xs
xsm
sm
md
lg

จับพิรุธเหตุผลสุดพิลึกของสภาหอการค้า ขอเลื่อน “แบนสารพิษ” ก่อน กก.วัตถุอันตรายลงมติวันนี้ ** โซเชียลแห่ชื่นชมผู้ว่าฯ เมืองเลย เข้าโรงจำนำไถ่ถอนเครื่องมือทำมาหากินให้ประชาชน ... ส่วนผู้ว่าฯ กระบี่ “ซื้อ OTOP ใส่ตู้กับข้าวเพื่อชาวกระบี่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว

** จับพิรุธเหตุผลสุดพิลึกของสภาหอการค้า ขอเลื่อน “แบนสารพิษ” ก่อน กก.วัตถุอันตรายลงมติวันนี้ งานนี้เป็นเผือกร้อน “สุริยะ” อีกครั้ง

ดูท่าเรื่อง “แบนสารพิษ” จะเป็นอีกเรื่องที่กลับมาร้อนฉ่าดรามาไฟลุกในเวลาที่โควิด-19 ยังไม่สงบอีกครั้ง ... นั่นเพราะว่าเวลานี้กระแสสังคมกำลังเพ่งมองการประชุมของ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ในวันนี้ (30 เม.ย.) จะออกหัวออกก้อย เลื่อนหรือไม่เลื่อน “แบนสารพิษ”

ฟังว่า วาระวัดใจของคณะกรรมการ คือ เตรียมพิจารณาทบทวนยืดเวลาการแบนสารพิษ จากเดิม วันที่ 1 มิ.ย. 63 ออกไปเป็น 31 ธ.ค. 63 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลง ซึ่ง “กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยให้เหตุผลว่าการแบนสารพิษจะกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบ ผลิตอาหารสัตว์ และอาหารคน

งานนี้ทำเอางุนงงกันไปเป็นแถว เพราะจู่ๆ ประธานหอการค้า จากที่เคยเห็นด้วย กลับลำเป็นไม่เห็นด้วยกับการแบนสารพิษนั้น มีอะไรซ่อนเร้นหรือไม่ !!

ความน่าสงสัยนี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในโลกโซเชียล โดยมีการนัดแนะกันผ่านเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN), Indy Consumer, และภาคีเครือข่าย เชิญชวนประชาชน “ร่วมชุมนุมออนไลน์” ด้วยการถ่ายภาพตนเอง พร้อมข้อความขึ้นหน้า wall ใส่แฮชแท็กข้อความ #Mob From Home #แบน3สารพิษเดี๋ยวนี้ #ครัวไทยต้องไม่ใช่ครัวโรค #อย่าฉวยโอกาสอ้างโควิดไม่แบน 3 สาร

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
พร้อมกันนี้ ก็ตั้งข้อสงสัยประเด็นพิลึก ถาม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม ไปด้วยว่าการที่ “กลินท์ สารสิน” คนที่ร้องเรียนขอให้ใช้สารพิษต่อ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนก็เพิ่งทำจดหมายยืนยันถึงนายกรัฐมนตรี ในนามสภาหอการค้าว่า สนับสนุนการแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด ทำไมกลืนคำพูดตัวเอง ข้อน่าสังเกต คือ จดหมายที่ส่งถึง รมว.อุตสาหกรรม แม้มีหัวสภาหอการค้า แต่ใช้คำพูดเหมือนจดหมายส่วนตัว

ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์โรคระบาด ประเทศต่างๆ ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาเน้นพืชอาหาร ส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร อันนี้กลับทำตรงกันข้าม

หลังโควิด-19 คาดว่า จะมีคนกลับไปภาคเกษตรนับล้านคน ยิ่งควรจะเป็นโอกาสที่จะได้ใช้กำลังแรงงาน+การใช้เครื่องจักรกลในการจัดการวัชพืช แต่ทำไมสภาหอการค้าถึงมองว่าขาดแคลนแรงงาน

