xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.ชมประชาชนร่วมมือดีป้องกันโควิด-19 ทำตัวเลขไม่เลวร้าย รับ ศก.หนักกว่าต้มยำกุ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก ศบค.แถลงลุยตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุก กทม. ยก ปชช.ร่วมมือดี ทำตัวเลข 15 เม.ย.ไม่เลวร้ายเหมือนที่คาดการณ์ไว้ เผยปทุมธานีแหกกฎเคอร์ฟิวมากสุด แจงดูแลคนไทยเท่าเทียม ชี้ ศก.หนักกว่าต้มยำกุ้ง ให้ใช้สติแก้ปัญหา

วันนี้ (15 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 30 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 1 คนที่ กทม.ซึ่งเดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา โดยต่อเครื่องที่ญี่ปุ่น จึงไม่ทราบว่าติดเชื้อที่ไหน หายป่วยกลับบ้านแล้ว 1,497 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,103 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,643 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 43 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายที่ 42 เป็นหญิงไทย อายุ 65 ปี ขายอาหารที่ถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ มีโรคเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง วันที่ 7 มี.ค.มีไข้สูง ไอ ซื้อยามารับประทานเอง ต่อมาวันที่ 12 มี.ค.อาการไม่ดีขึ้น จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในบ้าน จากนั้นวันที่ 15 มี.ค.มีอาการหน้ามืด จึงไปโรงพยาบาลแห่งเดิมอีกครั้งและกลับบ้าน วันที่ 17 มี.ค.ส่งตรวจหาเชื้อและรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ และวันที่ 18 มี.ค.ยังรู้สึกตัวดี แต่มีอาการเหนื่อย ผลยืนยันออกมาเป็นโควิด-19 โดยวันที่ 19 มี.ค.แพทย์ให้ยาต้านไวรัส แต่วันที่ 22 มี.ค.ผู้ป่วยหายใจเหนื่อยหอบมากขึ้น ผลเอกซเรย์ปอดอักเสบรุนแรง รวมถึงหัวใจโตด้วย วันที่ 6 เม.ย.ไม่รู้สึกตัว ความดันโลหิตตก ได้รับยากกระตุ้นการทำงานของหัวใจ แต่ไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตวันที่ 13 เม.ย. ส่วนรายที่ 43 เป็นชายไทย อายุ 60 ปี ไปร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่อินโดนีเซีย เดินทางกลับไทยวันที่ 24 มี.ค. ต่อมาวันที่ 2 เม.ย.มีไข้ 38.4 เริ่มปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเข้ารักษาในโรงพยาลแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ผลยืนยันเป็นผู้ป่วยโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตะวันที่ 14 เม.ย. ผู้เสียชีวิตทุกรายถือเป็นครู ทำให้เรารู้ว่าปัจจัยเสี่ยงมีอะไรอย่างไร เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ เกิดขึ้นได้ไม่กี่วัน จึงต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันที่ 15 เม.ย.กราฟของเรายังค่อนข้างคงที่ เป็นเพราะความร่วมมือร่วมมือใจของทุกคน ถ้าไม่ร่วมมือร่วมใจกันอาจจะเห็นภาพอย่างที่นักวิชาการพยากรณ์เอาไว้ว่า วันที่ 15 เม.ย.หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจะมีผู้ติดเชื้อถึง 3 แสนกว่าคน แต่ที่เราตรึงตัวเลขไว้ได้ที่ 2 พันกว่าราย และคุมตัวเลขได้ จึงต้องขอขอบคุณทุกคน อย่างไรก็ตาม มีการเปรียบผู้ติดเชื้อรายใหม่ระหว่างเดือน มี.ค.กับ เม.ย.พบว่า เดือน มี.ค.มีผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ 15% ติดเชื้อนอกบ้าน 77% ติดเชื้อในบ้าน 8% ส่วนเดือน เม.ย.ติดเชื้อจากต่างประเทศ 17% นอกบ้าน 60% ในบ้าน 23% ทำให้เห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในบ้านมีมากขึ้น แต่จำนวนน้อยลง อาจเป็นผลมาจากมาตรการการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเคอร์ฟิว ดังนั้น ขอให้ผู้ที่อยู่บ้านระมัดระวังตัวในการอยู่ร่วมกันให้มากขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มของเราอยู่ในช่วงขาลงของตัวเลขทั้งหมด แต่ยังจำเป็นต้องตรึงความเข้มแข็ง การ์ดอย่าตก จะได้ไม่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นไปกว่านี้ ถ้าตัวเลขลดลงเหลือตัวเดียวจะเยี่ยมมากๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการขยายการตรวจเชื้อเชิงรุกใน กทม. เพราะมีเราศักยภาพมากขึ้น ถ้าใครสงสัยหรือมีอาการสามารถเดินทางไปตรวจได้เลย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกวันนี้มีผู้ติดเชื้อเกือบ 2 ล้านคน เราจึงจำเป็นต้องศึกษามาตรการของประเทศต่างๆ เพื่อมาปรับใช้ในการป้องกันโรคในประเทศไทยประกอบกันไปด้วย ต้องดูประสบการณ์ของประเทศที่มีแนวโน้มไปในเชิงบวก อย่างจีนล่าสุดมีการอนุมัติให้นำวัคซีน 2 ตัวเข้าทดสอบในระดับคลินิกแล้ว โดยเป็นเวชภัณฑ์ของจีน ซึ่งวัคซีนถือเป็นความหวังสูงสุดของมนุษยชาติในการต่อสู้โรคนี้ ต้องให้กำลังใจจีน ส่วนที่ไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติกำลังเดินหน้าวิจัยวัคซีนดังกล่าวเช่นกัน ขอร่วมให้กำลังใจเพื่อพัฒนาไต่ระดับความสามารถไประดับโลกให้ได้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 14 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 15 เม.ย. มีการฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 845 ราย มากกว่าคืนก่อน 39 ราย ชุมนุม มั่วสุม 81 คดี ลดลงจากคืนก่อน 74 ราย โดยผู้ชุมนุมมั่วสุม 3 อันดับแรก คือ เล่นการพนัน ดื่มสุรา และยาเสพติด จึงอยากขอเตือนแม้ผู้มั่วสุมวันนี้จะน้อยกว่าคืนก่อน แต่ขอให้คนในครอบครัวช่วยกันตักเตือน และถ้าใครพบเห็นหรือมีเบาะแสการรวมกลุ่มในช่วงเคอร์ฟิวขอให้แจ้งตำรวจไปตรวจสอบ วันนี้ถ้าใครทำอะไรผิดจะต้องจับจริง ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นภาคที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด คือ ภาคกลาง โดยเป็นการออกนอกเคหสถาน ส่วนภาคตะวันออกมีการรวมกลุ่มมั่วสุมมากที่สุด เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดที่มีการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวมากสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กทม. ชลบุรี สงขลา สมุทรสาคร ภูเก็ต เชียงใหม่ นครปฐม และสระบุรี

