เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่านาทีนี้ยังไม่รู้ว่าการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ในวันที่ 21 พฤษภาคม ผลจะออกมาแบบไหน จะมีการเสนอให้มีการยกเลิกหรือต่ออายุ พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ไปอีกหรือไม่
พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา และมีการต่ออายุการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ดังนั้น จึงเป็นที่จับตามองว่าจะมีการยกเลิกหรือต่ออายุออกไปอีกหรือไม่
ทั้งนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. เป็นประธานจะมีการประชุมพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวในวันที่ 21 พฤษภาคม เพื่อหารือกันว่าจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไป หรือจะยกเลิก แล้วไปใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อขึ้นมาทดแทนหรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อฟังจากการให้สัมภาษณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ของเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ออกมาให้เห็น โดยกล่าวแต่เพียงว่าการ พิจารณาจะขึ้นอยู่กับข้อมูลและสถานการณ์ทางด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากข้อมูลและตัวเลขทางด้านสาธารณสุขประกอบล่าสุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากการแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และเวลานี้มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอาการในโรงพยาบาลเพียงแค่ 90 รายเท่านั้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนต่ำกว่าหนึ่งร้อยคนเป็นครั้งแรก
อีกทั้งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากข้อมูลก็รับรู้กันว่าตัวเลขผู้ป่วยล้วนอยู่ในระดับเลขหลักหน่วยมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงไม่มีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องกันนานหลายวันแล้ว ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากตัวเลขทางสาธารณสุขดังกล่าว ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าชื่นใจ เพราะทุกอย่างเป็นไปทางบวก ซึ่งตามมาด้วยมาตรการผ่อนปรนระยะที่สอง ที่มีการเปิดห้างสรรพสินค้า ไฟเขียวให้ธุรกิจอีกบางอย่างกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง ก็น่าจะเป็นการอธิบายถึงแนวโน้มที่ดี แม้ว่าจะมีเสียงเตือนอย่างเข้มตามมาว่า “การ์ดอย่าตก” ก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า บรรยากาศผ่อนคลายลงในทุกด้าน
แม้ว่าการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในครั้งนี้ จะไม่ได้แย้มออกมาให้เห็นชัดเจนว่าจะเลิกหรือต่ออายุพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มจากการที่บอกว่าจะพิจารณาจากข้อมูลด้านสาธรณสุขเป็นหลัก ก็ทำให้คาดเดากันว่า น่าจะยกเลิกมากกว่า
แต่อย่างไรก็ดี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการชี้ขาดของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน แต่อย่างน้อยในวงประชุมของสภาความมั่นคงฯ ก็ย่อมเป็นข้อมูลหลักที่จะต้องชงขึ้นไปให้พิจารณาอยู่ดี
เมื่อพิจารณาคาดการณ์กันว่า น่าจะยกเลิกพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินมากกว่าการต่ออายุหลังจากครบกำหนดในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ขณะเดียวกันก็ต้องมาพิจารณาองค์ประกอบ หรือปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการเมืองที่เวลานี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวกดดันให้มีการยกเลิกมากขึ้น โดยอ้างถึงเรื่องการฉวยโอกาสในการ “รวบอำนาจ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงที่กำลังจะมีการเปิดสภาสมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไป รวมไปถึงการที่ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาจากสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดได้ในระดับดี และยังเป็นที่รับรู้ว่าการเป็นสถานการณ์ระดับโลก ก็สามารถสร้างความเข้าใจจากสังคมได้
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบรรยากาศและสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สามารถควบคุมได้อยู่ในวงจำกัดแล้ว ก็มีเหลือแต่เงื่อนไขในทางการเมืองที่จะต้องตัดเกมลงไปให้เร็วที่สุด อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขวัน เวลา เดือน “พฤษภาคม” ที่กลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามพยายามใช้เป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวก็ยังปลุกไม่ขึ้นและกำลังจะผ่านพ้นไป แม้ว่าจะยังเหลือเดือนมิถุนายนที่เกี่ยวข้องกับ “คณะราษฎร” แต่ถือว่าคงไม่ต่างกัน และคงผ่านการรับรู้มานาน หลายสิบปีแล้ว ไม่มีทางปลุกขึ้นมาได้อีก หากเงื่อนไขยังเป็นแบบเดิม
เอาเป็นว่าหากพิจารณาสรุปนาทีนี้ เมื่อครบกำหนดถึงวันที่ 31 พฤษภาคม แนวโน้มน่าจะยกเลิกมากกว่าต่ออายุเพื่อสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามโดยไม่จำเป็น !!