xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจ-หุ้นปีหน้าอาการหนัก / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บริษัทโบรกเกอร์หลายแห่งได้ปรับประมาณการเป้าหมายดัชนีหุ้นปลายปีนี้ ซึ่งมีทั้งโบรกเกอร์ที่มองโลกในแง่ดีและมองโลกในแง่ร้าย ทำให้ มุมมองตัวเลขดัชนีหุ้นปลายปีมีความแตกต่างกัน

โบรกเกอร์ที่มองตลาดหุ้นในแง่ร้าย คาดหมายว่า ดัชนีหุ้นปลายปีจะอยู่ที่ประมาณ 1,650 จุด ขณะที่โบรกเกอร์ฝ่ายที่มองตลาดหุ้นด้านบวก ประเมินว่า ดัชนีหุ้นจะพุ่งขึ้นไปที่ระดับ 1,750 จุด

แต่ถ้าประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มุมมองจากโบรกเกอร์ที่มองโลกในแง่ร้ายอาจเป็นมุมมองที่ใกล้เคียงกับความจริง เพราะเป็นไปได้ว่า สิ้นปีดัชนีหุ้นจะไปได้ไกลเพียง 1,650 จุด เท่านั้น

เพราะแนวโน้มการลงทุนช่วงโค้งสุดท้ายของปีคงไม่สดใสนัก เนื่องจากปัจจัยลบ ข่าวร้ายมากมายกระหน่ำเข้ามา

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพิ่งประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP ของไทย และส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งโดยตรง

ตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นถูกครอบงำด้วยความหวั่นไหว ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จนดัชนีหุ้นเกิดความผันผวน

นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุน เพราะเห็นว่า ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งจากปัจจัยภายนอก และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ตกต่ำสุดขีด

ประมาณการเป้าหมายดัชนีหุ้นถูกปรับลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี

การประกาศงบการเงินไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จุดชนวนการเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารอีกระลอก

เพราะตัวเลขผลประกอบการกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่หลายด้านสร้างความกังวลให้นักลงทุน ทั้งตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายการ หรือเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยอดการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลง รวมทั้งกำไรที่ลดลง

งบการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่รายงานออกมาในไตรมาสที่ 3 ตอกย้ำความกังวลของนักลงทุน เพราะธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งผลกำไรลดลง ขณะที่ตัวเลขเอ็นพีแอลหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้พุ่งขึ้น

การที่รัฐบาลประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ จาก 2% เหลือเพียง 0.01% เพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลประเมินแล้วว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังทรุดหนัก และถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้น

ปีหน้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจเป็นชนวนวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยเกิดปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ และลุกลามไปสู่ปัญหาเอ็นพีแอลของธนาคาร

ธนาคารพาณิชย์มีความเปราะบางในปัญหาหนี้เสีย โดยหนี้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มจะมีเกิดปัญหามากขึ้น เช่นเดียวกับหนี้เอสเอ็มอี หรือแม้แต่หนี้ภาคธุรกิจ ทำให้ต้องควบคุมการปล่อยสินเชื่ออย่างเข้มงวด จนบริษัทขนาดใหญ่ต้องแห่ไปออกหุ้นกู้ ระดมทุนจากประชาชนแทน

จนมีเสียงเตือนให้ประชาชนระวังการลงทุนในหุ้นกู้ เพราะมีแนวโน้มว่าหุ้นกู้จะเกิดปัญหาการชำระหนี้

ความกังวลในผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทรุดหนัก ทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยง โดยทยอยขายหุ้นออกจนดัชนีหุ้นซึมลง จนหลุดระดับ 1,600 จุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

แม้ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงมาลึกมาก แต่อาจยังไม่ใช่เลวร้ายที่สุด เพราะประเมินกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะเลวร้ายกว่าปีนี้

ปัญหาที่หมกสุมในปีนี้อาจถึงจุดระเบิดในปีหน้า ไม่ว่า ปัญหาความตกต่ำของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน

ดัชนีหุ้นที่หลุด 1,600 จุด จึงอาจยังไม่ใช่จุดต่ำสุดในรอบนี้ เพราะ ปีหน้ามีโอกาสได้เห็นจุดต่ำสุดใหม่ที่เลวร้ายกว่าปีนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น