อดีต ส.ว.“รสนา” เผย “พระไพศาล วิสาโล” เป็นนักสันติวิธีที่ลึกซึ้ง เทศนา “โควิดเป็นของขวัญ” เพื่อแสดงธรรมแก่ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่กำลังมีปัญหาทางจิตใจในสถานการณ์โรคระบาด เป็นเรื่องของการ “ทำจิต” แต่กลับถูกเอาข้อความประโยคเดียวไปโจมตีว่าพูดเพื่อคนชั้นกลาง ไม่เห็นความลำบากของคนจน ยืนยันการช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากเป็น “กิจ” ที่ทำมาตลอด เตือนนักกิจกรรมทางสังคม อยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปในทางที่ดีต้อง “ทำจิต” ปล่อยวางทั้งความโกรธ ความเกลียด ความคับแค้น ถ้าไม่ได้ดั่งใจ
วันนี้ (10 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ การทำกิจ และการทำจิต ของพระไพศาล วิสาโล มีรายละเอียดว่า “ดิฉันรู้จักกับพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เป็นเวลากว่า 40 ปีมาแล้ว ท่านเป็นนักเรียนทุน สอบเข้าได้เป็นที่หนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ที่สำคัญคือ ท่านเป็นคนลึกซึ้งมาก สนใจปัญหาสังคม การเมือง และการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยสันติวิธีมาตั้งแต่สมัยนั้น
ระหว่างเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ท่านยังเป็น นศ.ปี 2 ทำกิจกรรมชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี และได้เข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลตามวิถีสันติแบบมหาตมะคานธี ด้วยการอดอาหาร ท่านจึงถูกทุบตีและถูกจับกุมคุมขังเหมือนเพื่อน นศ.อื่นๆ ที่ปักหลักอยู่ในรั้วธรรมศาสตร์ แต่เนื่องจากมิใช่แกนนำสำคัญท่านจึงได้รับการปล่อยตัวออกมา และร่วมกับผู้นำศาสนาต่างๆ ก่อตั้งกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ทำงานประสานรอยร้าวทางสังคมด้วยสันติธรรมและสันติวิธี งานหลักของท่านตอนนั้น ก็คือ การประสานความร่วมมือกับองค์การนิรโทษกรรมสากลในอังกฤษโดยไดัรับความช่วยเหลืออย่างดีกับเพื่อนชาวอังกฤษที่ทำงานอยู่ในองค์การยูเนสโก กล่าวได้ว่า พระอาจารย์ไพศาลเริ่มบทบาทเป็นนักเคลื่อนไหวสันติวิธีระดับระหว่างประเทศตั้งแต่ยังเป็น นศ.ปี 3 และทำงานด้านนี้ต่อมาอย่างแข็งขันหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ในท่ามกลางการปิดกั้นสิทธิ เสรีภาพแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในยุคมืดสนิทเวลานั้น
ท่านเป็นผู้เคลื่อนไหวหลักในการยื่นจดหมายเรียกร้องขอให้รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2521 ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งนักโทษการเมืองยุค 6 ตุลา 2519 ได้แก่ สุธรรม แสงประทุม ธงชัย วินิจจกุล วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ อภินันท์ บัวหภักดี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และสันติวิธี บางครั้งก็ทำให้นักกิจกรรมทางสังคมอย่างท่านเกิดความทุกข์ใจ ท้อใจ หรือถึงกับมีโทสจริตเกิดความขัดแย้งในการทำงาน
ความที่ท่านเป็นคนลึกซึ้ง ท่านจึงได้มาบวชเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านใน จากความตั้งใจบวชเพียง 3 เดือนในปี 2526 กลายเป็นการบวชยาวนานกว่าชีวิตฆราวาสของท่าน การบวชของท่านไม่ใช่การหนีปัญหา แต่คือการเผชิญปัญหาด้วยคุณภาพของจิตใจที่มีกำลังในการรับมือกับความทุกข์ภายใน ดังที่ท่านมักพูดเสมอว่า การ “ทำกิจ” เพื่อสังคม ต้องประกอบกับการ “ทำจิต” ด้วยความปล่อยวางทั้งความโกรธ ความเกลียด ความคับแค้นใจ ที่สังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างที่เราปรารถนาง่ายๆ
นักสันติวิธี ในสังคมแห่งการแบ่งขั้ว มักจะถูกเล่นงานจากฝ่ายสุดโต่ง (Extremist) ที่มองผู้คนเป็นฝักฝ่ายว่า ไม่มีจุดยืน ทั้งที่ท่านไพศาลมีจุดยืนอย่างชัดเจนตามหลักโอวาทปาติโมกข์ ว่า ต้องไม่พูดร้าย ต้องไม่ทำร้าย มีขันติธรรมใจกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างลึกซึ้ง คนที่นำประเด็นโควิดมาโจมตีท่านว่าเอียงข้างชนชั้นกลาง คงอาจไม่ทราบว่าท่านเองก็เคยถูกโจมตีว่าเอียงข้างโรฮีนจา ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เป็นชนกลุ่มที่ยากจนที่สุดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นกลุ่มชนชายขอบของโลกที่ถูกเหยียบย่ำความเป็นมนุษย์มากที่สุด จนไม่มีที่ยืนอยู่ในโลกใบนี้ บุคคลที่ยืนหยัดอยู่ข้างเพื่อนมนุษย์ผู้ยากไร้ที่สุด ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างความเชื่อ เช่นนี้น่ะหรือจะเทศนาเพื่อการแบ่งแยกทางชนชั้น?
