โฆษกศบค. เผย ตัวเลขติดเชื้อลดลง แต่อย่าย่ามใจ ยก ญี่ปุ่น-สิงคโปร์ การ์ดตกยอดพุ่ง รอประเมินพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขอคนไทยใจเย็นๆรอดูสัปดาห์หน้า นนทบุรี แชมป์แหกเคอร์ฟิว แทนปทุมธานี ชี้ร่วมมือเกิน 100% ไม่แบ่งฝ่าย รอดกันหมด
วันนี้ (16 เม.ย.) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,593 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,077 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,672 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 46 คน ทั้งนี้ มี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย และมีถึง 25 จังหวัด เป็นจังหวัดปลอดเชื้อที่เคยมีผู้ป่วยและไม่มีผู้ป่วยรายใหม่แล้ว ในช่วง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-15 เม.ย. ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี จันทบุรี นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 44 เป็นชายชาวมาเลเซีย อายุ 55 ปี เป็นไกด์ทัวร์ ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีประวัติไปเป็นไกด์ที่ประเทศจอร์เจียระหว่างวันที่ 13-19 มี.ค. และมีลูกทัวร์คนหนึ่งป่วยเป็นโควิด-19 กลับถึงไทยในวันที่ 19 มี.ค. และเริ่มมีอาการป่วยในวันที่ 21 มี.ค.จากนั้นวันที่ 29 มี.ค.เข้ารักษาโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน กทม.ด้วยอาการไอ เหนื่อย ออกซิเจนในเลือดลดเหลือ 88 เปอร์เซ็นต์ เอกซเรย์พบปอดอักเสบและผลยืนยันเป็นโควิด-19 อีกสองสัปดาห์ต่อมาอาการแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 14 เม.ย. รายที่ 45 เป็นหญิงไทย อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง โดยเริ่มป่วยวันที่ 20 มี.ค. มีอาการไอ เหนื่อย ไปรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาล รับยากลับไปทานที่บ้านแต่ไม่ดีขึ้น จึงกลับมารักษาอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค. และไอมากขึ้น เหนื่อยหอบมากขึ้น ปอดอักเสบรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือด และยืนยันว่าผลตรวจเป็นโควิด-19 ในวันที่ 27 มี.ค. ระหว่างรักษามีอาการเหนื่อยมากขึ้น ใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 15 มี.ค. รายที่ 46 เป็นชายไทยอายุ 37 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถแบ็คโฮ ความดันโลหิตสูง มีภาวะอ้วน ความเสี่ยงคือภรรยาทำงานร้านอาหารย่านสุขุมวิท กทม. หลังปิดให้บริการจึงเดินทางกลับไปอยู่ด้วยกันที่ จ.ปราจีนบุรีในวันที่ 18 มี.ค. ต่อมาวันที่ 22 มี.ค.มีไข้สูง ทอนซิลอักเสบ ไปรักษาตัวมีคลินิก 4-5 ครั้ง แต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์แนะนำจึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลจังหวัดในวันที่ 6 เม.ย. แรกรับมีไข้สูง 39.1 หน้ามืด แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และยืนยันผลตรวจว่าเป็นโควิด-19 จากนั้นอาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 15 เม.ย.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกมี 2,083,304 คน เสียชีวิตแล้ว 134,616 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขเยอะมากในช่วงเวลา 3 เดือนเศษเท่านั้น สหรัฐอเมริกา สเปน และอิตาลีเสียชีวิตเป็นหลักหมื่น ในต่างประเทศตายเป็นใบไม้ร่วง ตนไม่อยากจะพูดเพราะจะหาว่าขู่ แต่ในเชิงการแพทย์ต้องพูดในสถานการณ์จริง ต้องบอกความจริงให้ประชาชนทราบ เพื่อนำมาปรับให้ทันต่อสถานการณ์ ขณะที่หลักการพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. ให้ความสำคัญไล่เรียงตั้งแต่สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งสุขภาพต้องมาก่อน และขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ป่วย ถ้าเราทำกันดีวันนี้ จำนวนผู้ป่วย 29 รายไม่ได้หมายความว่าเชื้อโรคจะหายไป ยังมีการแพร่ระบาดในตัวเลขหลักหน่วย หากปล่อยตัวเองอาจจะเจอเหมือนกับที่ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก ถ้าผ่อนคลายจะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มข้น ยอมรับกันได้หรือไม่ จะมีความยุ่งยากเกิดขึ้นหลายอย่าง ถ้าต้องการจะผ่อนคลายมันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างประเทศที่เขาปล่อยปละละเลยจึงมีการตายกันเป็นหมื่น เราไม่อยากเห็นภาพเช่นนั้น
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่าที่ จ.ชลบุรี จะมีการปลดล็อคร้อยเปอร์เซ็นต์ในวันที่ 1 พ.ค. เหมาะสมหรือไม่ และบางจังหวัดที่ไม่มีรายงานตัวเลขผู้ป่วยจะยกเลิกมาตรการเพื่อให้ของขวัญให้ประชาชนได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หากไม่มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่จะหมดในวันที่ 30 เม.ย. ก็เท่ากับมีการยกเลิกอัตโนมัติ แต่ยังไมได้เป็นอย่างนั้น เพราะนายกฯระบุแล้วว่าก่อน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 สัปดาห์ จะมีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะต่อหรือไม่ ส่วนที่แต่ละจังหวัดจะผ่อนปรนอย่างไร เพื่อให้หลักการสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมไปได้นั้น อันนี้ค่อยน่าคุยกันหน่อย เหมือนจังหวัดไหนทำดีก็ให้รางวัลของความดีนั้น แต่ตนไม่ได้เป็นคนกำหนด คณะกรรมการชุดใหญ่จะต้องประชุมโดยใช้หลักการที่นายกฯวางไว้ ก็คงจะมีกระบวนการตัดสินใจ แต่เชื่อว่าเราต้องสู้กับไปอีกพอสมควร ของเรากำลังดีอยู่จะไปผ่อนลง ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน การตัดสินใจเหล่านี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของชุดข้อมูล ทั้งนี้ ต้องดูว่าสัปดาห์หน้าจะมีอะไรหรือไม่ กระบวนการช่วยเหลือของรัฐก็ออกไป ขอให้ใจเย็นๆ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวช่วงคืนวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องเช้าวันที่ 16 เม.ย. มีการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 823 ราย น้อยลงกว่าคืนก่อน 13 ราย ชุมนุม มั่วสุม 168 ราย มากกว่าคืนก่อนจำนวน 87 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุด ได้แก่ นนทบุรี กทม. ระยอง สมุทรปราการ ปทุมธานี สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ภูเก็ต นครราชสีมา ที่ตนเอาตัวเลขตรงนี้มาพูดไม่ใช่เป็นการประจาน แต่อยากให้ประชาชนรับทราบข้อมูล และจังหวัดเหล่านี้ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานเข้มแข็ง ประชาชนค่อยแจ้งเบาะแส คนกระทำผิดต่างหากที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม จึงไม่อยากให้มองเป็นมุมด้านลบอย่างเดียว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับคนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับไทย ในวันเดียวกันนี้จะกลับจากมัลดีฟส์ 55 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 119 คน วันที่ 17 เม.ย.จะมีเดินทางกลับจากบังคลาเทศ 35 คน ในส่วนของนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกา จะทยอยกลับมา โดยในวันที่ 17 เม.ย. 129 คน วันที่ 18 เม.ย. 123 คน วันที่ 19 เม.ย. 160 คน ทั้งนี้ จะเห็นว่า ตัวเลขกลับเข้าไทยจะไม่เกิน 200 คนต่อวัน ตามที่เรารองรับได้
“ภาวะตอนนี้คือการร่วมมือร่วมใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าทำได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เราก็รอดกันทั้งประเทศ ถ้าทำได้ 100 110 120 ยิ่งดี เราไม่มีแบ่งศาสนา ไม่มีเชื้อชาติ ไม่แบ่งการเมืองอะไรทั้งสิ้น ทุกคนล้วนเป็นคนไทย ศัตรูคือเชื้อโรคตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เราใช้ใจของเราสัมผัสที่จะเชื่อมโยงกันเป็นแผ่นเดียวกันเพื่อสู้กับเชื้อโรคตัวเล็กๆ เหล่านี้ให้มันหายไปจากประเทศไทยของเรา ด้วยใจของเรา”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว