เมืองไทย 360 องศา
ก็ต้องบอกว่าเมื่อเริ่มเข้าสู่โหมดการเมืองการเต็มพิกัดอีกรอบหลังจากมีการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ทำให้ต้องทนเวียนหัวกับบรรดานักการเมืองทั้งหลายที่แข่งขันกันเคลื่อนไหวในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เป็นที่สนใจของชาวบ้าน แต่ในเมื่อบอกว่านี่คือการเมืองในแบบรัฐสภา เป็นแบบประชาธิปไตย เป็นเสรีภาพที่ถวิลหาก็ว่ากันไป
หากโฟกัสกันเฉพาะในภาพการเมืองเฉพาะจุด ก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวและภาพสะท้อนบางอย่างออกมาให้เห็นในคราวเดียวกัน และหากพิจารณากลุ่มการเมืองในเวลานี้ ก็ต้องบอกว่าน่าจะแยกออกมาเป็น 2-3 กลุ่มหลัก โดยมีลักษณะเป็น 2 กลุ่มหลัก และมี “กลุ่มที่ 3” หรือพวกที่ 3 ที่ดูเหมือนจะแยกแตกออกมา แต่ก็ยังคงมีลักษณะทับซ้อนกันอยู่
เพราะหากจะแยกออกมาให้เห็นภาพ ก็ต้องโฟกัสไปที่กลุ่ม“เครือข่ายทักษิณ”หรือ กลุ่มของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็รับรู้กันอยู่ว่าขับเคลื่อนผ่านทางพรรคเพื่อไทยและกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงในนามกลุ่ม นปช. โดยในเวลานี้อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ “กลุ่มอำนาจเก่า” ก็อาจจะได้ เพราะสูญเสียการควบคุมอำนาจรัฐให้กับฝ่ายตรงข้ามต่อเนื่องกันมานาน 5-6 ปีแล้ว
ส่วนกลุ่มที่ 2 ก็คือ กลุ่ม “อำนาจใหม่” ที่มองกันในความเป็นจริง ก็คือ กลุ่มที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ในเวลานี้ ซึ่งก็รับรู้กันไปแล้วว่าเป็น “กลุ่ม 3 ป.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นแกนหลัก โดยต่อเนื่องมาจาก “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่เข้าควบคุมอำนาจ หรือรัฐประหารจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็น “นอมินี” ของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา
ที่น่าสนใจก็คือ การเข้ามาสู่อำนาจรัฐของ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คราวนี้ผิดแผกไปจากคณะทหารในชุดที่ผ่านๆ มา นั่นคือ ในรูปแบบของคณะทหารมักจะอยู่ได้ไม่นาน หรือเมื่อมีการเลือกตั้งก็จะต้องพ้นไป ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองในเครือข่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร ก็จะได้กลับมาควบคุมอำนาจรัฐทุกครั้ง
แต่คราวนี้ อย่างที่ทราบกันก็คือทุกอย่างผิดคาด ผิดจากความคาดหมายไปหมด แม้ว่าในการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยอาจจะได้รับเลือกกลับมาได้จำนวน ส.ส.มากที่สุดก็ตาม แต่หากพิจารณาจากจำนวนที่ได้ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่แพ้ชนะกันแบบสูสี ไม่ได้ชนะขาดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
อาจบอกว่าเป็นเพราะความผิดพลาดเสียหายมาตั้งแต่ยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์ย่อย” กับพรรคไทยรักษาชาติ ที่ “เล่นใหญ่เกินตัว” จนพ่ายแพ้ทั้งกระดานก็ว่ากันไป
แต่สำหรับอีกด้านหนึ่งในฝั่งของ “กลุ่ม 3 ป.” นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการเตรียมการรับมือมาอย่างดี หรือที่เรียกว่ามีการสรุปบทเรียนกันทุกทาง มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ดึงเอากลุ่ม ส.ส.มาจากเครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร มาจำนวนมาก รวมไปถึงแกนนำ นปช. ที่ย้ายข้างมาอยู่กับฝั่งนี้ จนทำให้บทบาทด้านมวลชนของอีกฝั่งถดถอยลงไปถนัดใจ ประกอบกับคดีต่างๆ ในชั้นศาลก็งวดเข้ามาเรื่อยๆ มีการตัดสินจำคุกต่อเนื่องกัน
