xs
xsm
sm
md
lg

แหล่งข่าวเผยเวียดนามกดดันเฟซบุ๊กให้เซ็นเซอร์โพสต์ 'ต่อต้านรัฐ' มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - เซิร์ฟเวอร์ท้องถิ่นของเฟซบุ๊กในเวียดนามถูกตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเมื่อช่วงต้นปีนี้ ทำให้การใช้งานในประเทศลดลงมาก จนกระทั่งเฟซบุ๊กตกลงที่จะเพิ่มการเซ็นเซอร์โพสต์ต่อต้านรัฐของผู้ใช้งานท้องถิ่น แหล่งข่าวของบริษัทเผยกับรอยเตอร์

การจำกัดการเข้าถึงที่แหล่งข่าวกล่าวว่าดำเนินการโดยบริษัทโทรคมนาคมของรัฐ ทำให้เซิร์ฟเวอร์ออฟไลน์อยู่ราว 7 สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่าเว็บไซต์ไม่สามารถใช้งานได้ในบางครั้ง

“เราเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อกดดันให้เราเพิ่มการปฏิบัติตามคำสั่งเซ็นเซอร์โพสต์เมื่อพบเห็นเนื้อหาจากผู้ใช้งานของเราในเวียดนาม” แหล่งข่าวของเฟซบุ๊กรายแรกกล่าวกับรอยเตอร์

ในถ้อยแถลงทางอีเมล เฟซบุ๊กยืนยันว่าบริษัทปฏิบัติตามคำร้องของรัฐบาลในการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่เห็นว่าผิดกฎหมาย

กระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ที่เป็นหน่วยงานที่ต้องรับมือกับคำร้องของนักข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับความเห็นของรัฐบาล ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องของรอยเตอร์ ขณะที่บริษัท Viettel และบริษัท Vietnam Posts and Telecommunications Group (VNPT) ที่เป็นกิจการด้านโทรคมนาคมของรัฐ ก็ไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์เช่นกัน

ด้านองค์การนิรโทษกรรมสากลได้แสดงความเห็นถึงรายงานของรอยเตอร์ในเรื่องนี้ และได้เรียกร้องให้เฟซบุ๊กกลับการตัดสินใจดังกล่าว

“การปฏิบัติตามความต้องการเหล่านี้ของเฟซบุ๊กจะเป็นการสร้างแบบอย่างที่อันตราย ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกจะเห็นสิ่งนี้เป็นดั่งคำเชื้อเชิญที่จะนำเฟซบุ๊กไปใช้เป็นเครื่องมือในการเซ็นเซอร์ของรัฐ” องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ

ในช่วงหลายปีมานี้ เฟซบุ๊กต้องเผชิญต่อแรงกดดันในการลบเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลในหลายประเทศ

ในเวียดนาม แม้จะมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและเปิดกว้างมากขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศยังคงควบคุมสื่ออย่างเข้มงวดและไม่อดทนยินยอมต่อความเห็นต่าง และจับตาเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผู้ใช้งานมากกว่า 65 ล้านคน ด้วยเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับทั้งอีคอมเมิร์ซ และการแสดงออกถึงความเห็นต่างทางการเมือง

เมื่อต้นปีก่อน เวียดนามกล่าวหาเฟซบุ๊กละเมิดกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ฉบับใหม่ จากการปล่อยให้ผู้ใช้งานโพสต์ความเห็นต่อต้านรัฐบนแพลตฟอร์ม

หลายเดือนต่อมา องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 16 คน ถูกจับกุมตัว ควบคุมตัว และถูกตัดสินโทษจากการโพสต์ความเห็น และในเดือน พ.ย. สื่อทางการรายงานว่ามีประชาชนอีก 5 คน ถูกจำคุก

กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์กำหนดให้บริษัทต่างชาติ เช่น เฟซบุ๊ก ต้องตั้งสำนักงานท้องถิ่นและจัดเก็บข้อมูลในเวียดนาม แม้เฟซบุ๊กระบุว่า บริษัทไม่จัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานในประเทศ

แหล่งข่าวจากเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทคัดค้านคำขอปิดกั้นการเข้าถึงโพสต์ผู้ใช้งานในบางประเทศ แต่ด้วยแรงกดดันเรื่องเซิร์ฟเวอร์ท้องถิ่นติดขัดนั้นบังคับให้บริษัทต้องปฏิบัติตาม

“แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะปฏิบัติตามทุกคำร้องขอที่รัฐบาลส่งมาให้เรา แต่เรามุ่งมั่นที่จะจำกัดเนื้อหาให้มากขึ้น” แหล่งข่าวระบุ

คำแถลงของเฟซบุ๊กระบุว่า “เราเชื่อว่าเสรีภาพของการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเราทำงานอย่างหนักเพื่อคุ้มครองและปกป้องเสรีภาพของพลเมืองที่สำคัญนี้ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เราได้ดำเนินการสิ่งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าบริการของเรายังคงมีอยู่และผู้คนหลายล้านคนในเวียดนามที่พึ่งพาบริการนี้ทุกวันยังสามารถใช้งานได้ต่อไป”

นับตั้งแต่ปี 2559 เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊กในภูมิภาคเอเชีย

ตามข้อมูลของ Ants บริษัทวิจัยตลาดที่มีสำนักงานในเวียดนาม ระบุว่า รายได้จากโฆษณาดิจิทัลในเวียดนามมีมูลค่าประมาณ 550 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 โดย 70% ของรายได้ดังกล่าวเป็นของเฟซบุ๊กและกูเกิล


แหล่งข่าวระบุว่า การปิดเซิร์ฟเวอร์เริ่มขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.พ. จนถึงต้นเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ความวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กำลังทวีความรุนแรง

เนื่องจากการใช้งานเฟซบุ๊กได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวียดนาม ทำให้ผู้ใช้งานเริ่มสังเกตเห็นว่าการเข้าถึงเฟซบุ๊กทำได้ช้าลง รวมทั้งแอปพลิเคชัน Messenger และ Instagram

ในตอนนั้น สื่อทางการระบุว่า ความล่าช้ามีสาเหตุจากการบำรุงรักษาสายเคเบิลใต้ทะเล และบริษัทด้านโทรคมนาคมของรัฐได้ขออภัยสำหรับการเข้าใช้งานเฟซบุ๊กที่ไม่เสถียร

VNPT ระบุในคำแถลงตอนนั้นว่า VNPT และพันธมิตรกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา แต่เบื้องหลังคือเฟซบุ๊กพยายามอย่างหนักที่จะรักษาบริการของบริษัทไว้ และกำลังเจรจากับรัฐบาล แหล่งข่าวเผย

“เมื่อเราแสดงความมุ่งมั่นที่จะจำกัดเนื้อหาให้มากขึ้น จากนั้นเซิร์ฟเวอร์ก็กลับสู่สถานะออนไลน์โดยผู้ให้บริการโทรคมนาคม” แหล่งข่าว กล่าว

ส่วนแหล่งข่าวคนที่ 2 เปรียบเทียบปริมาณการใช้งานที่ลดลงในเวียดนาม เนื่องจากที่อื่นๆ มีปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้น ด้วยหลายสิบประเทศจำกัดการเคลื่อนไหวในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ทำให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงต่างหันมาใช้งานเฟซบุ๊ก

“ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของเวียดนามจำกัดการเข้าถึงในช่วงเวลาที่ผู้คนต้องการบริการเช่นเฟซบุ๊ก ซึ่งมันแตกต่างอย่างมากกับที่อื่นๆ ในโลก” แหล่งข่าวระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น