xs
xsm
sm
md
lg

“จักรทิพย์” วืด! จับ “พระพรหมเมธี” ยื่นลี้ภัยคุ้มครอง 2 เดือน เยอรมันเมินคำร้อง ผบ.ตร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ผบ.ตร.พร้อมคณะกลับถึงไทยแล้ว หลังจากไปรับตัว “อดีตพระพรหมเมธี” ที่เยอรมนี แต่เนื่องจากอดีตพระพรหมเมธียื่นขอลี้ภัยไว้ ทำให้ได้รับการคุ้มครองชั่วคราว 2 เดือน จึงยังไม่ได้ตัวกลับมาดำเนินคดี เหลือ ผบช.สตม.ประสานงานเยอรมนีเพื่อนำอดีตพระพรหมเมธีกลับ

วันนี้ (6 มิ.ย. 2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางกลับจากประเทศเยอรมนี ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลาประมาณ 12.35 น. โดยเที่ยวบิน TG 923 พร้อมด้วย พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช รองผู้บังคับการปราบปราม และพ.ต.อ.กกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่มีพระจำนงค์ เอี่ยมอินทรา หรืออดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ผู้ต้องหาคดีทุจริตเงินทอนวัดกลับมาด้วย

ทั้งนี้ จากจับตาของสื่อมวลชนที่ไปปักหลักรอจำนวนมากที่ประตู 5 ชั้น 2 ฝั่งผู้โดยสารขาเข้า ปรากฏว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์เดินออกมาทางประตู 10 ฝั่งผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 ในเวลา 12.50 น. เพื่อเลี่ยงสื่อมวลชน สอดคล้องกับข้อมูลที่สอบถามผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวที่เดินทางจากสนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ยืนยันว่าพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยสารมาในเที่ยวบินดังกล่าว แต่ไม่พบว่ามีอดีตพระพรหมเมธีร่วมเดินทางมาด้วย


มีรายงานว่าพล.ต.อ.จักรทิพย์ มอบหมาย พล.ต.อ.สุทธิพล วงศ์ปิ่น ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และทีมงานส่วนหนึ่ง รอที่ประเทศเยอรมนี เพื่อประสานงานต่อไป

ส่วนสาเหตุที่การประสานขอรับตัวผู้ต้องหาจากทางการเยอรมนีครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากอดีตพระพรหมเมธี ได้ชิงยื่นเรื่องขอลี้ภัยกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเยอรมนี โดยอ้างประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์พิเศษกฎหมายไม่ได้มาจากประชาชน ทำให้ไม่มั่นใจกับกระบวนการยุติธรรม และตามกระบวนการอดีตพระพรหมเมธี จะได้รับการคุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณาคำร้องขอลี้ภัย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ขณะที่คณะของพล.ต.อ.จักรทิพย์พยายามเจรจากับฝ่ายเยอรมนีโดยขอความร่วมมือให้พิจารณาคำร้องฯ ภายใน 3 วัน แต่สุดท้ายต้องผิดหวังไม่ได้ตัวอดีตพระพรหมเมธีกลับมา

สำหรับขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเรื่องของการขอลี้ภัย ทางการเยอรมนีจะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายๆ ด้าน ประกอบด้วย 1. การขอลี้ภัยทางการเมือง 2. การขอลี้ภัยในประเภทฐานะผู้ลี้ภัย 3. การขอรับความคุ้มครองเพียงบางส่วน 4. การขอคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกส่งไปยังประเทศต้นทาง

ทั้งนี้กรณีของอดีตพระพรหมเมธีคาดว่ายื่นคำขอลี้ภัยโดยให้เหตุผลว่า ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดี ถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศาสนา เชื้อชาติ ละเมิดพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ซึ่งหากการขอลี้ภัยถูกปฏิเสธ อดีตพระพรหมเมธี ยังมีสิทธิยื่นคำขออุทธรณ์ต่อไปได้อีก ดังนั้นเมื่อทางการเยอรมนีตัดสินใจนำตัวอดีตพระพรหมเมธีเข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว การดำเนินการตามขั้นตอนกว่าจะเสร็จสิ้น อาจต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี

ขณะที่การขอความร่วมมือ เรื่องส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน จากข้อมูลของกองการต่างประเทศ พบว่าไทยกับเยอรมนี ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน มีเพียงสนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2536 เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น