xs
xsm
sm
md
lg

อีกแล้ว! “ปิยบุตร” นำเสนอ การพิจารณาคดี “กษัตริย์” กรณีพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่ รธน.คุ้มครอง ทำได้หรือไม่ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
“ปิยบุตร” ทำเสียวอีกแล้ว เสนอ “ความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญของกษัตริย์กับการพิจารณาคดีหลุยส์ คาเปต์ ที่ระบุ “องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้และเป็นที่เคารพสักการะ” จะสามารถพิจารณาคดีได้หรือไม่.. อย่างนี้ใครก็คิดออก

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 พ.ค. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์หัวข้อ “[INTERREGNUM - EP08 สภาวะยกเว้น : ความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญของกษัตริย์กับการพิจารณาคดีหลุยส์ คาเปต์]”

โดยเนื้อหาระบุว่า “ภายหลังงดใช้รัฐธรรมนูญ 1791 และระงับตำแหน่งกษัตริย์เป็นการชั่วคราวแล้ว มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาชุดใหม่ ในครั้งนี้ได้ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปกว้างขวางมากขึ้น เปลี่ยนชื่อสภาเป็น สภา Convention ผลจากการขยายสิทธิเลือกตั้งนี้เอง ทำให้ได้สมาชิกสภาหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายเข้ามามากขึ้น

ในการประชุมสภานัดแรก สภามีมติยกเลิกระบอบกษัตริย์และประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐ แบบเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีของหลุยส์ คาเปต์

ประเด็นปัญหาที่ถูกหยิบยกมาพิจารณาเป็นเรื่องแรกๆ คือ ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว หลุยส์ คาเปต์ หรือ อดีตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะถูกพิจารณาคดีได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนได้รับรองให้ “องค์พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกละเมิดได้และเป็นที่เคารพสักการะ”

สมาชิกสภาได้ถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอย่างเผ็ดร้อน
ในตอนนี้ จะพาผู้ฟังไปทราบถึงเหตุผล วาทศิลป์ ของสมาชิกสภาแต่ละฝ่ายที่นำมาใช้ตอบโต้กัน

รวมทั้งพิจารณาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 ต่อเนื่องมาถึงฉบับ 10 ธันวาคม 2475, 2489, 2490, 2492 ซึ่งก็มีประเด็นปัญหานี้เช่นเดียวกัน

ในท้ายที่สุด เอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์กษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญได้มอบให้นั้น คือ ประเด็นปัญหาสำคัญในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ตามระบอบ Constitutional Monarchy

ขอเรียนเชิญทุกท่านลองฟังรายการ Interregnum ทั้งหมดและมาแลกเปลี่ยนกันดูครับ...”

ภาพสองเกลอ นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากแฟ้ม
อย่างไรก็ตาม วันนี้เช่นกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์หัวข้อ “จดหมายถึงทอน” เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะที่พูดถึง “เกลอของทอน” โดยระบุว่า

“นอกจากนั้นแล้ว เกลอของทอนยังมีลักษณะโกหกซ้ำๆ เหมือนทอน แต่ คนนอกมองทอนโกหก เป็นตัวตน ดูเป็นธรรมชาติ มาจากเบื้องลึกของหัวใจจริงๆ แต่เกลอของทอน เป็นการโกหกแบบหน้าด้าน ที่เขาเรียกเจ้าเล่ห์กว่ามาก ดูการโกหกไม่เป็นธรรมชาติ เช่น

1. ครั้งที่ประชาชนเขาจับได้ว่า ทอนไม่ได้ทำบลายทรัสต์ ตามที่เคยพูดก่อนเลือกตั้ง เกลอของทอนก็ออกมาแก้ต่างให้ โดยให้สัมภาษณ์ว่า ทอนยังไม่ได้ปฏิญาณตนการเป็น ส.ส. ถือว่าทอนยังไม่ได้เป็น ส.ส. แต่สุดท้ายถูกชาวเน็ตเอาคลิปมาแฉว่า ทอนปฏิญาณตนเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ประธานสภาจะอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และให้ทอนออกจากห้องประชุม การที่เกลอของทอนออกมาโกหกว่าทอนยังไม่ได้ปฏิญาณตน ทั้งๆ ที่เขาก็นั่งในห้องประชุมสภาใกล้ทอน รู้ทั้งที่รู้ว่าทอนปฏิญาณตนแล้ว แต่เขาก็ยังกล้าโกหก...คิดดูเอาละกัน

