โฆษก ศบค. แถลงแนวโน้มโควิด-19 รักษาหายเพิ่มขึ้น แต่ไม่น่าไว้ใจ พบผู้ติดเชื้อจากที่ชุมนุมชน 2 ราย แจงสื่อถามถึงคนหาเช้ากินค่ำไม่มีจะกิน ยันต้องดูแลคนที่ State Quarantine ตามมาตรฐาน เจ็บป่วยขึ้นมาจะสูญเสียมากกว่าอาหาร 3 มื้อ ชี้ พิษเศรษฐกิจจะเกิดอาการเครียดเฉียบพลัน แนะเข้าใจตัวเองและสงบ ใช้สติและเหตุผลจัดการ
วันนี้ (15 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้ 30 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,643 ราย หายป่วยแล้ว 1,497 ราย มี 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย สะสมรวม 43 ราย กลุ่มอายุที่มีมากที่สุด 30-39 ปี เฉลี่ย 40 ปี ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย โดยผู้เสียชีวิตรายแรก หญิงไทย อายุ 65 ปี ขายอาหารถนนคนเดิน มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง และความดันโลหิตสูง ไปตรวจโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้
รายที่สอง ชายไทยอายุ 60 ปี มีประวัติไปร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย กลับมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. พอวันที่ 2 เม.ย. มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รักษาตัวที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนผู้ป่วยใหม่มี 30 ราย พบสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 19 ราย กลับจากต่างประเทศ (ฝรั่งเศส) 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุมชน 2 ราย ที่ยังไม่มีการให้ใช้ชีวิตปกติเพราะยังไม่น่าไว้วางใจ กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด รองลงมา ภูเก็ต นนทบุรี สมุทรปราการ ยะลา ส่วนอีก 9 จังหวัด ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วย แนวโน้มผู้ป่วยต่างจังหวัดลดลง แต่ส่วนกลางยังขึ้นๆ ลงๆ
ผู้ติดเชื้อตามปัจจัยเสี่ยงในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ระหว่างเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน เปรียบเทียบปัจจัยพบว่า มาจากต่างประเทศ 15% ขยับเล็กน้อยเป็น 17% ติดเชื้อนอกบ้านจาก 77% ลดเหลือ 60% แต่ติดเชื้อในบ้านเพิ่มจาก 8% เป็น 23% แต่จำนวนคนไม่เยอะมาก ยังควบคุมได้ แนะปฏิสัมพันธ์กันได้แต่อย่าใกล้ชิดกันมาก ส่วนผู้ติดเชื้อตามปัจจัยเสี่ยงในจังหวัดชลบุรี พบว่า แม้รัฐบาลสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและหาด เข้าสู่ระยะแพร่โรคในครอบครัวและชุมชน เป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น และติดเชื้อไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตัวเลขผู้ที่รักษาหายเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่รักษาตัวลดลง ถือเป็นการผ่อนหนักเป็นเบาต่อบุคลากรทางการแพทย์ กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำ Active Case Finding ขยายออกมาหลายข้อที่เข้าเกณฑ์ ถ้าสงสัยมีอาการก็เข้ามาตรวจ ส่วนการเปิดปิดสถานที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดนั้นๆ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นที่ปรึกษา ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือ
สถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยสะสม 1,998,138 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51,608 ราย รักษาหายแล้ว 478,397 ราย เสียชีวิต 126,607 ราย มากที่สุด สหรัฐอเมริกา เสียชีวิต 26,047 ราย รองลงมาคือ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่วนไทยอันดับที่ 50 อินเดียมีผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ สิงคโปร์ติดเชื้อวันเดียว 334 ราย มาจากแรงงานต่างชาติ จึงต้องหาเรือเป็นที่พักของแรงงานอุตสาหกรรมนอกชายฝั่ง เข้าพักได้ 200-300 คน ด้านจีนอนุมัติให้นำวัคซีน 2 ตัว เข้าทดสอบระดับคลินิก ซึ่งถือเป็นความหวัง ส่วนอินโดนีเซียเพิ่งจะประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภัยพิบัติแห่งชาติ ฝั่งยุโรป ฝรั่งเศสขยายการล็อกดาวน์ไปอีก 4 สัปดาห์ ถึง 11 พ.ค. และญี่ปุ่น ผู้ว่าฯ กรุงโตเกียว ยื่นคำขาดชาวบ้านและร้านค้าให้อยู่บ้านและชัตดาวน์ และเรียกร้องให้ธุรกิจปิดทำการ สถานการณ์เหล่านี้ไทยต้องเรียนรู้จากต่างประเทศ
ส่วนมาตรการในช่วงเคอร์ฟิว ดำเนินคดีผู้ที่มั่วสุมรวม 81 คดี สามอันดับแรก คือ การพนัน ดื่มสุรา และ ยาเสพติด น้อยลงจากวันก่อน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุได้รับเบาะแสจากครอบครัวและคนในหมู่บ้านชุมชน ถ้าได้ยินเสียงไม่ปกติให้แจ้งตำรวจ จะไปดูแลให้ ถ้าทำอะไรผิดจริงก็ดำเนินคดีจริง ส่วนการออกนอกเคหสถานยังมีอยู่ อ้างว่าใช้เวลากลับบ้านนาน จึงต้องดำเนินคดีอยู่ ส่วนคดีพบว่าภาคกลางออกนอกเคหะสถานยังเยอะอยู่ แต่การชุมนุมมั่วสุมมากที่สุดที่ภาคตะวันออก ส่วนการดูแลคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศ จะมีแรงงานไทยจากเกาหลีใต้ 92 คน พรุ่งนี้มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มัลดีฟส์ วันที่ 17 เม.ย. มาจากบังกลาเทศ ทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine ส่วนการจัดส่งหน้ากากอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รับมอบ 19.91 ชิ้น จัดส่งแล้ว 16.89 ล้านชิ้น อยู่ระหว่างการจัดส่ง 3 ล้านชิ้น ส่วนกระทรวงมหาดไทยได้รับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์หลายกลุ่ม ถ้าที่ใดยังไม่ได้ เช่น หน่วยกู้ภัย ให้ประสานมาทางหมายเลข 1111
ในช่วงตอบคำถาม เมื่อถามว่า สถานที่กักตัวคนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศล็อตใหม่ มีเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความกังวลใจในการใช้ Local Quarantine ชี้แจงว่า ระหว่างวันที่ 15-18 เม.ย. กระทรวงการต่างประเทศจะเปิดให้ผู้ที่จะกลับจากต่างประเทศลงทะเบียน ส่วนมาตรการนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มีการหารือและออกมาชัดเจนว่า จะให้เข้ามาทีละไม่เกิน 200 คน ยืนยันว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีเพียงพอ หากมีจำนวนมากจะผ่องถ่ายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาพรุ่งนี้จะชี้แจง
ส่วนความไม่เท่าเทียมระหว่างคนที่กักตัว State Quarantine ที่มีข้าวกิน กับคนที่หาเช้ากินค่ำไม่เท่าเทียม ชี้แจงว่า ต้องดูแลเหมือนคนไทยทุกคน ที่ให้อาหารครบ 3 มื้อ เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ถ้าดูแลไม่ดี เจ็บป่วยขึ้นมาจะสูญเสียมากกว่าอาหาร 3 มื้อ ส่วนคนที่ไม่มีกินกำลังดูแลอยู่ หลายประเทศก็อยู่ในระหว่างที่อดอยาก แต่ไทยดูแลได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ได้เห็นภาพจิตอาสาที่แจกข้าวหรือขายอาหารราคาถูก อยากจะให้เกิดภาพมากขึ้น บ่ายนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. สั่งการประชุมชี้แจง ขอให้ฟังรายละเอียดและวางใจเป็นกลางว่าจะผ่านไปได้อย่างไร ถ้าอดทนที่จะก้าวผ่าน จะมีช่องทางบรรเทาทุกข์ในหลายทาง
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ถึงแม้ตัวเลขผู้ป่วยจะพึงพอใจในระดับหนึ่ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันอย่าไปนิ่งนอนใจ แต่จะเห็นภาพหดหู่ใจในต่างประเทศ ส่วนประเทศไทยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เปรียบเทียบวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่ผลกระทบทางจิตใจ ร่างกายและจิตใจจะเกิดปฏิกิริยาที่ต่างไปจากเดิม เพื่อตอบสนองต่อภาวะที่ผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ วิตตกกังวล หงุดหงิด ใจสั่น ปฏิสัมพันธ์เสียไป มีการทะเลาะเบาะแว้งกันได้ง่าย และยิ่งอยู่ในบ้านจะเกิดปฏิกิริยาการตอบสนองต่อความเครียดอย่างเฉียบพลัน ประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ถ้าปรับตัวไม่ค่อยดีก็จะยาวนานกว่านั้น ขอให้ทุกคนกลับมามองการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ถ้าเข้าใจตัวเอง สงบตัวเอง ค่อยๆ ใช้สติและเหตุผลจัดการเรื่องนี้ได้ ก็จะไม่ต้องทะเลาะกับคนในบ้าน