xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.ขอเอกชนให้ทำงานที่บ้านต่อหลังรถเริ่มติด ย้ำผ่อนปรนไม่ใช่ยกเลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก ศบค.แถลงวอนเอกชนคงมาตรการทำงานที่บ้าน หลัง กทม.รถเริ่มติด เผยผ่อนปรนไม่ใช่ยกเลิก ชี้ ปชช.ตามจังหวัดต้องการอิสระขึ้นอยู่ความร่วมมือ ขณะที่คนกรุงครองแชมป์แหกเคอร์ฟิว

วันนี้ (21 เม.ย.) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,811 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 109 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 655 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 48 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 48 เป็นชายไทยอายุ 50 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ มีโรคประจำตัวเบาหวาน สูบบุหรี่ มีประวัติขับรถไปส่งผู้โดยสารที่สนามมวยลุมพินี เริ่มหายใจลำบาก มีไข้ต่ำ ไอในวันที่ 18 มี.ค. และเข้ารับการตรวจเบื้องต้นที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม. โดยรับยากลับไปทานที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น วันที่ 23 มี.ค.จึงกลับมารักษาตัวอีกครั้ง มีไข้สูง 39.5 ปวดกล้ามเนื้อ มีเสมหะเพิ่มขึ้น ผลตรวจยืนยันเป็นโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 20 เม.ย. ขณะเดียวกัน ความร่วมมือที่ผ่านมายังทำให้โรงพยาบาลต่างๆ มีเตียงว่างมากขึ้น เพียงพอต่อการรับผู้ป่วย ดังนั้น จึงขอให้ร่วมมือกันต่อไป

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยใน จ.สตูล 19 ราย เป็นบุคคลที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐทั้งหมด ไม่มีผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัด จึงต้องขอบคุณ จ.สตูล ที่รับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้าไปดูแลในพื้นที่ และขอปรับ จ.สตูลไปอยู่ในจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วย รวมกับ 9 จังหวัดก่อนหน้านี้ รวมเป็น 10 จังหวัด นอกจากนี้ มีจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นในช่วง 14 วัน อีก 1 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี รวมจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน 36 จังหวัด และในรอบ 7 วันที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเข้ามาเพียง 11 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ กทม. นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ยะลา ปัตตานี สงขลา กระบี่ นราธิวาส ขอนแก่น ชุมพร ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่กักตัวของรัฐ 71 ราย ส่วนอาชีพที่ติดเชื้อมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รับจ้างทั่วไป ฟรีแลนซ์ 395 ราย ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว 308 ราย พนักงานบริษัท โรงงาน 235 ราย พนักงานในสถานบันเทิง 176 ราย นักเรียน นักศึกษา 164 ราย ช่วงอายุระหว่าง 20-39 ปี ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกลุ่มนี้ เพราะเป็นช่วงอายุที่เป็นพาหะนำเชื้อโรค

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยทั่วโลก 2,481,287 ราย เสียชีวิต 170,436 ราย ในทวีปเอเชียนั้น ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา สิงคโปร์มีผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด 1,426 ราย ญี่ปุ่น 338 ราย ฟิลิปปินส์ 200 ราย อินโดนีเซีย 185 ราย หากดูข้อมูลในประเทศสิงคโปร์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีอยู่ในประเทศกว่า 3 แสนคน อาศัยอยู่ในหอพักขนาดใหญ่ที่มีคนอยู่หลักพันคน ใน 43 แห่ง แต่ละห้องอยู่กันแบบแออัด 12-20 คน ประกอบกับพื้นที่สิงคโปร์มีขนาดเล็ก และพบว่าผู้ป่วยกลุ่มแรกในสิงคโปร์เริ่มจาก 4 คน จากนั้นขยายใหญ่เป็นเวลาพันคนในเวลารวดเร็ว ถึงวันนี้เพียงไม่กี่วัน ได้ไต่ระดับต้นๆ ของกลุ่มอาเซียน น่ากังวลใจมาก ทางสิงคโปร์จึงล็อคดาวน์หอพักทุกแห่ง ไม่ให้เคลื่อนย้ายระหว่าง มีการตั้งศูนย์ขึ้นมาดูแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ และทุกคนจะได้รับค่าจ้างระหว่างกักตัว ซึ่งเป็นการควบคุมการระบาด เราจึงต้องเรียนรู้จากเขาในการดูแลแรงงานต่างด้าวในประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้สแกนดูพื้นที่ที่แรงงานต่างด้าวพักอาศัยว่าเป็นอยู่อย่างไร รวมถึงตั้งพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ทำหน้าที่คล้ายกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อให้ความรู้และดูแลกันเอง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 20 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 21 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 963 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 33 ราย ชุมนุมมั่วสุม 65 ราย ลดลงจากคืนก่อน 21 ราย จึงขอความร่วมมืออย่าออกจากบ้านถ้าไม่มีความจำเป็น ให้ถือว่าเรายังอยู่ในช่วงการเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด ที่สำคัญ ขอให้ครอบครัวตักเตือน เพื่อตำรวจจะได้ไม่ต้องเข้าจับกุม ส่วนจังหวัดที่มีฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ กทม. ปทุมธานี สมุทรปราการ ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา ราชบุรี นนทบุรี บุรีรัมย์ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการกระทำผิด ได้แก่ สิงห์บุรี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ นครพนม ขณะที่คนไทยที่จะเดินทางกลับจากประเทศ วันนี้เดียวกันนี้จะมีคนไทยจากไต้หวัน 120 คน และญี่ปุ่น 100 คน โดยคนเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในสถานกักตัวของรัฐทั้งหมด ทั้งนี้ มีข่าวดีเรื่องของการจัดสถานที่ในลักษณะของไอซียู ความดันลบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ปรับปรุงอาคารอายุ 37 ปี ที่สภาพยังใช้งานได้อยู่มาเป็นห้องความดันลบ รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการไม่หนักมากและสามารถอยู่รวมกันได้จำนวนมากแห่งแรกของไทย ซึ่งมีระบบอากาศถ่ายเท

เมื่อถามว่า วันนี้การจราจรใน กทม.เริ่มมาติดขัด สะท้อนได้หรือไม่ว่าคนเริ่มกลับมาทำงาน ไม่ได้ทำงานอยู่บ้านแล้ว เรายังจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้คนยังทำงานอยู่บ้านอยู่ใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรายังอยู่ในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังรณรงค์ให้ลดการเดินทาง วันนี้เรามีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ต่ำกว่า 20 ราย เพราะคนไทยร่วมมือกัน หลายคนหลายเบาใจได้ แต่วางใจยังไม่ได้แน่นอน เนื่องจากมีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ให้เห็น ดังนั้น ต้องขอความร่วมมือเอกชนถ้าสามารถสั่งทำงานที่บ้านได้ก็ให้ทำ รัฐยังยืนยันมาตรการนี้อยู่

เมื่อถามต่อว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นระลอกใหม่ ทางไทยจะป้องกันการระบาดระลอกใหม่อย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเคอร์ฟิวมีส่วนช่วยและเป็นผลดี แต่การจะผ่อนปรนหรือยกเลิกต้องเรียนรู้จากประเทศต่างๆ ส่วนประเทศไทย อธิบดีกรมควบคุมโรคได้แจ้งให้ที่ประชุมวงเล็กเข้าใจว่า 1. การผ่อนปรนไม่ใช่การเลิก 2. การผ่อนปรนต้องควบคู่ไปกับการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯและเคอร์ฟิว 3. มีจุดจัดการปฏิบัติการด้านต่างๆ เป็นหลักการสามข้อ แน่นอนว่าไม่ได้มีการยกเลิก แต่การผ่อนปรนจะเกิดขึ้นที่จังหวัดไหน เวลาไหน ขึ้นอยู่กับสถิติเหมือนที่นายกฯระบุไว้

“ประชาชนจังหวัดไหนต้องการอิสระเสรีขึ้นอยู่กับความร่วมมือของท่าน ใครทำกรรมดีไว้ก็ส่งผลดีให้ได้ ถ้าร่วมมือดีก็จะทำให้มีพื้นที่ในการที่จะทำอะไรต่างๆ ได้มากขึ้น และในระยะเวลาอันสั้นรัฐบาลไทย และศบค.คงจะได้มีการตัดสินโดยใช้ข้อมูล สถิติ และจากที่นักวิชาการ ภารธุรกิจ ช่วยกันคิดและหาทางออก ซึ่งสุขภาพก็สำคัญ ปากท้องก็สำคัญ เราจะไล่เรียงลำดับขึ้นมา ชีวิตต้องอยู่ได้ก่อน จากนั้นเศรษฐกิจและสังคมจะได้ตามมา ยึดหลักการแบบนี้ เราถึงมีวันนี้ และขอประชาชนว่า เราอยู่ในตัวเลขสองหลัก เราต้องช่วยกันต่ำสิบให้ได้ อย่างน้อย 14 วัน เราจะได้หน้าหน้าเห็นหลังสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร เราอาจเป็นประเทศแรกของโลกที่ซีลประเทศได้เป็นอย่างดี” นพ.ทวีศิลป์กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น