ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ซูเปอร์โพลตัวช่วยบอก "ลุงตู่" น่าจะมีแนวทางออกคำตอบให้พวก "วอนนาบี" แย่งขามข้าวชิงเก้าอี้รัฐมนตรีได้?
ว่าด้วย "ซูเปอร์โพล" ล่าสุด ซึ่งสำรวจระหว่าง 18-23 พ.ค.63 ที่ผ่านมาโดย "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา" ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอที่น่าสนใจ คือคำถามที่ถามถึง "มาตรการรัฐบาลช่วงโควิด-19" ที่ประชาชนพอใจ
พบ 5 อันดับแรกได้แก่ "มาตรการแจกเงิน" พอใจสูงถึงร้อยละ 83.5 รองลงมาคือ ลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 80.9 ลดราคาน้ำมัน ร้อยละ 63.1 ลดราคาสินค้า ร้อยละ 34.9 และลดราคาน้ำประปา พอใจร้อยละ 33.9 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อมาตรการต่างๆ เป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่ช่วยเหลือประชาชน หรือเป็นผลงานของ"ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 93.3 ระบุเป็นผลงานของ"ทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ" ที่ช่วยแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน
ในขณะที่เพียง ร้อยละ 6.7 ระบุเป็นผลงานของ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เพียงคนเดียว
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการตัดสินใจของประชาชน ถ้าสมมติว่าประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี จะรักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้ไว้ หรือจะไม่รักษาทีมนี้ไว้ หลังโควิด-19 คลี่คลาย พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 94.8 จะรักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้ไว้ ในขณะที่ร้อยละ 5.2 บอกไม่รักษาทีมคณะรัฐมนตรีนี้
ที่น่าเป็นห่วงคือ "ระดับความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองหลังโควิด-19" พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 74.5 ระบุค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 25.5 ระบุค่อนข้างน้อย ถึงไม่รุนแรงเลย และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.8 ระบุ รัฐบาลไม่สำเร็จเรื่องความสามัคคีปรองดองของคนในชาติเพราะคนในรัฐบาลเองมีแค่ไม่กี่คนยังไม่สามารถสามัคคีปรองดองกันได้เลย "แย่งชามข้าว แย่งน้ำข้าว แย่งตำแหน่งรัฐมนตรี" ช่วงเวลาชาวบ้านกำลังทุกข์ คนในรัฐบาลเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีของความสามัคคีปรองดอง ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความสงบสุขของบ้านเมือง ผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางคนถูกลิ่วล้อยุยง ปลุกปั่น เล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป ไม่ได้รักประชาชนกันจริงๆ แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นต้น
ในขณะที่ ร้อยละ 40.2 ระบุสำเร็จ เพราะรัฐบาลทำงานมาต่อเนื่อง ... สำเร็จแต่เป็นเพราะลักษณะปกติของคนไทยที่มีจิตใจรักสงบ รักสามัคคีกันมากกว่าเป็นผลงานของรัฐบาล และสำเร็จเพราะประชาชนเห็นรัฐบาลมีผลงาน เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ใครเป็นพระเอกละคร ช่วงโควิด-19 คำตอบในละครการเมือง คือ "ไม่มี" เพราะชาวบ้านเขาบอกว่าเป็นผลงานของทีมคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ และประชาชนทั้งประเทศที่ยอมลำบากเดือดร้อน ชาวบ้านนับแสนนับล้าน ทิ้งที่ทำงาน ทิ้งอาชีพ หนีเอาตัวรอด บ้างก็ติดเชื้อตาย บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็อดอยากหิวโหย ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวไม่อาจเลี้ยงดูผู้คนในบ้านได้ เพราะตกงาน ต้อง“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”จนไม่มีจะกิน แต่คนในรัฐบาลบางคนกลับมุ่งใช้ห้วงเวลาแห่งทุกข์ของประชาชนนี้ แย่งชิงตำแหน่งแบ่งพรรค แบ่งพวก ยุยงผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้นั่งวางแผนเล่นเกมการเมือง หัวเราะเฮฮา เมื่อแผนของพรรคพวกของตนเองประสบความสำเร็จบนทุกข์ของประชาชน ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีของความรักความสามัคคีปรองดอง และจะนำพาคนทั้งประเทศอีกกว่า 60 ล้านคน ไปสู่ความสามัคคีปรองดองได้อย่างไร ...
สรุปว่า ผลโพลที่ออกมาได้สะท้อนความรู้สึกของคนในสังคมที่ยอมรับมาตรการแจกเงินเยียวยา 5,000บาท ของรัฐบาลลุงตู่ เป็นผลงานที่น่าพอใจที่สุด ขณะที่กระแสคนในพรรคพลังประชารัฐบางส่วนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีเปลี่ยนแปลงอำนาจในพรรค เพื่อหวังผลกดดันให้ "ลุงตู่" ปรับครม. ถูกมองว่า เป็นเรื่องแก่งแย่งชามข้าว ของกลุ่มคนที่อยากเป็นรัฐมนตรี เพื่อจะได้โอกาสเข้ามาดูแล "เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน" นั้นเป็นความขัดแย้งที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
ที่สำคัญ โพลชี้ว่า คนส่วนใหญ่ยังมองว่า "ลุงตู่" ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับครม. เนื่องเพราะสังคมยังเห็นว่า ครม.ชุดนี้ไปได้
ประโยชน์จากโพลนี้ ส่วนหนึ่งคือ "กระจกเงาส่องรัฐบาล" สะท้อนภาพความปรองดอง ปมขัดแย้ง จากข่าวที่เป็นกระแสมาตลอด
คนที่จะเก็บไปคิดต่อ หรือใช้เป็นแนวทางได้ก็คงหนีไม่พ้น "ลุงตู่" คนที่ต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนครม.
