xs
xsm
sm
md
lg

สลค.เวียนแผนปรับบริหารหนี้สาธารณะปี 63 ก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 6 แสนล้าน ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ สองไฟฟ้าปรับกู้เพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สลค.เวียนปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 63 แผนก่อหนี้ใหม่เพิ่ม 6 แสนล้าน ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ พบแผนก่อหนี้ใหม่ ทั้งปรับลดเพิ่มการกู้เงิน แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 603,492 ล้าน จากเดิม 894,005 ล้าน รวมเป็น 1,497,498 ล้านบาท พบโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ปรับลดลง 4 พันล้าน ส่วน 2 การไฟฟ้า ได้ปรับเพิ่มขึ้น กฟผ.ปรับเพิ่ม 4 พันล้าน กฟภ.ปรับเพิ่ม 8.3 พันล้าน

วันนี้ (6 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับกรอบและวงเงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการในการกู้เงินใหม่ การบริหารหนี้เดิม และการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

การปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 มีวงเงินเปลี่ยนแปลงไปดังนี้

1. แผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 603,492 ล้านบาท จากเดิม 894,005 ล้านบาท รวมเป็น 1,497,498 ล้านบาท 2. แผนบริหารหนี้เดิม ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 204,627 ล้านบาท จากเดิม 831,150 ล้านบาท รวมเป็น 1,035,777 ล้านบาท และ 3. แผนการชำระหนี้ ปรับลดสุทธิ 8,999 ล้านบาท จากเดิม 398,372 ล้านบาท เป็น 389,373 ล้านบาท

ส่วนของการปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 6.03 แสนล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ที่ต้องมีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม


“ส่วนนี้ต้องมีการกู้เงินระยะเร่งด่วนเพื่อจัดสรรให้กับการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในระยะเร่งด่วน ซึ่งเตรียมวงเงินไว้รองรับตาม พ.ร.ก.วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท”

นอกจากนี้ยังมีแผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ ปรับเพิ่มสุทธิ 18,702 ล้านบาท จากเดิม 145,126 ล้านบาท เป็น 163,829 ล้านบาท โดยส่วนที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่

1. โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับลดการกู้เงินลง 4,000 ล้านบาท 2. การปรับลดการกู้เงินของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ลดลง 1,927.98 ล้านบาทจากโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ.ในแผนปี 2563 จำนวน 29 โครงการ

ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อส่งเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง และ กทม. และโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่างเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปรับเพิ่มขึ้น 8,300 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้า ระยะที่ 8 และ 9 โครงการเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า พัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ขยายเขตไฟฟ้าในพื้นที่ทำกินทางการเกษตร เป็นต้น

ส่วนแผนงานที่รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ (เงินกู้ในประเทศ) ปรับลดสุทธิ 17,201.76 ล้านบาท กระทรวงการคลังได้ปรับลดวงเงินกู้ในประเทศที่ให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งกู้ต่อสุทธิ 17,201 ล้านบาท จากเดิม 85,357 ล้านบาท เป็น 68,155 ล้านบาท ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่าย ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปรับเพิ่ม 1,061 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปรับลดสุทธิ 18,262 ล้านบาท

โดยปรับลดในส่วนโครงการที่ล่าช้า ได้แก่ โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อหัวลำโพง และโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น