ถ้าสภาหอการค้ากลัวจะไม่สามารถนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์ เช่น ถั่วเหลือง หรือข้าวโพด ที่มี “พาราควอต” ตกค้าง ประเด็นนี้ไม่เคยเป็นประเด็นมาก่อน และไม่เคยมีประเทศไหนทั้งผู้นำเข้า และผู้ส่งอก รวมทั้งสหรัฐฯ หรือสภาหอการค้า เองอ้างเรื่องนี้มาก่อน กลุ่มสนับสนุนสารพิษยืนยันหัวชนฝาว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการตกค้าง

ประการสำคัญ เหตุที่แบน กรรมการก็รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอันตราย แต่ทำไมกลับปล่อยให้นำเข้า “ปล่อยให้ใช้ต่อไปอีก 6 เดือน” ซ้ำเติมปัญหาสุขภาพประชาชน ... เรื่องของเรื่องคือต้องการเอื้อประโยชน์ผู้ค้าสารพิษ ยื้อการแบนออกไปเรื่อยๆไม่รู้จบ ใช่หรือไม่ ?

มนัญญา ไทยเศรษฐ์
นี่เป็นข้อพิรุธและประเด็นสงสัยบางส่วนที่ถูกตั้งไว้ก่อนการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย... ดังนั้น ก็ต้องรอดูว่าในการประชุมครั้งนี้ ที่สุดแล้วจะมีมติออกมาอย่างไร

ที่แน่ๆ ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ก่อนนี้ “มนัญญา ไชยเศรษฐ์” รมช.เกษตรฯ เรียกหน่วยงานที่จะต้องเข้าร่วมประชุมปลุกใจกันมาแล้วให้ยืนยันคำเดิมคือ “ไม่เลื่อนแบน”

ม็อบออนไลน์ก่อตัวแล้ว งานนี้ ไม่แคล้วจะเป็นภาระอันหนักอึ้งของ “สุริยะ” เป็น “เผือกร้อน” ในฐานะคนนั่งหัวโต๊ะอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่ามติจะเลื่อน หรือแบนตามเดิม ไปทางไหนก็ควรจะต้องมีคำตอบให้กับสังคมให้ชัดเจน เพราะเรื่องนี้ มติมหาชนมองว่า การแบนสารพิษเป็นเรื่องดีต่อคุณภาพชีวิตของคน และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจติดตามกันมาต่อเนื่อง

ไฟดรามาจะมอดลง หรือจะยิ่งโหมกระพือไปกันใหญ่ โปรดรอติดตาม !!

** โซเชียลแห่ชื่นชมผู้ว่าฯ เมืองเลย เข้าโรงจำนำไถ่ถอนเครื่องมือทำมาหากินให้ประชาชน ... ส่วนผู้ว่าฯ กระบี่ “ซื้อ OTOP ใส่ตู้กับข้าวเพื่อชาวกระบี่” ตั้งตามจุดตรวจ เป็นครัวสนามให้ประชาชนที่เดือดร้อนได้ฝากท้อง และช่วยเหลือผู้ผลิตสินค้าในชุมชนไปในตัว

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ระบาด นอกจากหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องรับบทหนักเสมือนเป็น “นักรบแนวหน้า” ที่ต้องดูแลรักษาผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด ชีวิตประจำวันค่อนข้างเครียด ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครอง ก็หนักไม่เแพ้กัน เพราะต้องวางมาตรการคัดกรอง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ดูแลทุกข์สุขของประชาชน

ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว ก็ต้องออกตรวจตราความเรียบร้อย ตั้งด่าน ป้องปรามไม่ให้มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย... ขณะที่ประชาชน ก็ต้องยอมอดทนกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุ้นชิน สู่ “ชีวิตวิถีใหม่” และมีจำนวนไม่น้อยที่ตกงาน ต้องเผชิญปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่