ชัดเจนเสียงของโพล เสียงของประชาชนส่วนนี้ไม่เอาพวก "วอนนาบี" ที่รู้ๆ กันว่ามีใครบ้าง อยากคั่วตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ต้องฟังประชาชนหน่อยล่ะว่า เห็นด้วยแค่ไหน
นี่อาจจะเป็นตัวช่วยให้ "ลุงตู่" มีคำตอบ มีทางออกให้พวกวอนนาบีก็ได้ ใครจะไปรู้ .
**ฤดูฝนตกขี้หมูไหล .."จาตุรนต์" เปรยตามกระแส ตั้งพรรคใหม่ "หมอมิ้ง-หมอเลี้ยบ-ภูมิธรรม" มีโอกาสไหลมารวมกัน
ช่วงนี้กระแสตั้งพรรคใหม่มาแรง มีข่าวออกมารายวันว่าจะนักการเมืองจากพรรครัฐบาลบ้าง ฝ่ายค้านบ้าง คนโน้น คนนี้ กำลังฟอร์มตัวฟอร์มทีมเกาะกลุ่มกัน ตีจากพรรคเดิมหันมาก่อร่างสร้างพรรคกันเอง
ไม่เว้นแม้แต่ "จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย และไทยรักษาชาติ ที่ตอนนี้ไม่มีสังกัด หลัง"ทษช."ถูกยุบพรรคไป ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกระแสข่าวการตั้งพรรคใหม่ว่า... ขอชี้แจงกระแสข่าวที่เกิดขึ้น ในนามส่วนตัวได้ออกจากพรรคเพื่อไทย มาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ ปี 2562 ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อมาอยู่พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ต่อมาพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ แต่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จึงยังทำงานการเมืองต่อได้
หลังจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้กลับไปพรรคเพื่อไทย และได้ใช้เวลาทั้งหมด ในฐานะนักการเมืองที่ไม่มีสังกัดพรรค ในการพูดคุยกับนักการเมือง นักธุรกิจ อดีตข้าราชการรวมถึงคนรุ่นใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาบ้านเมือง ปรับความคิด ซึ่งบางทีก็ใช้ความรู้เหล่านี้ ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเรื่อยมา
จนกระทั่งมีความเห็นร่วมกันว่าจะต้อง "ตั้งพรรคการเมืองใหม่" ขึ้นมาอีก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน
พรรคใหม่ของ"จาตุรนต์" ระบุว่าแนวทางหลักๆ คือประชาธิปไตย พัฒนาบ้านเมือง แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้านต่างๆ อาศัยบุคคลและประสบการณ์ต่างๆ จากในอดีต ประสานกับคนรุ่นใหม่เพื่อนำมาต่อยอดเป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในอนาคต
คำถามมีอยู่ว่า ตามแนวทางที่ว่า ตลอดจนภาพจำในอดีตของ"จาตุรนต์" ที่ยึดโยงอยู่กับ "ทักษิณ ชินวัตร" พรรคใหม่ที่จะตั้งแน่ใจได้อย่างไรจะไม่ใช่ "สาขาของพรรคเพื่อไทย" หรือไม่ใช่ "ทษช.ภาค 2"
ว่ากันว่า"จาตุรนต์" เองก็รู้ตำหนิ "แผลเป็น" ตรงนี้ จึงรีบบอกว่าพรรคการเมืองใหม่ จะเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ใช่พรรคไทยรักษาชาติ 2 ไม่ใช่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้เพื่อไทย อันเนื่องด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ใช่การรวมกันของกลุ่มคนเดือนตุลาฯ ไม่ใช่การรียูเนียน แต่จะเป็นรวมคนที่หลากหลาย
ฟังว่า "ทีมอเวนเจอร์" ที่จะมาร่วมกับ"จาตุรนต์"นั้น แม้ยังไม่ชัดเจน แต่โอกาสมีความเป็นไปได้ที่ "รียูเนียน" กับขาใหญ่พรรค"เพื่อแม้ว" ที่จะทำงานร่วมงานกับ "หมอเลี้ยบ" นพ.สุรพงษ์ สืบวงค์ลี "หมอมิ้ง" นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ "อ้วน" ภูมิธรรม เวชยชัย ที่เป็นมือไม้ให้กับทักษิณมานาน เคยร่วมงานการเมืองด้วยกันมาหลายสิบปี
งานนี้มีเค้ามา จริง-ไม่จริง มีแต่ต้องรอติดตามชมกันต่อไป
อย่างว่า ตอนนี้เข้าฤดูฝน ฝนตกขี้หมูก็ไหล...ประสาคนอะไรจะไม่ให้มารวมกันได้อย่างไร .