โฆษก ศบค. แถลงตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำสุดเท่าที่เคยทำได้ ครั้งแรกยอดรักษาต่ำกว่าพัน ถกเปิดร้านตัดผมแต่ต้องมีข้อปฏิบัติ เปิดห้างมาตรการต้องเข้ม สัปดาห์หน้ารู้ผล ขออย่ารังเกียจคนที่หายป่วย ชลบุรีนำแหกเคอร์ฟิว ขู่ฟันน้ำลายป้ายมั่ว
วันนี้ (17 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,700 ราย ใน 68 จังหวัด ตัวเลขวันนี้ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดที่เราเคยทำได้เท่ากับเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ขณะที่ยอดหายป่วยและกลับบ้านแล้ว 1,689 ราย ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษา 964 ราย ถือเป็นวันแรกที่ยอดผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรักษาต่ำกว่า 1 พันคน ถือเป็นข่าวดีว่าผู้ป่วยใหม่น้อยลง เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 47 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 47 เป็นหญิงไทย อายุ 85 ปี เป็นแม่บ้าน มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีอาการป่วยระหว่างวันที่ 22 มี.ค.- 2 เม.ย.มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และเข้ารักษาอีกครั้งที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ชุมพร ในวันที่ 12 เม.ย. มีอาการไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ปอดอักเสบรุนแรง ยืนยันผลตรวจเป็นโควิด-19 จากนั้นวันที่ 15 เม.ย.มีอาการแย่ลง และเสียชีวิตในวันที่ 16 เม.ย.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับตัวเลขจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเวลา 14 วัน ตามที่มีรายงานไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ว่ามี 25 จังหวัด โดยระหว่างวันที่ 3-16 เม.ย. เพิ่มมาอีก 2 จังหวัด คือ หนองคาย และ กาฬสินธุ์ รวมขณะนี้มีทั้งสิ้น 27 จังหวัด ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมทั้งประเทศ กทม.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง ส่วนกรณีเรียกร้องให้เปิดร้านตัดผมและผ่อนคลายบางมาตรการ วันนี้ที่ประชุม ศบค.วงเล็กมีการหารือกัน หลายจังหวัดไม่ได้มีการปิดร้านตัดผม มีบางจังหวัดที่ปิด เช่น กทม.เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ลักษณะใกล้ชิดและเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งมีมาตรการตัวอย่างการผ่อนคลาย หรือมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ โดยยังเป็นข้อเสนอและยังไม่ได้รับรอง โดยเป็นข้อปฏิบัติของผู้ให้บริการและผู้รับการบริการ อาทิ จัดที่นั่งให้เหมาะสมห่างกัน 1 เมตร ให้บริการที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง งดเว้นบริการที่ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า ตัดเล็บ ผู้ให้บริการและผู้รับการบริการต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ล้างมือทุกครั้งที่ให้บริการ ส่วนที่เรียกร้องให้เปิดห้างสรรพสินค้านั้น ผู้ให้บริการจะต้องมีมาตรการอย่างเคร่งครัด มีการคัดกรองบุคคล ตรวจอุณหภูมิ จัดคิวในการเข้าพื้นที่ จำกัดคนในการเข้าพื้นที่ อย่างพื้นที่พันตารางเมตรให้เข้าได้แค่พันคน เมื่อคนออกไปแล้วถึงจะเติมคนเข้ามาใหม่ได้ ต้องไม่มีการจัดโปรโมชันที่เสี่ยงที่จะทำให้คนมารวมตัวกัน ส่วนร้านค้าสำคัญๆ ภายในห้างจะทยอยเปิด แต่ไม่ทั้งหมด เช่น ร้านให้บริการโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้านอาหารจะต้องมีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
“เหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ทางทีมนักวิชาการกำลังพิจารณา และภายในสัปดาห์หน้าจะตัดสินเรื่องนี้ เพื่อผ่อนคลายบางอย่าง เราจะค่อยๆ ผ่อนคลาย แต่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม ต่อคิวอะไรก็ตามต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร ถ้าทำได้จะผ่อนคลาย ถ้าฝ่ายปกครอง และ ผอ.ศบค.เห็นภาพนี้ทุกๆ ที่ ถ้าให้ความร่วมมือกันมาก ก็ไม่ต้องมีกฎมากมาย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยนั้น จะมีนักเรียนเอเอฟเอสกลับมาจากสหรัฐอเมริกาในวันที่ 17 เม.ย. จำนวน 132 คน วันที่ 18 เม.ย. 131 คน วันที่ 19 เม.ย. จำนวน 161 คน โดยสองวันแรกมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ และวันที่ 19 เม.ย.มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา โดยจะไปกักตัวที่โรงแรมซึ่งเป็นสถานที่ที่รัฐจัดไว้ ส่วนที่มีคำถามว่ากรณีคนที่หายป่วยไปแล้วจะต้องติดตามตัวและตรวจเชื้อซ้ำหรือไม่นั้น ผู้ที่หายป่วยจะมีภูมิคุ้มกัน เราตรวจจนแน่ใจถึงให้กลับบ้าน คนเหล่านี้สภากาชาดไทยอยากได้พลาสม่ามาช่วยเหลือคนอื่นต่อไป ดังนั้น ขอให้เปิดใจให้กว้าง คนป่วยแล้วไม่ใช่จะติดเชื้อซ้ำสองซ้ำสาม ขอให้คนไทยอย่ากังวลใจและรังเกียจคนเหล่านี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนผลการปฏิบัติงานของฝ่ายมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องเช้าวันที่ 17 เม.ย. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 820 คน น้อยกว่าคืนก่อน 12 คน ชุมนุม มั่วสุม 109 คน น้อยกว่าคืนก่อน 59 คน โดยจังหวัดที่มีผู้ฝ่าฝืนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี กทม. สมุทรสาคร สมุทรปราการ สระบุรี เชียงใหม่ ลพบุรี สงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดซ้ำๆ ที่มีการกระทำผิดก่อนหน้านี้ และจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ขณะที่จังหวัดที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีผู้กระทำผิดเลย ประกอบด้วย มหาสารคาม หนองคาย แม่ฮ่องสอน พิจิตร พังงา ระนอง เพชรบุรี ส่วนจังหวัดที่มีผู้กระทำผิดเพียง 1 ราย มี 3 จังหวัดคือ ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ
เมื่อถามว่า ผู้ปกปิดข้อมูลทำให้แพทย์ติดเชื้อมีความผิดหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ถ้าจงใจปกปิดทำให้เกิดความเสียจะต้องได้รับการดำเนินคดี แต่เชื่อว่าไม่มีหมอคนไหนอยากกล่าวโทษผู้ป่วย อีกทั้งบางรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงต้องดูเป็นรายๆ ไป แต่กรณีผู้ที่ตั้งใจเอาน้ำลายไปป้ายที่สาธารณะก่อนหน้านี้ก็ต้องดำเนินคดี หมอกับคนไข้ไม่ใช่ศัตรูกัน แต่เป็นฝ่ายเดียวกัน