ในขณะที่ภาครัฐกำลังรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” รวมไปถึงการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้ประชาชนคนไทยเดินทางออกจากบ้านน้อยลง อาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ได้กลายเป็นสิ่งของจำเป็นในระหว่างที่ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน ส่งผลให้ธุรกิจการบริการส่งอาหารออนไลน์และเทรนด์การทำอาหารที่บ้านมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร้านอาหารไม่อนุญาตให้ผู้บริโภคมารับประทานอาหารที่ร้าน และประชาชนส่วนใหญ่เริ่มปฏิบัติการรักษาระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing
เพื่อที่อยู่จะรอดในวิกฤตเช่นนี้ ธุรกิจอาหารต้องเริ่มดำเนินการปรับตัวจากการหยุดชะงักของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สามารถคาดเดาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอาหารท้องถิ่นและธุรกิจกลาง-เล็ก (SMEs) ที่ไม่ได้มีเครือข่ายความปลอดภัยรองรับจากการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทต่างชาติ เจ้าของธุรกิจในไทยจึงต้องเริ่มมองหาทางออกเพื่อให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจท่ามกลางวิกฤตในครั้งนี้ โดยสามารภเริ่มต้นได้จากการรักษาพนักงานไว้กับองค์กร การลงทะเบียนการบริการส่งอาหารในช่องทางออนไลน์เพื่อขยายช่องทางในการทำธุรกิจ การมีมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารที่เข้มงวด วิกฤตการณ์ในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวและการพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ที่มีมาตรฐานระดับโลกด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้ร่วมมือกับ บริษัท ธรรมชาติ ซีฟู้ด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าปลีกอาหารทะเล เช่น อาหารทะเลสด แช่แข็ง รมควัน ฯลฯ ที่มีเคาน์เตอร์อาหารทะเลในห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ เพื่อแบ่งปันแนวทางในการดำเนินธุรกิจอาหารอย่างไรให้ประสบความสำเร็จในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (COVID-19)
1. สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหารและความสะอาด
สิ่งที่ผู้บริโภคมีความกังวลและให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ผู้บริโภคต้องการความเชื่อมั่นว่า ผู้ผลิต ร้านอาหาร และบริการส่งอาหารออนไลน์ ได้ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยอย่างจริงจังเพื่อที่จะป้องกันการปนเปื้อนของไวรัสในอาหาร โดยมีหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนในเรื่องนี้ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารของนอร์เวย์ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านอาหารทะเล ปลาและอาหารทะเลจากนอร์เวย์ไม่สามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัสและไม่มีความเสี่ยงต่อผู้บริโภค
อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) เผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการผลิตอาหารทะเลในนอร์เวย์ว่า “การส่งออกอาหารทะเลเป็นธุรกิจหลักของนอร์เวย์ ความรับผิดชอบสูงสุดของเราคือการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชั้นเยี่ยมให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก เรายังคงดำเนินการรักษาการผลิตอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการการดูแลสุขอนามัยที่เข้มงวดและมาตรการตรวจวัดการปนเปื้อนในอาหาร เพื่อสามารถทำให้มั่นใจได้ว่าความปลอดภัยด้านอาหารโดยเฉพาะแซลมอนนอร์เวย์ไม่พบความเสี่ยงแต่อย่างใด และมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศนอร์เวย์ยังคงรักษาไว้ในระดับสูงสุด”
ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติ ซีฟู้ด ได้กำหนดมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยในการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด ทั้งในสถานที่ทำงานและสุขอนามัยส่วนบุคคลของทีมงาน รวมถึงจัดให้มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดในพื้นที่คลังสินค้าทุกวัน และบริการอบฆ่าเชื้อโรค (Fumigation) ที่คลังสินค้าทุก 1 เดือน เพื่อมาตรฐานและความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
2. นำเสนอสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลง
เนื่องจากเทรนด์ของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นการรับประทานอาหารที่บ้าน ธุรกิจอาหารจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวและนำเสนอสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสร้างความแตกต่างของสินค้าจากคู่แข่งขันในตลาดให้ได้มากที่สุดทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าอาหารทะเลแปรรูปที่บรรจุในแพคพร้อมทาน, อาหารแช่แข็งที่สามารถเก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้น
ทางอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ได้ปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยยังคงรักษามาตรฐานและศักยภาพในการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับความต้องการในการบริโภคอาหารทะเลจากนอร์เวย์ที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ธรรมชาติ ซีฟู้ด ได้เพิ่มการสื่อสารไปยังผู้บริโภค โดยนำเสนอหลากหลายเมนูอาหารที่ทำจากแซลมอนนอร์เวย์ เพื่อเป็นไอเดียให้กลุ่มผู้บริโภคว่าปลาแซลมอนเป็นเมนูที่ดีต่อสุขภาพ ง่าย และสามารถทำทานได้เองที่บ้าน
3. ส่งเสริมสวัสดิการและสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานแก่พนักงาน
ธุรกิจจะไม่สามารถอยู่รอดได้หากขาดบุคลากรในการทำงาน วิกฤตการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ได้ส่งผลให้เกิดอัตราการตกงานที่สูงขึ้น ซึ่งสร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้บริโภคเริ่มที่จะตระหนักถึงคุณค่าของพนักงานที่มีความเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น อาทิ คนทำอาหาร แม่บ้าน พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ต พนักงานขับรถดีลิเวอรี โดยพนักงานเหล่านี้คือผู้ที่คอยทำให้ระบบการจัดการต่างๆ ยังคงดำเนินการได้ปกติ ในขณะที่ประชาชนทั่วไปเริ่มทำงานจากบ้าน
ในฐานะและความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการ การสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้มีความปลอดภัยนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก
ศันสนีย์ แกทเทนบี้ เดวี่ส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ธรรมชาติ ซีฟู้ด รีเทล เผยถึงนโยบายของบริษัทในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงานทุกคน “เราให้ความสำคัญกับสวัสดิการของพนักงานมาเป็นอันดับแรก บริษัทฯ กำหนดให้มีมาตรการการดูแลด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด รวมถึง การเตรียมสภาพแวดล้อมการทำงานโดยเฉพาะความสะอาดและปลอดภัยในพื้นที่การผลิตอาหารซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอาหาร เรามีนโยบายไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่การผลิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าเราได้ส่งมอบอาหารที่สด สะอาด ปลอดภัย ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงส่งตรงถึงผู้บริโภคอย่างแท้จริง”
4. รักษาแนวทางการสื่อสารที่รวดเร็วและการสื่อสารในเชิงบวก
สถานการณ์ปัจจุบันอาจจะดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายและสิ้นหวัง โดยไม่มีวี่แววจะจบในเร็วๆ นี้ มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นสูงสำหรับประชาชนทั่วไปที่กักตัวอยู่ที่บ้าน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคต้องการมากที่สุด คือ การสื่อสารที่รวดเร็วและอัปเดตอย่างต่อเนื่องจากแบรนด์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคในสภานการณ์เช่นนี้
สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) ได้มีการพูดคุยอย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมอาหารทะเล สถาบันวิจัยทางทะเล ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้ออกมาบอกถึงจุดยืนเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าระบบการทำงานที่สำคัญยังสามารถดำเนินการทำงานได้อย่างปกติ เช่น ข้อมูลสำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณส่วนแบ่งและสินค้าที่มีในสต๊อก เพื่อให้ชาวประมงและประเทศต่างๆ ที่มีการร่วมมือระหว่างประเทศ เตรียมความพร้อมและประเมินผลจากข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถแจ้งผู้บริโภคเกี่ยวกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง
สำหรับธรรมชาติ ซีฟู้ด ได้เพิ่มกลยุทธ์ในการสื่อสารโดยเน้นเนื้อหาการสื่อสารในเชิงบวกมากขึ้น เพื่อมุ่งสร้างความสุขและรอยยิ้มให้ผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบัน ผ่านทางสื่อออนไลน์ อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจากการเลือกซื้อสินค้าในห้างมาสู่การเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางดีลิเวอรี เพื่อตอบความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมทำอาหารหรือสั่งอาหารมากินที่บ้าน
ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่สามารถปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านอาหาร ผู้บริโภคก็ยังคงมีความยินดีที่จะคอยสนับสนุนให้ธุรกิจนั้นดำเนินต่อไปได้ในระยะยาวเช่นกัน
สามารถรับชมคลิปตัวอย่างจาก ธรรมชาติ ซีฟู้ด ที่มีเคล็ดลับการส่งเสริมสวัสดิการและสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานแก่พนักงาน และการรักษาแนวทางการสื่อสารที่รวดเร็วและการสื่อสารในเชิงบวก ได้ที่ https://bit.ly/3aaE0uq