ส.ส.กทม.ก้าวไกล อภิปรายงบเยียวยา ถามรัฐใช้ AI ทำจริงหรือ ซัดคลังล่าช้า ผิดพลาด ไร้วิสัยทัศน์ อ้างคนฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจไปกว่า 20 ศพ สับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้ความมั่นคงทางการเมืองนำสุขภาพและเศรษฐกิจ แนะปรับ ครม.เน้นคลัง
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 รวม 3 ฉบับ เป็นวันที่ 2 นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการนำวงเงิน 5.5 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนำมาเยียวยาประชาชนว่า ตนยอมรับว่ารัฐบาลจัดการได้ดีในจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เป็นจำนวนน้อย แต่ถ้าถามถึงชัยชนะต่อสถานการณ์ตนไม่อาจตอบได้
โดยนายจิรวัฒน์อภิปรายถึงปัญหาการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาว่า รัฐเคยประกาศว่าใช้ระบบ AI ในการคัดกรอง แต่ประชาชนต้องพบเจอการปฏิเสธสิทธิอย่างผิดพลาด ประชาชนมากมายไม่อาจเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ต้องเดือดร้อนไปจ้างวานผู้อื่นให้ลงทะเบียนแทน ทั้งที่สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทำได้คือส่วนราชการต้องให้บริการประชาชน ตนจึงมีคำถามว่า AI ที่ว่านั้นมีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการโฆษณาว่าเป็นรัฐบาลดิจิทัล 4.0 ในขณะที่ผู้ทำระบบเองออกมาเปิดเผยว่า ยังต้องอาศัยแรงงานกรอกข้อมูล หมายความว่าสุดท้ายรัฐต้องนำข้อมูลกว่า 28 ล้านข้อมูลนั้นไปให้ข้าราชการตรวจสอบอยู่ดี ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่ใช้ฐานข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้วซึ่งจะทำให้ขั้นตอนงานรวดเร็วโดยอาจใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น สรุปได้เลยว่าการดำเนินงานของกระทรวงการคลังล่าช้า ผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพ
นายจิรวัฒน์กล่าวว่า การทำงานที่ไม่รัดกุมในการเยียวยา ยังส่งผลให้เห็นเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบาย จนต้องมีมติ ครม.ถึง 4 ครั้ง ขยายผู้ได้รับการเยียวยาเรื่อยๆ จาก 3-9-14 และ 16 ล้าน แสดงให้เห็นถึงความไม่มีวิสัยทัศน์ และยังจ่ายเงินเยียวยาที่ล่าช้า แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานและยังมีการหยุดชะงักในวันหยุดราชการ จะอ้างว่าโอนเงินไม่สะดวกระบบธนาคารปิดก็ไม่อาจอ้างได้ เพราะพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นให้อำนาจเต็ม ในขณะที่ผู้ปฏิบัติราชการมากมายกลับเอาอำนาจจาก พ.ร.ก.นี้มาใช้หาประโยชน์จากประชาชน
“แม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อ 6 พ.ค. เพิ่มเงินผู้พิการจาก 800 เป็น 1,000 บาท 2 ล้านคน แต่จะจ่ายเดือนตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตาม 26 พ.ค. ครม.เพิ่งมีมติเยียวยากลุ่มผู้เปราะบาง ประกอบด้วยเด็ก 0-6 ปี 1.4 ล้านคน ผู้สูงอายุ 9 ล้านคน ผู้พิการ 2 ล้านคน แต่ทั้งหมดนั้นก็ช้าไปและไม่ทั่วถึง คิดเพียงจำนวนเด็กอย่างเดียวก็เกินที่รัฐระบุตัวเลขจะเยียวยาแล้ว แสดงว่าแม้ในเด็กก็ยังต้องมีการพิสูจน์ความจน ซึ่งถ้าเป็นพรรคก้าวไกลขอเสนอว่าเด็กอายุ 0-18 ปี ให้จ่ายเยียวยารายละ 3,000 บาท/3 เดือน ถ้วนหน้า” นายจิรวัฒน์กล่าว
นายจิรวัฒน์กล่าวต่อว่า โดยอ้างว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากผลกระทบสถานการณ์เศรษฐกิจบีบคั้นจนตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองไปแล้วไม่น้อยกว่า 20 คน พอหรือยังกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บอกว่าสุขภาพนำเสรีภาพนั้น ที่จริงตนคิดว่ามันคือ ความมั่นคงทางการเมืองนำสุขภาพและเศรษฐกิจมากกว่า หากรัฐอยากให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น ตนแนะให้ปรับ ครม. กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะถ้าอยากให้ดีที่สุดต้องปรับให้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชนบนกติกาที่ถูกต้องและบริหารงานเป็น และเงินเยียวยาเหล่านี้คือเงินของประชาชน ไม่มีความจำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณรัฐบาล เพราะมันคือหนี้ของทุกคนที่จะต้องชดใช้กันไปรุ่นสู่รุ่น