ควรจะมีสัดส่วนภาคประชาสังคมที่ที่ทำงานติดตามปราบปรามการทุจริต มาอยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ ตามที่นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอประเด็นนี้ไว้ และ 3. ควรเปิดเผยข้อมูลแต่ละโครงการที่มีการเสนอมา อย่างยุคไทยเข้มแข็งสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการทำเว็บไซต์ไทยเข้มแข็ง มีการแจกแจงโครงการที่อนุมัติ ขั้นตอนการประมูลเสนอราคา และสถานะของโครงการ รัฐบาลชุดนี้อาจจะต้องทำเว็บไซต์เผยแพร่ว่า แต่ละจังหวัดเสนอโครงการอะไรมาบ้าง อนุมัติโครงการใดบ้าง แต่ละโครงการที่มีการประมูลรับเหมาสถานะเป็นอย่างไร ให้ประชาชนสามารถติดตามได้ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สำคัญ เป็นการบ่งบอกว่าเงินจำนวนนี้ได้ผลต่อเมื่อใช้ได้ทันทีและโปร่งใส

ดังนั้น เพื่อความโปร่งใสมากขึ้น ควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามการใช้จ่ายเงิน ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอีกทางหนึ่ง เพื่อรับประกันว่าโครงการทั้งหลายจะเกิดผลในทางการสร้างรายได้ และแก้ปัญหาที่เกิดจากผลกระทบโควิด-19 อย่างแท้จริง เพราะ พ.ร.ก.กำหนดเพียงว่าให้รายงานภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ นั่นหมายความว่าจะติดตามได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่ถ้าตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ สามารถทำงานตรวจสอบสอดคล้องไปพร้อมกับคณะกรรมการกลั่นกรองได้ทันที

“คิดว่าฝ่ายรัฐบาลด้วยกันน่าจะเห็นประโยชน์ตรงกัน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลกระทบกับเงิน 400,000 ล้านบาท ได้ใช้เงินแต่ไม่เกิดประโยชน์ จึงคิดว่า พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ เกี่ยวพันถึงชีวิตคนทั้งหมด เกี่ยวพันถึงหนี้สินที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นการพิจารณาต้องรอบคอบ จึงต้องติดตามดูการใช้จ่ายเงินทั้งหลายที่เกิดขึ้น ขอให้สมาชิกสนับสนุนแนวทางติดตามตรวจสอบการใช้เงินในโครงการของบประมาณที่เกิดจากเงินกู้เหล่านี้” นายสาทิตย์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น