วันของฝ่ายค้าน! “ปิยบุตร” รำลึก 120 ปี “ปรีดี” นักปฏิวัติ 2475 “ณัฐวุฒิ” รำลึก 10 ปี เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 53 พร้อมประชันบทความ “นิธิ-ชาญวิทย์-ธนาธร-เนติวิทย์-เพนกวิน-คำผกา”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 พ.ค. 63) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์หัวข้อ “[ ปรีดี พนมยงค์ เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร ]”
โดยระบุว่า “11 พฤษภาคม ปีนี้ ครบรอบ 120 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้นำการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าเสรีไทย อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพื่อเป็นการร่วมรำลึก 120 ปี ชาตกาลของนายปรีดี ผมขอนำบางตอนจากปาฐกถาของนายปรีดี ในหัวข้อ “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” มาเผยแพร่ ดังนี้
“ขุมพลังต่อต้านเผด็จการที่แท้จริงของประเทศไทย คือ ราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคมที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบอบเผด็จการและซากเผด็จการ ... ขุมพลังนี้คือคนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทำกิน และคนมีทุนขนาดกลางซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองระบอบเผด็จการ
รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่ง ที่แม้ตนมีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักความเป็นประชาธิปไตยมองเห็นความทุกข์ยากของคนจน และคนส่วนมากที่ถูกเบียดเบียน จึงไม่ยอมเป็นสมุนรับใช้ของเผด็จการ และไม่ทำการใดๆ ที่จะแผลงประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการของพวกนายทุนหรือเป็นเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน (Dictatorship of the privileged class) นี่แหละขุมพลังมหาศาลจำนวนเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นราษฎรไทยจำนวนส่วนข้างมากของสังคม
ผมเห็นว่า ถ้าองค์การใดได้ขุมกำลังนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นพลังมากพอควรที่จะเป็นกองกำลังของราษฎรในการต่อต้านเผด็จการได้สำเร็จ ฉะนั้น ขุมพลังมหาศาลเกือบ 40 ล้านคน ยังมีเหลืออีกมากมายที่หลายๆ องค์การจัดตั้งได้ โดยไม่จำต้องมีการกีดกันหรือกันท่าระหว่างกัน
ท่านที่ประสงค์ต่อต้านเผด็จการจะได้ขุมพลังอันแท้จริงนี้มาร่วมในการต่อสู้เผด็จการได้อย่างไรนั้น ไม่ใช่ปัญหาแห่งความท้อใจ แต่อยู่ที่ผู้ประสงค์ต่อต้านเผด็จการ ต้องมีความตั้งใจจริงในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยส่วนมากที่จะพ้นจากการคุกคามของฝ่ายเผด็จการ
(...)
พรรคใด, กลุ่มใด, จะต่อสู้เผด็จการโดยวิธีใดนั้นสุดแท้แต่ ตนจะวินิจฉัยว่าตนสามารถถนัดใช้วิธีใด แต่เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเกณฑ์ให้คนอื่นต้องถือตามวิธีที่ตนนับถือบูชาอย่างคับแคบควรทำจิตใจอย่างกว้างขวาง ถือว่าทุกวิถีทางบั่นทอนอำนาจเผด็จการย่อมเป็นประโยชน์ในการต่อต้านเผด็จการ การอ้างเหตุว่าถ้าใช้วิธีนั้นๆ จะทำให้ผู้ติดตามล้มตายนั้นก็เป็นเหตุผลที่เหลวไหล
ขอให้ท่านพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าการต่อต้านเผด็จการนั้น ไม่ว่าวิธีใดก็ย่อมเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายทุกวิธี แม้วิธีสันติซึ่งขณะนี้เป็นวิธีที่กฎหมายอนุญาต แต่ก็รู้ไม่ได้ว่าฝ่ายเผด็จการกลับมีอำนาจขึ้นมาแล้วสิ่งที่กฎหมายในเวลานี้อาจถูกฝ่ายเผด็จการจับตัวไปฟ้องศาลลงโทษ เช่น กรณีขบวนการสันติภาพและกรณีที่มีผู้ถูกจับไปขังทิ้งยิงทิ้ง ปัญหาสำคัญอยู่ที่ผู้ต่อต้านเผด็จการต้องพร้อมอุทิศตนเสียสละชีวิตร่างการ, ความเหน็ดเหนื่อยเพื่อชาติและราษฎร
(...)
การต่อสู้ใดๆ นั้น ย่อมมีทั้งการรุกและการรับ ฉะนั้นไม่ควรมองเพียงด้านเดียว เฉพาะด้านวิธีต่อสู้เผด็จการ คือ ต้องพิจารณาด้านที่ฝ่ายเผด็จการจะตอบโต้ด้วย คือ ฝ่ายเผด็จการย่อมใช้วิธีเศรษฐกิจ, วิธีการเมือง, วิธีใช้กำลังทหารตำรวจ, วิธีจิตวิทยาที่ทำให้คนลุ่มหลงในระบอบเผด็จการ ซึ่งฝ่ายต่อสู้เผด็จการจะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้โดยอาศัยหลักทฤษฏีสังคมที่ถูกต้องสมานกับรูปธรรมที่ประจักษ์ด้วยแล้ววินิจฉัยตามความเหมาะสมแก่สภาพของกำลังของทั้งสองฝ่ายตามท้องที่และกาลสมัย ผมไม่อาจบรรยายให้ครบถ้วนในครั้งนี้ได้
แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ควรระมัดระวัง คือ การที่ฝ่ายเผด็จการส่งคนมาแทรกซึมในขบวนการต่อต้านเผด็จการซึ่งจะก่อให้เกิดความปั่นป่วนในขบวนการ อันเป็นการบั่นทอนกำลังของขบวนการ
(...)
ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบอบสังคม ฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้นถ้าสมานสามัคคีกันต่อไปเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้”
ปรีดี พนมยงค์, “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร”, ปาฐกถาให้แก่สมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส, เมือง Tours, วันที่ 4 กรกฎาคม 2517.”
อีกด้านหนึ่ง วันนี้เช่นกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. (กลุ่มคนเสื้อแดง) กล่าวว่า มีแนวคิดเรื่องการจัดงานใหญ่รำลึก 10 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. เมษา-พฤษภา 2553 แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จนถึงขณะนี้ยังไม่เหมาะสมกับกิจกรรมที่จะมีคนร่วมงานจำนวนมาก จึงขอพักแผนงานเดิมไว้ก่อน และปรับรูปแบบงานเป็นกิจกรรมออนไลน์เหมือนที่เคยจัดไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ต่างกันคือ งานวันที่ 10 เม.ย.ได้ประสานงานกับคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเขียนบทความรำลึก
ในวันที่ 19 พ.ค. ได้เชิญบุคคลหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ อาทิ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ สื่อสารมวลชน น.ส.ลักขณา ปันวิชัย “คำ ผกา” และนิสิต นักศึกษา นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ “เพนกวิน” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ส.จุฑาทิพย์ สิริขันธ์ ประธาน สนท. โดยเขียนบทความรำลึกเหตุการณ์เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเพจยูดีดีนิวส์
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า แม้ว่าแต่ละคนจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่ได้สัมผัสและรับรู้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดความรุนแรงจนมีคนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยตามแง่มุมของตน ซึ่งเป็นเจตนาที่อยากให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงจากคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เพียงแต่แกนนำ นปช. หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น เป้าหมายในการจัดกิจกรรมไม่ใช่เพื่อรื้อฟื้นความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นใหม่ เพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมาความขัดแย้งยังอยู่ ไม่ได้หายไป แม้แต่ในยุค คสช.ซึ่งอ้างว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขก็ไม่ได้ทำตามที่พูด แต่กลับทำให้ปัญหาลงลึกและขยายตัวจนปรากฏพลังนิสิต นักศึกษาขึ้นทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมากว่า 40 ปี
นายณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า การพูดถึงความสูญเสียของประชาชนเกือบร้อยชีวิตจึงหมายถึงความพยายามคลี่คลายสถานการณ์ด้วยความจริงและหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นทางออกเดียวของวิกฤตนี้ ถ้าคนเกือบร้อยชีวิตถูกสังหารกลางเมืองหลวงแล้วเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้ การพูดเรื่องปรองดอง ประชาธิปไตย หรือแม้กระทั่งปฏิรูปอย่างที่ผู้มีอำนาจประกาศมาตลอดก็ไม่มีความหมาย วันที่ 19 พ.ค. ติดตามเนื้อหาสาระ 10 ปี เมษา-พฤษภา 53 ได้ตั้งแต่ช่วงเช้า จะมีบทความรำลึกของบุคคลต่างๆ เผยแพร่ตลอดทั้งวัน รวมถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่”
แน่นอน, ยิ่งทำความชัดเจนให้เกิดขึ้น อย่างปฏิเสธไม่ได้ ว่า “คณะก้าวหน้า” ที่เคยจัดงานเรี่ยไร ระดมเงินแจกชาวบ้านคนละ 3,000 บาท ด้วยรหัส 24 และ 75 สองช่วงการไลฟ์สดนั้น ถูกวิจารณ์ว่า แอบอิง การปฏิวัติ 2475 หรือไม่ วันนี้มีคำตอบให้เรียบร้อย
อีกประเด็น การที่ นายปิยบุตร หยิบยกเอา “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ของ ท่านปรีดี มานำเสนอ ก็แทบไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน นอกจากต้องการใช้เนื้อหาเรื่องนี้ “ปลุกเร้า” มวลชน โดยแทนที่ นายปิยบุตร จะพูดเอง ก็หยิบยกเอาคำพูดของท่านปรีดีมาบอกเล่าแทน
อย่างนี้ได้ทั้งความขลัง และได้ทั้งทำให้เห็นว่า “อยู่ฝ่ายท่านปรีดี” ตีกินเนียนๆ ไปด้วย
ส่วนกรณีของ นายณัฐวุฒิ ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การประชันบทความของบุคคลที่เรียกได้ว่า เป็น “อีแอบ” มานานบางคน เพราะต้องการที่จะรักษาสถานความเป็นกลางทางวิชาการเอาไว้ แต่วันนี้ คนที่มีชื่อเหล่านี้ ไม่น่าจะเรียกตัวเองว่า เป็นกลางได้แล้ว แม้ว่า ผลงานที่ผ่านมา จะเอียงข้างไปก่อนแล้ว นอกจากนั้น ก็คือ การรำลึกถึงผู้เสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ ที่ทุกคนก็ล้วนแต่เสียใจด้วย และจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากเห็นคนไทยฆ่ากันเอง นอกเสียจากแกนนำผู้ปลุกระดม และบ้าคลั่งความรุนแรงบางคนเท่านั้น
ความสูญเสีย จึงน่าจะเป็นบทเรียนที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นอีก มากกว่าที่จะเอาความสูญเสียเหล่านั้น มาปลุกปั่นขึ้นใหม่ เพื่อสร้างความแตกแยก จนนำไปสู่การนองเลือดอีก อย่างไม่จบสิ้น อย่างนี้ความสูญเสียและงานรำลึกก็ไม่มีวันจบสิ้นเช่นกัน
เราจะต้องแสดงความเสียใจให้กับผู้สูญเสียไปอีกกี่ร้อยครั้ง???