พระไพศาลเทศน์เรื่อง “โควิดเป็นของขวัญ” กับญาติโยมในวัด นั้นเป็นภาษาธรรมที่แสดงแก่ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่กำลังมีปัญหาทางจิตใจเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ว่า การไปไหนไม่ได้ ก็ทำให้มีเวลาเป็นของขวัญ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเวลา และทำใจรับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาด้วยใจที่ยอมรับ คือ “การทำจิต” กับสถานการณ์ทุกอย่างที่มากระทบ ไม่ว่าพอใจ หรือไม่พอใจ
แต่ไม่ใช่เอาข้อความประโยคเดียว เรื่องเดียวที่พูดในมุมเฉพาะไปโจมตีท่านว่าพูดให้คนรวย คนชั้นกลางที่ไม่เดือดร้อนจากปัจจัยยังชีพฟัง โดยไม่เห็นความลำบาก ทุกข์ยากของคนจนที่ไม่มีปัจจัยเลี้ยงชีพและตกงานเพราะโรคโควิด
หากบอกว่าบทเทศน์เรื่อง โควิดคือของขวัญ เป็นเรื่อง “การทำจิต” ท่านไม่ได้แค่พูดเทศนาลอยๆ เพ้อเจ้ออยู่กับทุ่งลาเวนเดอร์ อย่างที่มีการโจมตีท่านในโซเชียลมีเดีย
ท่านให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาโควิดในฐานะที่เป็นปัญหาทางโลกที่ส่งผลกระทบต่อคนจน ในส่วนของ “การทำกิจ” ของท่าน ซึ่งมีอยู่อย่างมากมายก่อนปัญหาโควิด ท่านผลักดันให้มีการช่วยเหลือ แบ่งปันกันอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง งานของเครือข่ายพุทธิกาที่ท่านเป็นหลัก ได้รวบรวมอาสาสมัครในการทำงานทางสังคมเพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการให้ การช่วยเหลือ และแบ่งปัน เช่น การมีอาสาสมัครไปช่วยบริการ อำนวยความสะดวกผู้ป่วย (นอก) ที่ รพ.ประสาท เป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ให้ความสุขกับอาสาสมัครที่ได้ทำประโยชน์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสูงอายุที่ลำบากในการช่วยเหลือตัวเอง มีความสุขที่ได้รับการดูแล ช่วยเหลือ และเจ้าหน้าที่ของ รพ.ก็ได้ผ่อนเบาภาระ และได้รับความรู้สึกที่ดีจากคนไข้
กิจกรรมทางสังคมในการช่วยเติมเต็มช่องว่างทางสังคมของท่าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การอบรมอาสาสมัครมาช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยที่กำลังจากโลกนี้ไป จากไปด้วยความอบอุ่น ไม่อ้างว้างเดียวดาย เป็นการสร้างสังคมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ท่านทำให้อาสาสมัครในหลากหลายกิจกรรมได้พบว่าความสุขจากการให้ มีความลึกซึ้งเหนือกว่าความสุขจากการได้
กรณีการปกป้องผืนป่าลุ่มน้ำลำปะทาว ท่านได้ร่วมกับหลวงพ่อคำเขียนเดินธรรมยาตราทุกปีเป็นเวลา 20 ปี โดยตัวท่านเองนำเดินเท้าเปล่าเป็นระยะทางนับร้อยกิโลเมตรเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าอีสานที่นับวันจะถูกทำลายให้ลดน้อยลงไปทุกที นอกจากนี้ ในแต่ละปีท่านร่วมกับชาวบ้านออกดับไฟป่าซึ่งเป็นงานที่หนักและเสี่ยงชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังเคยนำพุทธบริษัทเดินธรรมยาตราอนุรักษ์พื้นที่รอบทะเลสาปสงขลามาแล้ว