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนคนไทยที่จะเดินทางกลับจากต่างประเทศ วันนี้ (15 เม.ย.) เวลา 22.00 น.จะมีผู้เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ 92 คน ส่วนวันที่ 16 เม.ย. จะมีคนไทยกลับจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 120 คน มัลดิฟส์ 70 คน และวันที่ 17 เม.ย. จะมีคนไทยกลับจากบังกลาเทศ 35 คน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะมีคนไทยกลับจากมาเลเซียกว่า 3 พันคนมาอยู่ที่ จ.ยะลา ในวันที่ 18 เม.ย.นั้น ชุดข้อมูลดังกล่าวเป็นชุดข้อมูลก่อนการประกาศให้ลงทะเบียน จึงคิดว่าตัวเลขจริงๆ ไม่น่าจะเยอะขนาดนั้น น่าจะน้อยกว่านี้ และแนวทางของเราชัดเจนว่าจะรับคนไทยกลับได้ไม่เกินวันละ 200 คน แต่เราอยากให้ทยอยกันเข้ามา แต่ถ้ามากันเยอะขึ้นก็สามารถผ่องถ่ายไปยังจังหวัดใกล้เคียง ไม่ต้องห่วง เพราะเรามีประสบการณ์เรื่องนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีความไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ ดูแลคนที่กลับมาจากต่างประเทศให้นอนโรงแรม มีข้าว 3 มื้อ แต่คนในประเทศไม่มีเงินกินข้าว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าคนไทยในต่างประเทศมีสิทธิเดินทางเข้ามา และต้องดูแลพวกเขาเหมือนคนไทยทุกคน ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษไม่ใช่เพื่อสร้างความแตกต่าง แต่เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถ้ามาแล้วดูแลไม่ดี มีการเจ็บป่วย ทำให้เกิดการติดเชื้อ เราจะสูญเสียมากกว่าข้าว 3 มื้อ ต้องเสียเรื่องเวชภัณฑ์ เตียง บุคลากรทางการแพทย์ที่จะต้องมาดูแล เราไม่ได้เอาใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทำตามหน้าที่ ศบค.คิดทุกเรื่อง ดูแลทุกคน คนที่ตั้งคำถามแบบนี้ อยากให้ไปดูประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน บางประเทศอยู่ในพื้นที่หนาว หาที่นอนและที่เก็บศพยังไม่ได้ น่าอเนจอนาถใจ แต่เราดูแลได้ในระดับที่ดี บางคนที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ เขาก็เขียนชื่นชมการดูแลของไทย ถือเป็นความรู้สึกที่ดี อิ่มเอมใจในช่วงวิกฤต จึงอยากให้ยกเรื่องดีๆ มาพูดกันบ้างเพื่อชโลมใจ วันนี้เห็นภาพจิตอาสามาคอยแจกอาหารถือเป็นน้ำใจที่เราแสดงต่อกันในยามวิกฤต ขอให้ก้าวพ้นไปด้วยกัน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า แม้ว่าเราจะพึงพอใจตัวเลขในระดับหนึ่ง แต่อย่านิ่งนอนใจ ขณะเดียวกัน ในปรากฏการณ์แบบนี้เห็นภาพคนเสียชีวิตจำนวนมากในต่างประเทศแล้วหดหู่ใจ ไทยเราแม้เจ็บป่วยไม่มาก เสียชีวิตไม่เยอะ แต่ผลกระทบเศรษฐกิจก็เยอะ เหมือนช่วงต้มยำกุ้งหรือหนักกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ เรื่องผลกระทบต่อจิตใจ เวลาเกิดภาวะวิกฤติเช่นนี้ ร่างกับจิตใจจะมีปฏิกิริยาเพื่อตอบสนองต่อภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ บางคนอาจนอนไม่หลับ หงุดหงิด การเกิดทะเลาะเบาะแว้งกันง่าย หรือมีภาวะการตอบสนองต่อภาวะเครียดอย่างเฉียบพลัน ดังนั้น ขอให้ทุกคนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจตัวเอง ค่อยๆ ใช้สติกลั่นกรองใช้เหตุผลจัดการเรื่องนี้ ผลก็จะออกมาดี ขอให้เราผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยดี






กำลังโหลดความคิดเห็น