2. ถ้าทอนจำได้ พรรคเคยมีมติขับ ส.ส.ออกจากพรรค 4 คน มีการให้ข่าวต่อสื่ออย่างชัดเจน ว่า พรรคมีมติขับออก แต่สุดท้ายเกลอของทอนเอง ก็โกหกแบบไม่สนความจริง อ้างว่า องค์ประชุมไม่ครบ แต่ก็ถูก ส.ส.คนหนึ่งเอาเทปบันทึกการประชุมมาแฉว่า เกลอของทอนเป็นประธานในที่ประชุม เป็นคนขานและถูกบันทึกเสียงไว้ว่าองค์ประชุมครบแล้ว ให้ลงมติได้ เท่ากับว่า เกลอของทอนก็โกหกแบบหน้าตาเฉยอีก ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าองค์ประชุมครบ

3. การโกหกครั้งนี้ของเกลอของทอน ถือว่าเป็นครั้งที่ classic และเป็นครั้งที่เรียกว่า typical เจ้าเล่ห์ เพราะมันฟ้องถึงการแสดงออกของสีหน้าและแววตา นั่นคือ การออกมาแถลงเอกสารหลุดของ กกต. ต่อคดียุบพรรค การเรียกเอกสารหลุดนั้นดูน่าสนใจอยู่แล้ว และมาเจอคนประเภทเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการบิดเบือนนำเสนอ ยิ่งสร้างความสับสนให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ง่าย

แต่โชคร้ายที่ตัวผมเอง กลับได้เอกสารหลุดของ กกต.ชิ้นนั้นด้วย เมื่อมาอ่านดูแล้ว รู้เลยว่า เขาบิดเบือนประเด็นไหนบ้าง โดยเฉพาะที่อ้างว่า เมื่อมีการยกคำร้องเรื่องต้องยุติ เกลอของทอนก็ตีความกฎหมายผิดมาตรา อย่างที่กล่าวให้ทอนเห็นภาพ เขายังมีตรรกกะแปลกๆ ที่นึกไม่ถึงว่าเคยเป็นอดีตอาจารย์สอนกฎหมายมหาวิทยาลัยมีชื่อของประเทศ เช่น Lawfare หรือ นิติสงคราม สังเกตดูว่า ทอนและเพื่อนๆ ชอบทำในสิ่งที่หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย ก็ในเมื่อบ้านเมืองมีขื่อมีแป เราเป็นนิติรัฐ ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

แต่เมื่อพวกทอนทำผิดกฎหมาย แล้วจนตรอก เกลอของทอนก็จะออกมาสร้างกระแสว่า ถูกกฎหมายเล่นงาน ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้มีมาก่อนแล้ว ไม่ว่าเป็นใคร ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องผิด แต่เกลอของทอน กลับมาปั่นกระแสว่า ถูกกฎหมายเล่นงานด้วย คำว่า lawfare หรือนิติสงคราม แทนที่จะยึดมั่นในกฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมาย จะได้ไม่ผิด แต่นี่กลายเป็นทำผิดกฎหมายแล้ว ว่าเขามากลั่นแกล้ง แบบนี้ไม่น่าเชื่อเลยว่าเกลอคนนี้เหรอ ที่เป็นนักกฎหมาย...”

แน่นอน, สิ่งที่ “ปิยบุตร” โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว อาจอ้างได้ว่า ต้องการทำเรื่องนี้ให้เป็นงานวิชาการ และสามารถแลกเปลี่ยนถกเถียงกันได้ ในเมื่อประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่า เป็นการประเทืองปัญญาเสียด้วยซ้ำ เหมือนอย่างที่เคยอ้างมาตลอด

แต่ทว่า เรื่องที่หยิบยกมานั้น เป็นเรื่องที่ “ปิยบุตร” เองก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า ตัวเองกำลังถูกเพ่งเล็งว่า หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นเบื้องสูงมาตลอด ดังนั้น ใครๆ ก็คิดได้อยู่แล้วว่า การนำเสนอเรื่องนี้ต้องการสร้างผลกระทบอย่างไรในสังคมไทยหรือไม่

หรือว่านี่เอง คือ การ “ผลิตซ้ำ” ในทางสังคม เพื่อให้มีคนพูดถึงอยู่ซ้ำๆ จนกลายเป็นเรื่องชาชินและธรรมดาในที่สุด นั่นเอง?


กำลังโหลดความคิดเห็น