xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights &:กฤติโควิด-19 ทำให้ชีวิตของคนจีนเปลี่ยนไปอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เขียน ร่มฉัตร จันทรานุกูล, University of International Business and Economics.

หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ดำเนินมากว่า 3 เดือน ความเข้มข้นในการแก้ปัญหาและหยุดการระบาดในประเทศของจีนเป็นผล ทำให้จีนพยายามที่จะเร่งให้การกลับมาใช้ชีวิตของประชาชนเป็นปกติได้เร็วที่สุดเพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มาจากการหยุดชะงัก จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปในหลายภาคส่วน

หลายท่านอาจจะทราบแล้วว่าวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางการจีนประกาศเปิดเมืองอู่ฮั่น หลังจากเมืองอื่น ๆ ในมณฑลหูเป่ยได้ทยอยเปิดไปก่อนหน้าในวันที่ 25 มี.ค. นั่นหมายความว่า เมืองอู่ฮั่นกำลังจะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ชีวิตของประชาชนเริ่มกลับมาเหมือนเดิมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

การเปิดเมืองอู่ฮั่นสำคัญกับการเดินทางเข้าออกของประชาชน ทุกอย่างยังคงต้องเป็นกระบวนการ มีโค้ดสีเขียวยืนยันการมีสุขภาพแข็งแรง (ฟังก์ชั่น Healthty Code ในมือถือ ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมควบคุมโรค) เป็นเหมือนใบอนุญาตเดินทาง การเดินทางข้ามเมืองไปเมืองจุดมุ่งหมายต้องกักตัว 14 วันและปฎิบัติตามกฎของพื้นที่อย่างเคร่งครัด อย่างเช่น ผู้เดินทางจากอู่ฮั่นที่จะเข้ามาปักกิ่ง นอกจากมีโค้ดสีเขียวแล้วต้องมีการตรวจโควิดสองรอบคือทั้งขาออกจากอู่ฮั่นและขาเข้ามาในปักกิ่ง เมื่อมาถึงแล้วจะต้องกักตัว 14 วันที่สถานที่ที่ถูกจัดไว้ให้
ทั้งนี้การขออนุญาตเดินทางออกไปทำงานของคนอู่ฮั่นยังจัดประเภทของอาชีพด้วย เช่น อาชีพพนักงานโรงงานต้องรีบกลับไปทำงานก่อนก็ได้ออกก่อน อาจารย์หรือนักวิจัยได้อนุญาตหลังสุดเพราะมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศยังไม่เปิดเทอม เป็นต้น

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่รากหญ้าไปจนถึงเจ้าของกิจการ ประชาชนจีนตระหนักกับวิกฤตินี้ ทุกคนมีความวิตกกังวลและรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไปกับการที่ประสบกับสิ่งที่ไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้ประชาชนจีนกลับมาใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชนสูงขึ้น ต้นทุนข้าวของบางอย่างแพงขึ้น อัตราการว่างงานของจีนจาก 4 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์

นอกจากรัฐบาลจีนพยายามประคองเศรษฐกิจแล้ว ตัวประชาชนเองก็ต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนให้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือการ “ปรับตัว” เพราะความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและความไม่แน่นอน ทำให้คนจีนหลายคนมีทัศนะคติการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

ผู้เขียนรวบรวมสรุปประเด็นเหล่านี้จากคนรอบตัวและในบล็อกเกอร์จีนต่าง ๆ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น โดยสรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ประการแรก - "เงินสด"
การมีเงินสดสำรองไว้ใช้สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ในช่วงที่โควิดระบาดนี้ประชาชนจำนวนมากหยุดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มีบริษัทหลายที่เลิกจ้างพนักงานหรือจ่ายแค่เงินเดือนขั้นต่ำเท่านั้น จีนมีคำกล่าวที่ว่า “现金为王”(Xian Jin Wei Wang) เงินสดคือพระราชา เพราะเมื่อถึงเวลาฉุกเฉินอย่างต้องนอนโรงพยาบาลหรือถูกพัก ถูกให้ออกจากงาน การมีเงินสดอย่างเพียงพอเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมา คนจีนนิยมลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือเอาเงินสดแปลงเป็นอสังหาริมทรัพย์หมด จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติจีนทรัพย์สินของประชาชนจีนมากกว่า 60% หรืออาจจะมากกว่า 70% อยู่ในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทุกวันนี้อสังหาริมทรัพย์ในจีนซื้อง่าย ขายยาก ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากโควิดเท่านั้น แต่เพราะอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์มือสองในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ปรับตัวเฉลี่ยลดลง 10-20% หรืออาจจะมากกว่านั้น ราคาเช่าบ้านทรงตัวจากปกติที่ปรับขึ้นทุกปีปีละ 5-10% และจากราคาสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ประชาชนจีนประหยัดเงินกันมากขึ้นไปอีก

ปัจจุบันถึงแม้ว่าสภาวะการใช้ชีวิตเริ่มกลับมาเป็นปกติในหลายพื้นที่ แต่การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยของคนจีนก็ชะลอตัวลงอย่างมากเลยทีเดียว ดังนั้นคนจีนหลายคนเห็นว่าหลังโควิดผ่านไปจะเก็บเงินสดมากขึ้นและลดหรือตัดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ประการที่ 2 - “Cloud Life”
“Cloud Life” กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนมากขึ้น จากการระบาดขึ้นมาของโรคโควิด-19 รัฐบาลจีนได้หยิบเรื่อง 5G ขึ้นมาเป็นวาระสำคัญให้เพิ่มอัตราเร่งการนำมาใช้ให้กว้างขวางเนื่องจากผลกระทบจากโควิด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนเปลี่ยนไปเป็นแบบออนไลน์มากขึ้น อย่างไม่มีทางเลี่ยง ทั้งด้านการทำงาน การเรียน การแพทย์ อสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจอาหาร ธุรกิจบันเทิง เป็นต้น

