“จรัล ดิษฐาอภิชัย” ประธานผู้ลี้ภัย โวย “ยูเอ็น” ระบบไร้ประสิทธิภาพ หลังร้องเรียน รัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนไทยอย่างรุนแรง ทำให้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บกว่า 2 พัน 10 ปี เรื่องเงียบเฉย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 พ.ค. 63) เฟซบุ๊ก Jaran Ditapichai ของ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุ ว่า
“ในโอกาสครบ 10 ปี กรณีพฤษภาคม 2553 ผมขอรำลึกสดุดีวีรชนประชาธิปไตยทุกท่านที่เสียสละชีวิต บาดเจ็บ และติดคุกจากเหตุการณ์ต่อสู้ดังกล่าว ขอสืบทอดเจตนารมณ์ เดินตามรอยเลือดของท่านเหล่านั้นจนถึงที่สุด
หลังกรณีนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ผมได้ร้องเรียนไปที่คณะมนตรีสิทธิมนุษย์ชน สหประชาชาติ ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนไทยอย่างรุนแรง ด้วยใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บ 2 พันกว่าคน และถูกจับเกือบ 300 คน
ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะมนตรีฯ แจ้งมาเมื่อเดือนกันยายน ว่า ได้รับคำร้องเรียนของผมแล้ว จากนั้น ผมก็รอ และเคยไปตามเรื่องที่เจนีวา ครั้งหนึ่ง สุดท้าย เรื่องเงียบหายไป
สรุประบบสหประชาชาติ ไม่มีประสิทธิภาพ เช่นกัน.”
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 62 นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ร่วมเคลื่อนไหวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความสั้นๆ พร้อมรูปถ่าย ระบุว่า
“พอดีมานิวยอร์ก ไปชื่นชมป้ายเรียกร้องสหประชาชาติที่กำลังเปิดสมัชชาใหญ่ อย่าปล่อยประชาธิปไตยตายในประเทศไทย จากนั้นไปเข้าแถวดู Fhantom of the Opeta”
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนายจรัล เกิดขึ้นในระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly-UNGA) ครั้งที่ 74 ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายน 2562 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ส่วนการร้องเรียน “ยูเอ็น” ในไทย ที่น่าสนใจ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 53 ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก มีคนเสื้อแดงหลายร้อยคนทยอยเดินทางมาชุมนุมด้านหน้าตั้งแต่ช่วงสาย และมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ ยื่นหนังสือถึง นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเจรจาทำงาน (working visit) ตามคำเชิญของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่พบหารือระหว่างการเข้าร่วมงานเปิดนิทรรศการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (ELFI) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับกลุ่มที่ยื่นหนังสือถึงนายบัน คี มุน ผ่านเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและกลุ่มอื่นๆ มีเนื้อหาระบุถึงความผิดหวังที่ นายบัน คี มุน พบปะจับมือกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการสั่งสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนในหลายทาง
พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้ยูเอ็นสนับสนุนให้แกนนำ นปช.ได้สิทธิผู้ลี้ภัยทางการเมือง เรียกร้องนานาชาติร่วมกดดันต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึงการนำฆาตกรแห่งรัฐมาลงโทษ....
สำหรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรัล ดิษฐาอภิชัย เคยเป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเป็นหนึ่งใน 11 คน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรกของประเทศไทย ซึ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ถูกถอดถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ของคณะรัฐประหาร ในวันที่ 26 ก.ย. 50 เขาเคยเป็นแกนนำนักศึกษา และเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “สหายแผ้ว”
เขาขัดคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2557 จนกระทั่งศาลทหารอนุมัติออกหมายจับคดีด้านความมั่นคง รวมถึงถูกออกหมายจับในความผิดมาตรา 112 ด้วย เขาเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 57 หลังรัฐประหาร และเดินทางต่อไปเพื่อลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน
ภายหลังเข้าร่วมกับสมัชชาประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนไหวทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก
ปัจจุบันเขาได้รับสัญชาติฝรั่งเศส และได้จัดตั้ง สมาคมคนไทยเพื่อประชาธิปไตย โดยได้เป็นประธานสมาคมคนไทยเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหว ประท้วงรัฐบาลไทย ที่ยุโรป ร่วมกับ จรรยา ยิ้มประเสริฐ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ฯลฯ
แน่นอน, บทสรุปที่ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนไทยอย่างรุนแรง ด้วยใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บกว่า 2 พันคน และถูกจับเกือบ 300 คน แม้แต่ในประเทศไทย ก็ยังถกเถียงกันเอาเป็นเอาตาย ว่า “ความจริง” มันคืออะไรกันแน่
เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีความจริงคนละชุด ที่จะนำเอามาต่อสู้กัน รวมทั้งการไม่ยอมรับความจริงของ “คอป.” (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ด้วย
อย่างนี้แล้ว “ยูเอ็น” จะเชื่อใคร เพราะอย่าลืม รัฐบาลเองก็มีสายสัมพันธ์กับยูเอ็น ที่จะให้ข้อเท็จจริงอีกด้านเช่นกัน สรุปไม่น่าจะเป็นเรื่อง “ไร้ประสิทธิภาพ” หากแต่อาจเป็นเรื่องที่ข้อเท็จจริงบิดเบือนจนเกินไปหรือไม่ ที่ทำให้รับฟังไม่ขึ้น และน่าจะรู้อยู่แก่ใจดีอยู่แล้ว?