xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.ย้ำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเป็น อย่าเพิ่งย่อหย่อนเชื้อโรคอยู่อีกนาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. (แฟ้มภาพ)
โฆษก ศบค.แถลง ยัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเป็น รอถกผ่อนปรนพื้นที่ไหนปลอดภัย พิจารณาสนามกีฬา-ตลาดสด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยจ่อผ่อนมาตรการ แต่ขออย่าย่อหย่อนเพราะเชื้อโรคยังอยู่อีกนาน

วันนี้ (20 เม.ย.) เวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 27 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,792 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มเติม หายป่วยกลับบ้านเพิ่มเติม 71 ราย หายป่วยสะสม 1,999 ราย อยู่ระหว่างรักษา 746 ราย แม้ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ยังเป็นสองหลัก แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านเขาเพียงผิดพลาดเล็กน้อยตัวเลขก็สูงขึ้น ทั้งนี้ มีจังหวัดที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน เพิ่มเข้ามาอีก 2 จังหวัด คือ สระแก้ว และอุบลราชธานี รวมแล้วขณะนี้มี 35 จังหวัด

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องเช้าวันที่ 20 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 660 คน ลดลงจากคืนก่อน 14 ราย ชุมนุม มั่วสุม 86 คน เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 18 คน พฤติกรรมยังซ้ำๆ เดิมๆ จึงขอให้ร่วมมือ อย่าให้มีตัวเลขเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่าถ้าไม่ชุมนุมก็ไม่จะติดโรค ตัวเลขก็จะลดลงเรื่อยๆ ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวมากสุด ได้แก่ ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ กทม. นครราชสีมา ชลบุรี ราชบุรี สระบุรี สงขลา และเชียงใหม่ และมี 8 จังหวัดที่ไม่มีผู้ฝ่าฝืนเลย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สิงห์บุรี พิจิตร สกลนคร ศรีสะเกษ อุทัยธานี บุรีรัมย์ และอ่างทอง

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เช้าวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยนายกฯ ได้ชื่นชมประชาชนที่ช่วยกันทำให้ตัวเลขลดลงเป็นเลขสองหลักมาสักระยะหนึ่งแล้ว พร้อมกับชื่นชมเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ และจากการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมด่านต่างๆ นายกฯ อยากให้มีการดูแลเรื่องเบี้ยเลี้ยงและค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการดูแลอย่างดี เพราะเชื่อมั่นในวิจารณาญาณและสติปัญญาในการช่วยแก้ไขปัญหา ส่วนคำถามเรื่องการคงอยู่เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีความจำเป็นในสถานการณ์นี้ รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะหารือกันวาระถัดไป นายกฯ ระบุว่า การจะผ่อนคลายต่างๆ จะต้องมีมาตรการออกมาก่อน โดยมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการไปหารือกับผู้ประกอบการและเสนอขึ้นมาว่าจะมีมาตรการควบคุมอย่างไร ให้ดูแลกลุ่มอาชีพต่างๆ ให้ครอบคลุม รวมถึงพิจารณาเรื่องสถานที่ เช่น สนามกีฬา ตลาดสดจะจัดระเบียบอย่างไรให้ปลอดภัย ไปพิจารณาว่าพื้นที่ไหนปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย ต้องทยอยกันทำ จังหวัดไหนไม่มีรายงานผู้ป่วยเลยก็ต้องผ่อนคลายตามมาตรการ รวมถึงไปศึกษาจากต่างประเทศที่มีการผ่อนคลายแล้วว่ามีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร เรียนรู้และปรับใช้ จัดสมดุลให้เหมาะสมระหว่างปัญหาการแพร่ระบาดและปัญหาเศรษฐกิจ ให้เดินควบคู่ไปอย่างปลอดภัย จะเน้นไปด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานคนไทยที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศหลังวันที่ 30 เม.ย.มี 8,998 คน และคาดว่าจะมีการลงทะเบียนเพิ่มขึ้น เพราะสถานการณ์ทั่วโลกมีการติดเชื้อจำนวนมาก หลายคนจึงอยากกลับบ้าน แต่เราต้องปรับสมดุลให้ดี ทั้งนี้ สำหรับคนไทยที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับ มี 14 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา 1,950 คน ออสเตรเลีย 786 โดยทุกคนจะต้องทำตามขั้นตอน ซึ่งไม่ได้มีการย่อหย่อนแต่อย่างใด ขณะที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้รายงานสถานกักกันโดยรัฐกำหนดให้นั้น มี 796 แห่ง รองรับได้ 20,941 คน แต่ขณะนี้มีคนพักเพียง 2,339 คน ยังเหลืออีกหมื่นกว่า

เมื่อถามว่ายังมีการตั้งข้อสังเกตว่าเพราะมีการตรวจน้อย ประเทศจึงเจอผู้ป่วยน้อย นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อกล่าวหานี้ถูกถามมาประจำ ซึ่งตัวเลขที่ถูกยกมา 2 หมื่นกว่านั้นเป็นตัวเลขเก่าที่เอาต์แล้ว แต่ตัวเลขล่าสุดคือ 142,589 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 11-17 เม.ย. ตรวจได้ 21,715 ตัวอย่าง แต่ถ้าดูเป็นรายวัน ตั้งแต่วันที่ 4-17 เม.ย. ยอดเฉลี่ยประมาณ วันละ 3,000 ตัวอย่างขึ้นไป และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในวันที่ 17 เม.ย.มีการตรวจไป 3,397 ตัวอย่าง เจอเพียง 1.41 เท่านั้น หรือร้อยคนเจอคนครึ่ง หรือสองร้อยคนเจอ 3 คนโดยประมาณ ยืนยันว่าเราเจาะกลุ่มเสี่ยงที่มีความสำคัญจริงๆ

เมื่อถามกรณีตัวเลขลดลงต่อเนื่อง ทำให้หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานจะเสี่ยงติดโควิด-19 หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เสี่ยงแน่นอน เพราะตอนนี้โรคยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ โรคยังคงวนเวียนอยู่รอบๆตัวเรา เป็นเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็น ส่วนไทยเราซีลตัวเองไว้ไม่ให้คนติดเชื้อเดินทางมาประเทศเรา ส่วนที่ประเทศอื่นผ่อนคลาย เพราะเขามีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเรื่องความเสรี จึงเสียชีวิตหลักหมื่น เราก็ชอบเสรี แต่สภาวะแบบนี้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เราเสียไปคือเสรี เราต้องไม่ย่อหย่อน เพราะต้องอยู่กับโรคนี้อีกนาน เชื่อว่าเราคุมได้

เมื่อถามอีกว่า มีข่าวตำรวจเอาผิดคนไปตั้งจุดแจกข้าว ตรงนี้จะเปลี่ยนมาเป็นอำนวยความสะดวกได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแบบนี้ คนที่นำสิ่งของมาแจกมีเจตนาดี แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์จะแจก ขอให้ประสานไปยังหน่วยงานของรัฐก่อน อย่างใน กทม. นายกฯ สั่งการให้เข้าไปช่วยจัดระเบียบและระบบให้ดี ถ้าจะบริจาคให้ประสานกับสำนักงานเขต ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะมีการติดตามข่าวปลอมต่างๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น