ด้วยภารกิจที่เคร่งเครียดนี้ ก็ยังมีบางแง่มุมที่ดูน่ารัก น่าชื่นชม ของผู้ว่าฯ ที่ต้องดูแลบรรเทาความทุกข์ประชาชน ...อย่างกรณี “ผู้ว่าฯ ติ๊ก” นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ...ที่เข้าโรงรับจำนำ เพื่อไปจ่ายเงิน ไถ่ถอนเครื่องมือช่าง อุปกรณ์ทำมาหากิน อย่างสว่านไฟฟ้า หินเจียร์ กระทั่งหม้อหุงข้าว ที่ประชาชนนำมาจำนำ เพราะเงินขาดมือ ซึ่งก็ได้เงินกลับไปกันคนละไม่กี่ร้อยบาท ... เมื่อไถ่แล้วก็ให้ทางโรงรับจำนำติดต่อเจ้าของให้มารับสินทรัพย์คืนไป แถมมีไข่ไก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง ฝากติดไม้ติดมือกลับไปด้วย



ชัยวัฒน์  ชื่นโกสุม
แม้ “ผู้ว่าฯ ติ๊ก” จะกำชับกับทางโรงจำนำว่าไม่ให้บอกว่าใครเป็นผู้มาไถ่ถอนให้ ถ้ามีคนถามก็แค่บอกว่าหากจะตอบแทนคนไถ่ของให้ ก็ให้ไปทำประโยชน์ให้กับสังคม แบบไหนก็ได้ที่ถนัด หรือถ้าวันหนึ่งลืมตาอ้าปากได้แล้ว ก็คืนค่าไถ่ของได้ โดยโอนเงินเข้าบัญชีโรงพยาบาลเลย สมทบทุนสร้างตึก10 ชั้นแทน...

แต่เรื่องของ “คนทำดี” อย่างนี้ สุดท้ายประชาชนก็รู้ ...จึงมีคนโพสต์เรื่องราวในโซเชียล จากนั้นก็มีการแชร์ออกไปอย่างแพร่หลาย ผู้ที่ได้รับรู้ต่างแสดงความชื่นชมในความมีน้ำใจของผู้ว่าฯ ที่ดูแล ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่ละเลยในรายละเอียดที่บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย

เมื่อเรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไป “ผู้ว่าฯ ชัยวัฒน์” ก็ได้กล่าวถึงเรื่องที่ได้ทำไปว่า... ก็ไม่มีอะไรมาก ครูบาอาจารย์เคยสอนตอนที่อยู่วัด ว่าอะไรที่สังคมให้กันได้ ก็ให้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี พระท่านสอนว่าผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ก็ถือว่าเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ผมก็เป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชน พี่น้องประชาชน ก็เป็นกำลังใจให้ผม เพื่อที่ว่าพวกเราจะได้มีแรงทำงานกันต่อไป เป็นเรื่องที่ดีต่อกัน เป็นเรื่องที่ดีต่อบ้านตัวเมือง…

“ผู้ว่าฯ ชัยวัฒน์” เป็นคน จ.เลย เป็นศิษย์เก่าการศึกษาผู้ใหญ่ (กศน.) โรงเรียนผู้ใหญ่เลยพิทยาคม (ภาคค่ำ) ผ่านเอนทรานซ์ มาเรียนที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และจบด้วยเกียรตินิยม อันดับ 2 สอบเป็นปลัดอำเภอ ได้รับราชการ กระทั่ง อายุ 50 ปี ก็ได้รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด

เป็น “ผู้ว่าฯ สิงห์ดำ” ที่ไม่มีคอนนเนกชัน จบการศึกษาผู้ใหญ่ แล้วมาคว้าเกียรตินิยม ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ จนก้าวมาสู่ตำแหน่งพ่อเมือง... ภาพที่คนเมืองเลยเห็นชินตา ก็คือ ผู้ว่าฯใส่ชุดข้าราชการสีกากี ขี่จักรยานไปทำงาน เวลาไปไหนก็ไม่มีรถขบวนนำให้เอิกเกริก ใช้ชีวิตติดดิน ... แต่วันนี้ “ผู้ว่าฯติ๊ก” ที่กำลังเป็น “ผู้ว่าราชการขวัญใจชาวโซเชียล” เป็นหนึ่งใน เน็ตไอดอลดีๆ เป็นแบบอย่างที่ดีของข้าราชการไทย ที่อยู่ในหัวใจประชาชน

… เรื่องราวของผู้ว่าฯที่อยู่ในกระแสโซเชียล จากการทำความดี ได้ใจประชาชน ใช่ว่าจะมีแค่ที่เมืองเลย ...จังหวัดอื่นๆ ก็มี อย่างที่ จ.กระบี่ ที่ “พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร” เป็นพ่อเมือง... ด้วยความที่เป็นจังหวัดชายฝั่งอันดามัน มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนมากมายโดยเฉพาะชาวจีน เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โอกาสที่ประชาชนจะติดเชื้อ และแพร่กระจายออกไปในวงกว้างย่อมมีสูง

พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร
ท่านผู้ว่าฯ “พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี” ก็ประกาศนโยบายออกมาว่า ให้ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องไม่ปกปิดข้อมูล ใครติดเชื้อให้ออกมาแสดงตน ทางจังหวัดมอบเงินให้วันละ 500 บาท ในช่วงรักษาตัวจนกว่าจะรักษาหาย นอกจากนี้ ยังประสานไปที่ อบจ.กระบี่ มอบเงินให้ครอบครัวผู้ติดเชื้ออีกรายละ 10,000 บาท เพื่อให้ครอบครัวมีเงินใช้จ่ายในช่วงที่ต้องอยู่โรงพยาบาล เป็นการสนับสนุนไม่ให้มีการปกปิดข้อมูลการติดเชื้อ เพื่อที่จะให้เชื้อโควิด-19 หมดไปจาก จ.กระบี่ สถานการณ์จะได้คลี่คลาย หากปล่อยให้นานไป ก็จะยิ่งเสียหายต่อจังหวัด และประชาชน

และในช่วงที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ต้องตั้งด่านตรวจ คัดกรอง ผู้ว่าฯกระบี่ ก็มีไอเดีย ตั้งโครงการ “ซื้อ OTOP ใส่ตู้กับข้าวเพื่อชาวกระบี่” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการตั้งตู้กับข้าวประจำด่านตรวจ เพื่อดูแลเรื่องปากท้องของเจ้าหน้าที่ ...ส่วนประชาชนที่เดือดร้อน ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินซื้ออาหาร ก็สามารถมารับข้าวกล่อง หรืออาหารจากจุดตรวจใกล้บ้าน พอได้อิ่มท้อง ...นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ สินค้าชุมชน และ สินค้า otop ในท้องถิ่นด้วย

โดยโครงการนี้ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. โดยมีเจ้าหน้าที่ อสม. และชาวบ้านจิตอาสา มาช่วยกันปรุงอาหารบรรจุกล่อง เพื่อแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนที่มาขอความช่วยเหลือ... ถึงวันนี้ มีจุดตรวจคัดกรองที่เข้าร่วมโครงการ “ตู้กับข้าว ชาวกระบี่” แล้วเกือบ 200 จุด กลายเป็นโรงครัวภาคสนาม ที่สามารถแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทำงานควบคู่ไปกับการคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

ที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของการดูแลทุกข์สุขประชาชน ในยามที่ต้องเป็นผู้นำในการฝ่าวิกฤตครั้งสำคัญของประเทศชาติ และประชาชน และเชื่อมั่นว่ายังมีอีกหลายจังหวัด ที่ผู้ว่าฯ และฝ่ายปกครอง ได้ดูแลประชาชนอย่างดีเช่นกัน แม้จะไม่เป็นข่าวก็ตาม...

แต่ขอให้เชื่อว่า “ทำดีย่อมมีคนรู้” ถึงจะไม่เป็นกระแสฮือฮาในโลกโซเชียลฯ แต่คนในจังหวัดนั้นๆ ย่อมรับรู้และสัมผัสได้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น