นายกฯ เผย ครม.พิจารณาต่อไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อังคารหน้า ลั่นต้องรอบคอบ ไม่เคยประกาศจะยกเลิก 1 พ.ค.นี้ หวั่นไม่เข้มที่ทำมาจะเป็นศูนย์เรียกคืนไม่ได้ พ้ออย่าตั้งแง่รบ.ปมเงินเยียวยา บอกผ่อนปรนแค่ไหนสธ.ตัวชี้วัด
วันนี้ (21 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวถึงการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า เรื่องการพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้า ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร อย่างที่บอกทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือ สถิติต่างๆ และทางด้านการสาธารณสุขจะเป็นตัวชี้วัดสิ่งเหล่านี้ ในเรื่องการผ่อนปรนมาตรการวันนี้ให้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ในเรื่องการขนส่งสินค้าของภาคประชาชน ซึ่งที่มีการร้องเรียนมาบางทีก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ตนได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานความมั่นคงดูแลในเรื่องนี้ และดูแลประชาชนในส่วนนี้ด้วย จริงๆแล้วมีข้อผ่อนปรนอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ทั่วถึง อาจจะยังไม่เข้าใจกัน ดังนั้นเรื่องการขนส่งสินค้าของประชาชนขอให้หน่วยงานในพื้นที่ได้พิจารณาด้วย
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังมีอยู่จำนวนมาก ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ขอให้ทุกคนร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งจะเห็นตัวเลขต่างๆที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง ผู้รักษาหายมากขึ้น มันเกิดจากที่พวกเราทุกคนร่วมมือกัน คงไม่ใช่รัฐอย่างเดียว หากประชาชนร่วมมือกันมากก็จะลดลงได้มาก และเรื่องการผ่อนปรนก็จะมากขึ้นในอนาคต วันนี้ที่สั่งการไป ตนไม่ได้ประกาศว่าจะเลิกวันที่ 1 พ.ค. หรือวันที่อะไรต่างๆ ไม่เคยพูดตรงนี้ เพราะตนบอกแล้วว่าต้องดูสถิติต่างๆให้มีความรอบคอบ การผ่อนปรนอะไรก็ตามผู้ประกอบการต่างๆต้องเสนอมาตรการของตัวเองขึ้นมาให้รับทราบว่าจะทำอะไรได้บ้าง เช่น การเตรียมเรื่องสถานที่ เจ้าหน้าที่จะต้องปลอดภัย มีการตรวจโรคอะไรต่างๆ ตรวจเชื้อให้รัดกุม มีมาตรการเว้นระยะห่าง มีการกำหนดจำนวนคน การกันพื้นที่ มันต้องทยอยเปิดได้เป็นบางส่วน ในระยะต่อไปแต่ตนยังไม่บอกว่าจะมาเมื่อไหร่ ท่านก็เตรียมความพร้อมของท่าน และเสนอมาให้ทราบในส่วนที่ต้องการให้เปิด แต่บางอย่างเมื่อพิจารณาแล้วก็ยังไม่เหมาะสมก็ไม่เปิด แต่ทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นคือสุขภาพ ถ้าที่มีการบาดเจ็บ สูญเสีย ล้มตายกันมากกว่านี้แล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถ้าทำอะไรเร็วเกินไป มีแรงกดดันสูง โดยที่มันไม่ใช่สาระสำคัญมากนัก แต่เป็นการระดมให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล หรือให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมา สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดจะสูญเสียเป็นศูนย์ในทันที และจะเรียกกลับมาไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน จึงจะมีมาตรการดังกล่าวมาได้ อันนี้ขอให้รับทราบด้วย
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลมีวัตถุประสงค์ว่าทำอย่างไรจะดูแลประชาชนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตนี้ให้ได้ และที่สำคัญประชาชนต้องดำรงชีวิตอย่างพอเพียงในช่วงนี้ ซึ่งก็เห็นใจ อย่างไรก็ตาม หลายอย่างหลายมาตรการได้มีการผ่อนคลาย ยืดระยะเวลา มีการให้กู้เงินอะไรต่างๆ ก็แทบจะครอบคลุมอยู่แล้ว ไม่อยากให้มองในแง่ของเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียว ต้องติดตามอย่างอื่นด้วย ว่ารัฐบาลดูแลอะไรประชาชนไปแล้วบ้าง หลายกระทรวงหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้งบประมาณปกติก็มีอยู่ อย่ามองว่าแค่นี้น้อยเกินไปหรือเปล่า ฉะนั้นต้องเห็นใจเรามีเงินเท่าไหร่ กู้เงินมาได้เท่าไร และจะใช้อย่างไร ภาระวันหน้าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องคิดอย่างรอบคอบ