กิจกรรมหลายอย่างเปลี่ยนจากออฟไลน์ขึ้นไปบนออนไลน์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการมีเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูงมารองรับเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิดหนักในอู่ฮั่น การตรวจรักษาผู้ป่วยและการผ่าตัดผู้ป่วยทางไกลได้นำเทคโนโลยี 5G เข้ามาใช้มากขึ้น การเปิดบริการหาหมอออนไลน์ในแผนกผู้ป่วยที่มีไข้ ทำให้ประชาชนลดการไปแออัดที่โรงพยาบาล เป็นต้น

คนยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในชีวิต ในหลายธุรกิจภาคส่วยของจีนหลังจากนี้จะต้องมีการปรับตัวกันมากเลยทีเดียว ดังนั้น“Cloud Life”จะพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและเข้าถึงชีวิตของผู้คนในทุก ๆ ด้าน

ประการที่ 3 - “Share Worker”
“Share Worker” เป็นโมเดลการแชร์พนักงานในภาคธุรกิจบริการ กำลังจะเป็นเทรนต์ต่อไปในอนาคต เนื่องมาจากโควิด-19 อีกเช่นกันที่หลายธุรกิจบริการออฟไลน์(ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย โรงหนัง สถานบริการบันเทิงต่างๆ ที่ต้องรอลูกค้าเดินเข้าไปใช้บริการ)ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และต้องปิดตัวเป็นเวลานานหลายเดือน รายได้ของร้านที่หดหายไปกระทบไปถึงการจ้างงานพนักงาน แต่ในช่วงวิกฤตินี้ก็มีธุรกิจบริการบางประเภทที่ต้องการคนงานชั่วคราวมากขึ้น เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์กระจายสินค้า โลจิสติกส์และเดลิเวอรี่ขนส่งอาหาร เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้ต้องการคนในการขับเคลื่อน แนวคิดการ Share Worker เริ่มมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ตเหอหม่า(He Ma)ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของอะลีบาบา ซึ่งหลังจากการระบาดของโควิดยอดการสั่งซื้อออนไลน์ของประชาชนเพิ่มมากไปหลายเท่าตัว พนักงานประจำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตเหอหม่า ได้เข้าไปร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเซ็นสัญญาร่วมมือเพื่อดึงเอาพนักงานร้านอาหารที่ว่างงานอยู่ เข้ามาทำงานในเหอหม่าชั่วคราว ทั้งนี้ต้องได้รับการยินยอมจากตัวบุคคลากรด้วย แน่นอนว่าพนักงานทั่วไปก็ต้องการมีงานทำให้เร็วที่สุด ทำให้โมเดลนี้เป็นที่ยอมรับของพนักงานทั่วไปอยู่ไม่น้อย

โมเดล Share worker นี้กลายเป็นจุดประกายของบริษัทต่าง ๆ ที่จะสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาและแชร์พนักงานกัน ซึ่งก็เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งยังลดการว่างงาน หลีกเลี่ยงการปลดพนักงานลงอีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นคนจีนในภาคใช้แรงงานต้องปรับตัวกันมากทีเดียว การมีทักษะการทำงานพื้นฐานที่หลากหลายกลายทำให้มีทางเลือกในการทำงานมากยิ่งขึ้น งานนี้แรงงานจีนต่างพากันให้ความสำคัญถึงการพัฒนาทักษะแบบบูรณาการมากขึ้น อย่างเช่น คนที่เป็นพ่อครัวก็ต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ให้คล่อง เป็นต้น

ประการที่สี่ - "ประกันชีวิต"
ประชาชนจีนให้ความสำคัญกับการซื้อประกันชีวิตมากขึ้น นอกเหนือจากประกันสังคมที่มีอยู่ ตลาดประกันชีวิตของจีนเพิ่งเริ่มจะขึ้นมาบูมประมาณ 10 ปีนี้และยังไม่ถึงจุดเติบโตสูงสุด

ที่ผ่านมา การซื้อประกันชีวิตของคนจีนจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางระดับกลางถึงสูงขึ้นไป ระยะหลังมารัฐบาลจีนเริ่มเข้าไปกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยมากขึ้นและมีบริษัทประกันจำนวนมากมีรัฐเข้าไปถือหุ้น ทำให้ธุรกิจประกันภัยในจีนเข้าร่องเข้ารอยมากขึ้นและประชาชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด ผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิดในจีนก็มีออกมาเช่นกัน แต่การประชาสัมพันธ์และความนิยมไม่ได้เป็นที่กว้างขวางนัก เนื่องจากภายหลังการรักษาโควิดของประชาชนจีนถูกยกให้เป็นการรักษาฟรี

แต่กระนั้นการซื้อประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงของคนจีนมีแนวโน้มมากขึ้นทั้งในช่วงนี้และหลังจากนี้ เพราะการตระหนักถึงความไม่แน่นอนและต้องการสร้างประกันให้กับชีวิตตนเองในอนาคต ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญจีนได้ออกมากล่าวว่าธุรกิจประกันชีวิตจีนจะก้าวเข้าสู่ยุคเติบโตใหม่เลยทีเดียว

จากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน”การมาของโควิดในวันนี้ไม่มีใครคาดการณ์มาก่อน ในด้านของจีนการป้องกันการระบาดยังเป็นงานหนัก และยังไม่ใช่เวลาที่ทุกคนจะหละหลวมหรือวางใจได้ ในด้านชีวิตทั่วไปของประชาชนต้องเรียนรู้ ปรับตัวและพร้อมรับมือกับอนาคตนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น