สำหรับกรณีผู้คนยากไร้ที่ประสบความทุกข์สาหัสจากโควิด เพราะปัจจัยยังชีพ นอกจากบทเทศน์ที่ยกตัวอย่างหลายประเทศที่ช่วยเหลือกันในยามวิกฤต ท่านในฐานะประธานได้มอบหมายแนวทางกิจกรรมให้เครือข่ายพุทธิกาดำเนินการในโครงการ ปันกันอิ่ม ซึ่งเป็นการ “ทำกิจ” ของท่าน โดยท่านได้เทศน์เล่ากิจกรรมดังกล่าวในชื่อ “อยากทำดีเพราะมีตัวช่วย” ที่วัดป่ามหาวัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ตอนหนึ่งว่า
“ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด เครือข่ายพุทธิกาก็มีโครงการนี้อยู่แล้วเรียกว่า ปันกันอิ่ม ชื่อคล้ายๆ กันแต่ว่าคนที่ไปติดต่อร้านค้าต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิของเครือข่ายพุทธิกา แต่ว่าโครงการปันความอิ่มเขาไม่มีคน เขาก็เลยใช้วิธีเชิญชวนคนสนใจไปเป็นจิตอาสาที่จะไปติดต่อร้านค้าให้มาร่วมโครงการนี้ วิธีนี้ทำให้โครงการนี้กระจายไปได้กว้าง เพราะว่าคนที่อยากจะเป็นจิตอาสามีอยู่ทั่วประเทศ เขาก็ไปติดต่อร้านค้าที่รู้จักเพราะอยู่ใกล้บ้าน เขาก็มีร้านเจ้าประจำอยู่แล้วที่เขาไว้เนื้อเชื่อใจ ก็ไปถามเจ้าของร้าน ถามแม่ค้าว่าสนใจไหม ใช้ความคุ้นเคยกันจากความเป็นลูกค้า มากินประจำ ทำให้มีความไว้วางใจ รู้ว่าไม่มาหลอก ก็ทำให้อยากจะช่วย วิธีนี้ทำให้ความมีน้ำใจของคนเรามันแพร่กระจายไปกว้างขวาง คนเราบางครั้งอยากจะช่วย แต่ถ้าไม่มีตัวช่วย ไม่มีปัจจัยสนับสนุน ความมีน้ำใจก็จำกัดวงแคบๆ แต่พอมีปัจจัยสนับสนุนหรือตัวช่วยแบบนี้ มันก็เป็นกำลังทำให้ความเมตตากรุณาได้แพร่กระจายไปกว้างๆ เมืองไทย คนไทยถ้ามีตัวช่วย ตัวสนับสนุนแบบนี้มากๆ คนก็จะเอื้อเฟื้อกันมากขึ้น แล้วคนเห็นแก่ตัวก็จะน้อยลงๆ จากคนที่เห็นแก่ตัวเขาเห็นแบบอย่างว่า มีคนทำดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรู้สึกนึกคิดก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าอยากทำความดี เพื่อผู้อื่นบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องการทำความดี เราจะอาศัยน้ำใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมช่วย ทั้งธรรมเนียม วัฒนธรรม การหล่อหลอม การเลี้ยงดู และปัจจัยสนับสนุนอย่างที่ว่าด้วย”
สิ่งพระอาจารย์ไพศาลทำมาตลอดไม่ว่าเป็นการกระทำ หรือคำเทศนา จะสอดรับอยู่ตลอดคือ “การทำกิจ” และ “การทำจิต” โดยเฉพาะนักกิจกรรมทางสังคม การหวังเปลี่ยนแปลงสังคม ต้องประกอบด้วยการ “ทำกิจ” อย่างมุ่งมั่น สุจริต และการจะทำกิจได้อย่างถูกต้อง ไม่เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมาย ก็ต้องมีการ “ทำจิต” ควบคู่กันไป มิเช่นนั้นแล้ว การทำกิจที่ดี อาจถูกกิเลสลากพาไปสู่การทุจริต คอร์รัปชัน ถ้าการทำจิตไม่เข้มแข็ง หรือการทำกิจ ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ ก็อาจนำไปสู่จิตที่ท้อแท้ ขุ่นเคือง คับข้องใจ จนต้องระบายสู่คนรอบข้าง
การทำกิจ และการทำจิตจึงเปรียบได้กับ ต้นไม้ใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาได้กว้างใหญ่ไพศาลมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับรากของต้นไม้นั้นว่าจะหยั่งลึก และแผ่ไพศาลอยู่ในเนื้อดินได้มากน้อยแค่ไหน
“ดิฉันเชื่อเช่นเดียวกับสาธุชนทั่วไปว่ากรณีวิวาทะเรื่องโควิด จะเป็นของขวัญอันประเสริฐสำหรับการ “ทำจิต” ของพระอาจารย์ไพศาลและชาวพุทธทั้งหลายด้วยเช่นกัน”