และที่สำคัญ เมื่อต่อเนื่องกันหลังเลือกตั้งที่บรรดาแกนนำระดับแถวหน้าของพรรคเพื่อไทย ถูกกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้ไม่ได้เป็น ส.ส.กันแบบยกชุด ทำให้ยิ่งซ้ำเติมบทบาทในสภาฯ ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนเมื่อครั้งสมัยประชุมที่ผ่านมาแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่ออีกฝ่ายอ่อนด้อยลงไป แน่นอนว่า ก็ย่อมทำให้อีกฝ่ายแข็งแกร่งขึ้น นั่นคือทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่นับวันที่มีบารมีแข็งแกร่งมากกว่าเดิม จากที่เคยเป็นรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ” มาถึงเวลานี้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าพรรคฝ่ายค้านเกินกว่า 40 เสียงเข้าไปแล้ว
มาถึงตรงนี้ก็ต้องเอ่ยถึงอีกกลุ่ม นั่นคือ กลุ่มของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ภายใต้พรรคอนาคตใหม่ พวกเขาถือว่าได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากที่สุด แม้ว่าพวกเขาจะพยายามหาเรื่องโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการก็ตามที เพราะทำให้ได้ ส.ส.จำนวนมาก อีกทั้งต่อยอดมาจากคะแนนที่เทมาจากพรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบไป ก็เหมือน“ถูกหวย”รับไปสองเด้งเต็มๆ
แต่จะด้วย “อ่อนด้อยประสบการณ์” หรือในทางการเมืองเป็นได้แค่ระดับ “นักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย” ทำให้ก้าวพลาดสะดุดขาตัวเองล้มลงทั้งที่ยังไม่ทันได้ออกเดิน ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบ บรรดาผู้บริหารพรรคต้องพ้นจาก ส.ส.และถูกตัดสิทธิการเมืองถึง 10 ปี แน่นอนว่าสำหรับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคูหูร่วมทาง นายปิยบุตร แสงกนกกุล ถือว่าเสียหายอย่างมาก
แม้ว่าเวลานี้ จะตั้ง “กลุ่มก้าวหน้า” เคลื่อนไหวนอกสภาฯ คู่ขนานไปกับพรรคก้าวไกลเครือข่ายในสภาฯ แต่เมื่อพิจารณาจากชื่อชั้น และบารมีทางการเมืองก็ต้องบอกตรงๆว่ายังไม่ถึงขั้น อาจจะได้เห็นจังหวะการเคลื่อนไหวในแบบที่สร้างความปั่นป่วนได้บ้าง แต่นาทีนี้มองในภาพรวมแล้ว ยังไม่มีพลังพอ
เมื่อหันกลับมามองในกลุ่มของเครือข่าย นายทักษิณ ชินวัตร ที่หลังจากห่างไกลจากอำนาจรัฐออกไปทุกที ทุกอย่างมันก็ยิ่งฝ่อลงไปเรื่อยๆ อีกทั้งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมมาก มองไปภายในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ก็เต็มไปด้วยความแตกแยกช่วงชิงการนำระหว่าง กลุ่มของคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ของพรรค กับหัวหน้าพรรคในปัจจุบัน คือ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จนมีข่าวความเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองใหม่ของแกนนำพรรครุ่นเก่าๆ หลายคน
อย่างไรก็ดี ก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า บุคคลในข่าวที่เคลื่อนไหวตั้งพรรคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายภูมิธรรม เวชยชัย นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น แค่เอ่ยชื่อ คิดหรือว่าสังคมยุคใหม่จะเกิดความตื่นเต้น ฮือฮา เนื่องจากยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว ยุคสมัยนี้ถือว่าหมดอายุไปนานแล้ว
หากพิจารณาจากภาพรวมเท่าที่เห็นในเวลานี้และในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าหลายคนอาจจะเริ่มเบื่อ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากอยู่มานานถึง 6 ปีแล้ว แต่เมื่อหันไปมองรอบตัว มันก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่มั่นใจได้ ขณะที่เครือข่ายของนายทักษิณ ชินวัตร เวลานี้ถือว่า “หมดสภาพ” ไม่มีตัวเลือกใหม่ ไร้ทายาทที่จะสืบทอดอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่กลุ่ม “ธนาธร” และคู่หู แม้จะดูแรง แต่เมื่อ“เล่นใหญ่”เกินตัว อีกทั้งจังหวะก็ยังไม่ได้ มันก็ทำได้แต่ก่อกวนสร้างความรำคาญ ยังไม่ถึงขั้น “หักโค่น” ได้เลย
ดังนั้น หากทำความเข้าใจอีกทีก็ต้องบอกว่า สถานการณ์ยังเป็นของ “ลุงตู่” อย่างน้อยก็จนครบวาระ 4 ปีนี้ ส่วนที่เหลือหลังจากนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการจบแบบไหนมากกว่า !!