โฆษก ศบค. รายงานผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ 34 ราย รวมสะสม 2,613 ราย แจงคนขับรถเมล์สาย 140 เสียชีวิต มีโรคประจำตัว และเคยสังสรรค์กับผู้ติดเชื้อก่อนหน้า ใจชื้น WHO ชื่นชมระบบดูแลสุขภาพ ยันไทยมีเตียงว่างอยู่ ถ้าไม่วิกฤต ทิ้งท้ายวันนี้เป็นวันครอบครัว ถึงห่างกายไม่ห่างใจ แนะอาบน้ำสวมหน้ากากก่อนสัมผัสใกล้ชิด
วันนี้ (14 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุว่า วันนี้มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หารือประเด็นโควิด-19 เป็นประเด็นเร่งด่วน โดยจะเจรจากับจีน ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้
ส่วนสถานการณ์ประจำวัน พบผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้ 34 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,613 ราย หายป่วยแล้ว 1,405 ราย มี 68 จังหวัด เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสมรวม 41 ราย ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดเป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 52 ปี เป็นพนักงานขับรถโดยสารสาย 140 มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูงและหัวใจโต มีประวัติสังสรรค์กับผู้ป่วยติดเชื้อก่อนหน้านี้ ติดเชื้อ 10 ราย มีกลุ่มกลับจากอินโดนีเซียเป็นผู้ป่วย 1 ราย อยู่ใน State Quaranine ที่จังหวัดสตูล ส่วนกลุ่มอายุที่ติดเชื้อสูงสุด 30-39 ปี อยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ อย่าใกล้ชิดผู้สูงอายุ
มีผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย 80% ของทั้งหมดสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ นอกนั้นพบคนไทยที่มาจากอิตาลีและมาเลเซีย และผู้ป่วย State Quarantine มาจากอินโดนีเซีย ซึ่งตัวเลขมาจากประมาณ 7 วันที่แล้วอาจจะมีผลเพิ่มขึ้นของวันนี้ ผู้ป่วยมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี โดยมี 9 จังหวัดยังไม่มีผู้ป่วย แต่ทิศทางยังไม่น่าไว้ใจ เพราะมีคนที่สังสรรค์สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดต่อ กลุ่มก้อนจากอินโดนีเซียติดเชื้อสะสมแล้ว 61 ราย เหลือ 10 กว่าคนที่ยังไม่ติดเชื้อ ผู้ป่วยใน 4 จังหวัดภาคใต้ พบว่า มาจากสงขลา 56 ราย ยะลา 82 ราย นราธิวาส 28 ราย และปัตตานี 77 ราย ย้ำว่า สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ควรจัดสมดุลระหว่างพิธีทางศาสนากับสุขภาพ ทำอย่างไรให้เหมาะสม
ส่วนสถานการณ์โลกพบว่า มีผู้ป่วยสะสม 1,924,679 ราย เสียชีวิต 119,692 ราย สหรัฐฯ มีผู้ป่วยมากที่สุด เสียชีวิต 26,508 ราย รัฐนิวยอร์กมากที่สุด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 ทาง WHO ประจำประเทศไทย ชื่นชมระบบดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว โดยมีอาสาสมัครด้านสาธารณสุขมากกว่า 1.04 ล้านคน สามารถดูแลคนที่ดูแลอย่างใกล้ชิด
ผู้ป่วยสะสมที่เข้ารับการรักษาแยกตามสังกัด พบว่า โรงพยาบาลเอกชนมากที่สุด 42.3% รองลงมาคือ โรงเรียนแพทย์ 25.8% และโรงพยาบาลเฉพาะทางอื่นๆ ทุกหน่วยงานช่วยกันให้ประชาชนกลับสู่ปกติ ยืนยันว่า ยังมีเตียงว่างอยู่ แต่หากสถานการณ์รุนแรงแบบสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็ไม่พอ เครื่องช่วยหายใจในประเทศไทยยังเพียงพอในระดับหนึ่ง
ส่วนมาตรการเคอร์ฟิว ยังพบว่า มีการชุมนุมมั่วสุมเพิ่มขึ้น เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา เสพยาเสพติด แต่ออกนอกเคหสถานลดลง พบมากที่สุดในกรุงเทพฯ ปทุมธานี และ ภูเก็ต มาตรการเข้า-ออกต่างประเทศ จะมีคนไทย 135 คน เดินทางจากเกาหลีใต้ พรุ่งนี้ มี 175 คน วันที่ 16 เม.ย. จะมีคนไทยมาจากมัลดีฟส์ และ 17 เม.ย. จะมีคนไทยมาจากบังกลาเทศ
ในการตอบคำถาม เมื่อถามว่า ผู้ป่วย PUI เวลาจะไปตรวจโควิด-19 ใช้เวลานาน มีการปรับเปลี่ยนให้เร็วขึ้นหรือไม่ ชี้แจงว่า เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงมีความล่าช้า ล่าสุด กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ใช้ระบบออกโค้ดอัตโนมัติ เพื่อรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณ ความล่าช้าฝ่ายบริหารรับทราบและพยายามช่วยกัน
เดิมถูกบ่นว่าตรวจยาก ตรวจไปแล้ว 84,008 ตัวอย่าง ตั้งแต่ ก.พ.- เม.ย. 2563 เนื่องจากเป็นแล็บใหม่ วิธีการตรวจใหม่ เครื่อง PCR ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ง่าย แต่เมื่อ 4-10 เม.ย. ได้เร่งการตรวจ 16,490 ตัวอย่าง โรงพยาบาลรามาธิบดี รับภาระมากที่สุด ทำให้มีตัวอย่างสะสม 100,498 ตัวอย่าง
ส่วนมาตรการคัดกรองคนไทยเข้าประเทศ ข้อกำหนดการขอเอกสาร และการปิดน่านฟ้าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. ได้พูดคุยกัน ยืนยันว่า ยินดีต้อนรับคนไทยเข้าประเทศ ไม่ได้มีการสั่งห้าม แต่ก่อนจะมาช่วยดูแลก่อน และทยอยเข้ามา ไม่ได้ขัดกับกฎหมายฉบับไหน แต่จัดระเบียบพร้อมดูแลคนในประเทศไม่ให้เกิดการระบาด ถ้าเข้ามาไม่เกิน 200 คน การจัดคนไปดูแล แพทย์ พยาบาล และห้องพัก ทำให้ทุกคนสมใจยากมาก แต่ได้ใช้มาตรฐานสาธารณสุขเกี่ยวข้อง
ส่วนกรณีคนขับรถประจำทางสาย 140 ผอ.ขสมก. ปกปิดข้อมูลหรือไม่ การสอบสวนโรคมีเท่าไหร่ ติดตามไปถึงไหนแล้ว และประชาชนจะต้องปฏิบัติอย่างไร และจะหาทางป้องกันอย่างไร ชี้แจงว่า โรคนี้มีความแตกต่างตรงที่ช่วงแรกๆ ไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่รู้ว่ามีอาการ ส่วนการปกปิดข้อมูลนั้น ทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปสอบสวนโรคทั้งคนสังสรรค์และเพื่อนร่วมงานทั้งหมด และถูกเก็บตัวอย่างไปแล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะรายงานเพิ่มเติม ประชาชนที่มาใช้บริการ ขสมก. และสงสัย หากมีอาการและเข้ากันได้กับอาการขอให้ไปตรวจ หน่วยงานสาธารณสุขจะดูแล
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวในตอนท้ายว่า วันนี้เป็นวันครอบครัว ไม่ว่าจะพบปัญหาอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัว ถ้าเข้าใจตัวโรค ลักษณะตัวโรค ห่างครอบครัวทางกาย ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวเสียหาย แนะนำถ้าจะสัมผัสใกล้ชิดต้องอาบน้ำก่อน และสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันสารคัดหลั่ง