นายกฯ ยินดีตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ลดต่อเนื่อง ขอเวลาประเมินรอบด้านก่อนพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ ชี้ ยังวางใจไม่ได้ ห่วงหย่อนมาตรการไวรัสโจมตีซ้ำ แนะทุกกิจการเตรียมความพร้อมหากกลับมาเปิด ย้ำร้อนใจกว่าใคร เพราะต้องดูแลทุกคน
วันนี้ (15 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทยอยลดลงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดให้รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. จะพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์และหลักการทางด้านสาธารณสุขอีกครั้ง ว่า เราจะสามารถผ่อนปรนอะไรได้บ้างหรือไม่ แต่ในช่วงนี้ต้องขอเวลาอีกสักระยะหนึ่งก่อน เพราะต้องระมัดระวังยังมีความเสี่ยงสูงในการมาชุมนุมหรือรวมตัวกัน ดังนั้น เรื่องการผ่อนปรนอะไรต่างๆ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเตรียมการไว้แล้วว่า ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจริงจะลดได้อย่างไร หรือถ้าไม่ดีขึ้นจะเพิ่มความเข้มงวดได้อย่างไร ซึ่งตนก็ไม่อยากให้ไปสู่ตรงนั้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนทุกคนทุกภาคส่วน
“ผมทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน ท่านยิ่งร้อนใจผมยิ่งร้อนใจกว่า เพราะผมเป็นรัฐบาลที่ต้องดูแลท่าน ขอให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเราจะประเมินอีกครั้ง ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. ระหว่างนี้ก็กำลังหามาตรการที่เหมาะสมอยู่ หาหนทางที่ดีที่สุดและถ้าหากมีการผ่อนปรนเหล่านี้ ก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมดมันก็คือปัญหา เพราะบางพื้นที่ก็มีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว คือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ ภาคใต้ จึงต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้กลับมาระบาดใหม่ในทุกมิติ ทุกกิจการต้องเตรียมความพร้อมของท่านไว้ด้วย ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมอย่างไรเมื่อจะเปิด และถ้าเปิดจะมีมาตรการดูแลอย่างไร ไม่ว่าเรื่องของการใช้แอลกอฮอล์ การตรวจเข้าออก และปริมาณคนที่เข้ามาในพื้นที่ในหลายๆกิจการด้วยกัน” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวันที่ 26 เม.ย.ที่จะครบวันประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีการต่ออายุหรือขยายมาตรการเคอร์ฟิวต่อหรือไม่นั้น เรื่องนี้จะอยู่ในการประเมินของ ศบค. ที่จะต้องไปคิดวิเคราะห์และชั่งน้ำหนักในหลายๆ ด้าน แม้สถานการณ์แนวโน้มในขณะนี้จะลดลงบ้างในบางจังหวะและบางช่วง ซึ่งอาจหมายความว่า เราป้องกันการแพร่ระบาดได้ดี แต่หากเราขาดความร่วมมือแล้วหย่อนวินัยและหย่อนความเข้มงวดลงไป โรคระบาดก็จะกลับมาโจมตีเราได้อีก อย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้น ตนทราบดีว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลกระทบและความเดือดร้อน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องหามาตรการอื่นๆ มาทดแทน ดังนั้น ต้องขอให้ทุกคนเข้าใจตรงนี้ด้วย