โฆษก ศบค.ฉะสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์กบางสำนักมุ่งสร้างความแตกแยก วอน ปชช.ไม่ชัวร์อย่าแชร์ ปัดเคอร์ฟิว 24 ชม. แจงคำสั่งปลัด มท.แค่แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ ชี้บริจาคพลาสมายังไม่รองรับรักษา “โควิด-19” หาย อยู่ระหว่างวิจัย
วันนี้ (6 เม.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. และผู้นำรัฐบาล ย้ำถึงการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะยังคงต้องใช้ระบบบริราชการราชการแผ่นดินปกติ โดยบูรณาการผ่าน ศบค.ในทุกมิติ ข้อสั่งการของนายกฯ เมื่อสั่งการไปแล้วผู้ที่รับผิดชอบต้องนำไปปฏิบัติขับเคลื่อน รวมถึงกำกับดูแลการจัดทำแผนมาตรการและแผนงบประมาณต่างๆ ทั้งงบประจำปี 63 และงบกลาง โดยให้รัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด ขอให้ประชาชนเข้าใจ ไว้วางใจ เชื่อมั่นในระบบว่าเราทำงานกันอย่างเต็มที่
“นายกฯ เน้นว่าประชาชนต้องสู้ไปด้วยกัน อย่าเชื่อโซเชียลมีเดียบางสำนักที่มุ่งสร้างความแตกแยกในสังคม การโทษกันไปมา จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ย่อมทำให้มีปัญหา จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่น เราจะนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว หลายเรื่องอย่างเรื่องเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง อย่าแชร์ อย่าเชื่อกันง่าย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 51 ราย กระจายใน 66 จังหวัด โดยในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 13 คน นอกจากดูแลผู้ป่วยแล้วยังมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น รับประทานอาหาร ยอดผู้ป่วยสะสม 2,220 ราย หายป่วย 793 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 26 ราย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลง แต่ยังไม่ต้องมั่นใจ เพราะตัวเลขมีขึ้นมีลง 2-3 วันนี้ยังไม่เห็นภาพชัดนัก ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ อย่าไปดีใจ เพราะกองระบาดวิทยามีระบบการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ มีการรอสอบสวนโรค มีข้อมูลที่รอผลยังไม่ได้รายงานเข้ามา
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนของผู้เสียชีวิตรายที่ 24 เป็นชายไทย อายุ 28 ปี เป็นพนักงานบริษัทใน กทม. มีประวัติเพื่อนร่วมงานภรรยาติดโควิด-19 มีอาการป่วยเมื่อวันที่ 27 มี.ค.มีไข้ ไอ เจ็บคอ รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง อาการไม่ดีขึ้นจึงย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง ก่อนนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. ผลออกมาวันที่ 4 เม.ย.ว่าเป็นโควิด-19 และเสียชีวิตในเวลา 22.00 น.วันเดียวกัน รายที่ 25 เป็นชายไทย อายุ 51 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน มีอาการป่วยวันที่ 28 มี.ค. และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. แรกรับมีอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และกลับมาอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค. รวมถึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเดิมอีกครั้งในวันที่ 1 เม.ย. โดยครั้งนี้ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เอกซเรย์ปอดพบว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรง ผลออกมาวันที่ 2 เม.ย.ว่าเป็นโควิด-19 และเสียชีวิตวันที่ 4 เม.ย. รายที่ 26 เป็นหญิงอายุ 59 ปี อาชีพค้าขาย มีโรคประจำตัวเบาหวาน ก่อนหน้านี้ไปเล่นการพนันในหลายแห่งของ กทม. ไปเจอผู้คนจำนวนมาก เริ่มป่วย 29 มี.ค. เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลเอกชนวันที่ 1 เม.ย. อาการแรกรับไม่มีไข้ แต่หายใจหอบเหนื่อย ออกซิเจนในเลือดลดลง ปอดอักเสบรุนแรง แพทย์พบว่าติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตวันที่ 2 เม.ย. ทั้งนี้ ใน 3 รายที่เสียชีวิต ล้วนอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งสิ้น อายุน้อยที่สุดคือ 28 ปี ดังนั้น ทุกอย่างเป็นความเสี่ยง คนอายุ 20-29 ปี ที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากที่สุดจึงต้องเฝ้าระวังในการที่จะแพร่เชื้อให้คนอื่น นอกจากนี้ อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือ การแพร่เชื้อที่มากที่สุดคือ การแพร่เชื้อในบ้าน ดังนั้น การแสดงความรักอย่างใกล้ชิดขอให้ระมัดระวัง ตอนนี้ขอให้ส่งสติกเกอร์ไลน์ไปก่อน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับผลการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคืนวันที่ 5 เม.ย. ถึงเช้าวันที่ 6 เม.ย.พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนออกจากเคหสถาน 919 ราย มีการรวมกลุ่มชุมนุม มั่วสุม เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในเคหสถาน 79 ราย ดำเนินคดี 708 คน โดยจะมีการเพิ่มจุดตรวจในคืนวันที่ 6 เม.ย.จาก 836 เป็น 923 จุด ส่วนกรณีคนไทยที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศ แต่ติดค้างอยู่ที่สนามบินต่างประเทศ มี 48 ราย แบ่งเป็นญี่ปุ่น 12 ราย เกาหลีใต้ 35 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย คนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลจากสถานทูตเป็นอย่างดี และวันเดียวกันนี้จะมีเที่ยวบินจากอินโดนีเซียพาคนไทย 111 คน ซึ่งมีการขออนุญาตไว้ก่อนแล้ว มาลงที่สนามบินหาดใหญ่ในเวลา 16.00 น. โดยมีการเตรียมสถานที่รองรับสำหรับการกักตัวไว้แล้ว ส่วนนักเรียนเอเอฟเอสจากสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งมีการเปลี่ยนเที่ยวบินเดินทางกลับ หรือกลับหลังจากวันที่ 15 เม.ย. ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยขอให้ไปติดต่อสถานทูตไทยในแต่ละเมือง เพื่อเราจะได้เตรียมรองรับคนที่เดินทางกลับมาตามที่เราสามารถรองรับได้ 200 คนต่อวัน
เมื่อถามว่า มีการแชร์เอกสารราชการคุมเข้มการระบาดของโควิด-19 จนมีการตีความว่าอาจจะนำไปสู่การเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง โดยเริ่ม 10 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นี่คือข้อห่วงใยที่ ศบค.ต้องแถลงข่าวทุกวัน เพื่อจะได้แจ้งข้อเท็จจริง แต่ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงแต่อย่างใด เพราะตอนนี้เราเพิ่งประกาศเคอร์ฟิว 6 ชั่วโมง ซึ่งทุกคนยังต้องการปรับตัว ยังต้องใช้เวลาดูแลตัวเอง ถ้าทำแล้วตัวเลขติดเชื้อใหม่ลดลง มาตรการอื่นๆไม่ต้องมี แต่ถ้าตัวเลขยังเพิ่มขึ้น แสดงว่ามาตรการที่มียังไม่เพียงพอ ถึงตรงนั้นอาจจะมีการปรับเพิ่ม ที่มีการแชร์เอกสารออกไปคงมีการไปเชื่อมโยงกับประกาศปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านชี้แจงว่าเจตนาคือต้องการสื่อสารไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อแปลงจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ท่านใช้คำว่าเตรียมการเพื่อยกระดับซึ่งเป็นข้อมูลโดยธรรมดา ยังไม่ได้บอกว่ายกระดับ แต่มีสื่อบางคนบางสำนักไปแปลงกันเอง
“พออ่านเอกสารราชการไม่ออกก็เป็นตุเป็นตะขึ้นมาจนเกิดผลกระทบ ทำให้คนกักตุนสินค้า เกิดความตื่นตระหนก ถือว่าไม่เหมาะไม่ควร ขอทุกคนถ้าไม่มั่นใจอย่าแชร์ เพราะการแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง มีโทษ เราจะต้องมีเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้ฟังการแถลงของ ศบค.จะดีที่สุด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
เมื่อถามว่า มีหลายองค์ไปจัดหาหน้ากาก N95 เพื่อนำไปบริจาคให้แก่บุคลากรทางแพทย์ แต่ปรากฏว่าการจัดในช่วงนี้ค่อนข้างยาก และอาจไม่ได้มาตรฐาน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีการรายงานเรื่องนี้เข้ามาจำนวนมากว่ามีการหลอกขายหน้ากากที่ไม่ได้คุณภาพเต็มไปหมด และปัญหานี้เกิดจากคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ปรากฏว่าเมื่อซื้อไปแล้วเป็นหน้ากากกันฝุ่น องค์การอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใยจึงแจ้งว่าถ้าไม่รู้อย่าไปซื้อ ถ้ามีจิตกุศลให้ถามปลายทางก่อน เพราะบางทีที่ซื้อไปมันใช้ไม่ได้ โรงพยาบาลเกรงใจก็ต้องรับไว้ กองไว้เป็นของไร้ค่า ยืนยันว่าการจัดหาหน้ากาก N95 นายกฯ และกระทรวงสาธารณสุขวางงบกลางไว้ให้จัดซื้อแล้ว สิ่งเหล่านี้จะถูกคลี่คลาย ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่ารัฐมีเงินทำไมจึงหาซื้อไม่ได้ ตัวเขามีเงินหาซื้อได้ หากของที่ได้เป็นของดีก็อนุโมทนาบุญ แต่หลายแห่งซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ กองไว้ที่โรงพยาบาล ถ้าเอาใช้บุคลากรทางแพทย์ติดเชื้อก็ยุ่งอีก ถ้าให้ดีสอบถามผู้รับให้เรียบร้อยจะได้ไม่เกิดดรามา
เมื่อถามว่า การขอบริจาคพลาสมา หรือสารประกอบในเลือดจากผู้ที่หายติดเชื้อ นำมาวิจัยเพื่อช่วยผู้ป่วยที่มีอาการหนักอยู่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เรื่องโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มียารักษาโดยตรง และยังไม่มีวัคซีน คนที่หายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันในน้ำเหลือง สารประกอบเลือด ประโยชน์ของภูมิคุ้มกันคือจะช่วยยับยั้งเชื้อของคนที่ป่วย บางรายประสบความสำเร็จ บางรายยังต้องประกอบการรักษาอื่นๆ ขณะนี้สภากาชาดอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ถ้าได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่หายแล้วในการนำเข้ามาบริจาคจะถือเป็นเรื่องดี