xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะถึงวันนี้ของ “นพ.ทวีศิลป์” จากเด็กโคราช ปากกัดตีนถีบ สู่จิตแพทย์ มาเป็นโฆษก ศบค.สู้ภัยโควิด-19 ** “คุณหญิงหน่อย” บิ๊กเพื่อไทย “กรณ์” บิ๊กพรรคกล้า และ “ตู่ จตุพร” บิ๊กเสื้อแดง หันหน้าเข้าหา “ลุงตู่” เสนอสู้โควิด-19 อย่างสร้างสรรค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวปนคน คนปนข่าว



** กว่าจะถึงวันนี้ของ “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” จากเด็กโคราช ปากกัดตีนถีบ สู่จิตแพทย์มาเป็นโฆษก ศบค. สู้ภัยโควิด-19

“นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในโลกออนไลน์ ทั้งเรื่องความรู้ ความสามารถอธิบายเรื่องต่างๆ ได้ดี ประกอบกับหน้าตาดี ส่งผลให้การทำหน้าที่โฆษกฯ ในห้วงเวลาที่ยากลำบากจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ผ่อนหนักเป็นเบา ลดความตึงเครียดลงไปได้ระดับหนึ่ง

นี่เองที่ทำให้หลายคนอยากรู้จัก นพ.ทวีศิลป์ มากขึ้นว่าเป็นใครมาจากไหน ก็ต้องบอกว่าประวัติของคุณหมอโฆษก ศบค.นั้นน่าสนใจยิ่ง

“นพ.ทวีศิลป์” เป็นชาวโคราช พ่อ-แม่เปิดร้านโชวห่วยในตลาดเทศบาลนครราชสีมา มีพี่น้อง 5 คน โดย นพ.ทวีศิลป์ เป็นบุตรคนที่ 2 สมัยเป็นเด็กกลับจากเรียนหนังสือก็ต้องมาค้าขายช่วยพ่อแม่ พอมีพอใช้ แต่ชีวิตก็ผกผันเป็นยากลำบากหลังจากพ่อประสบอุบัติเหตุต้องตัดขาข้างหนึ่งทิ้ง จากนั้นทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นใหม่ จากเคยมีชีวิตที่ค่อนข้างสบาย นับตั้งแต่นั้นพี่ๆ น้องๆ ของครอบครัวนี้ก็ต้องมาเลี้ยงหมู กรอกน้ำกรดใสแบตเตอรี่ ทำขนมผิง พับถุงขาย และ อื่นๆ อีกสารพัด เพื่อช่วยเหลือครอบครัว...

ช่วงที่ลำบากมากๆ ของชีวิต นพ.ทวีศิลป์ ตอนนั้นเคยแม้กระทั่งไปขอน้ำข้าวตามบ้าน แต่ละหลังแถวๆ นั้นมาเลี้ยงหมู ข้าวแทบจะไม่มีกรอกหม้อ

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
“นพ.ทวีศิลป์” เริ่มต้นเรียนที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จากนั้นก็ย้ายมาที่โรงเรียนเมืองนครราชสีมา ต่อมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนบุญวัฒนา โดยยอมรับว่าไม่ได้เป็นคนเรียนเก่ง ชอบด้านศิลปะมาก เคยประกวดได้เงินรางวัลมาแล้ว แต่ที่เรียนแพทย์ส่วนหนึ่งก็ตามความตั้งใจของพ่อกับแม่ที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงความทุกข์ยากของครอบครัวได้

กระทั่งสามารถสอบโควตาเข้า “แพทย์ชนบทมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ได้ กระทั่งจนจบ แต่จบมาก็ไม่ได้วางแผนชีวิตอะไร คิดว่าคุ้นเคยกับอีสาน เป็นเด็กอีสานก็คงอยู่ที่อีสาน ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นจิตแพทย์เลย แต่ชีวิตก็ลิขิตให้ต้องทำงานหมอเฉพาะทางอยู่โรงพยาบาลทางจิต โดยเริ่มต้นที่โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา

ต่อมาได้เข้าเรียนที่ “โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) โดยเรียนทุกด้าน ทั้งด้านสมอง สุขภาพจิต โรคจิต

เส้นทางชีวิตความเป็นจิตแพทย์ที่โคราช ทำให้ได้พบกับ “วิไลรัตน์ วิษณุโยธิน” ปัจจุบันเป็นกุมารแพทย์ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แต่งงานและย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ มีบุตรด้วยกัน 2 คน

ช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา นพ.ทวีศิลป์ เริ่มทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวช ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้คุณหมอเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ปี 2546-2547 ชีวิตรับราชการก็เปลี่ยนแปลง เมื่อมีผู้ใหญ่บอกให้มาอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ตอนนั้น นพ.ทวีศิลป์เป็นนายแพทย์ 8 เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่ง “โฆษกกระทรวงสาธารณสุข”

และเมื่อวิกฤตโควิด-19 ยกระดับมาถึงการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นพ.ทวีศิลป์ ก็ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ “โฆษกศบค.” ในที่สุด

** นิมิตหมายดี “คุณหญิงหน่อย” บิ๊กเพื่อไทย “กรณ์” บิ๊กพรรคกล้า และ “ตู่ จตุพร” บิ๊กเสื้อแดง หันหน้าเข้าหา “ลุงตู่” เสนอสู้โควิด-19 อย่างสร้างสรรค์ ดีดปากพวกเอาแต่ด่า “รัฐประหารเงียบ”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ในยามบ้านเมืองวิกฤตหนักจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ถ้าแต่ละฝ่ายมัวจ้องแต่จะจับผิด หาเรื่องกระทืบซ้ำฝ่ายตรงข้ามให้ถล่มจมธรณี เห็นทีประเทศชาติคงจะไปไม่รอดแน่ แต่ในวันนี้บ้านเมืองยังพอมีความหวังเมื่อฝ่ายตรงข้ามที่เคยโจมตีรัฐบาล “ลุงตู่” มาตลอด 5 ปี หลังจากการรัฐประหาร หันมาเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาบ้าง...

อย่างในรายของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ๋ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่เคยออกมาโจมตีรัฐบาลไปแทบจะทุกเรื่องในช่วงที่เชื้อไวรัสเริ่มระบาด จนบางครั้งกระแสตีกลับ ตัวคุณหญิงโดนประชาชนก่นด่าเสียเอง ก็หันมาเสนอแนวทางสู้กับเชื้อไวรัสร้ายอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น โดยเมื่อวานนี้ (29 มี.ค. 63) “คณหญิงสุดารัตน์” โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว นอกจากให้กำลังใจหมอ-พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนแล้ว ยังมีข้อเสนอถึงนายกฯ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สู้ COVID-19 ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เร่งดำเนินการ 5 เรื่อง ให้เร็วที่สุด… ซึ่งก็มี

1) เร่งจัดสรรงบกลางให้โรงพยาบาลให้มากพอที่จะจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดทั้งหมด กระจายอำนาจการจัดซื้อให้โรงพยาบาลจัดซื้อเอง โดยแก้ระเบียบจัดซื้อและข้อบังคับต่างๆ ชั่วคราวในภาวะวิกฤต ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจัดสรรงบกลางให้สาธารณสุขเพียง 1,500 ล้านบาท จากงบกลาง 4 แสนกว่าล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอกับการต่อสู้กับ COVID-19 ขอย้ำว่า ให้ทุ่มงบกลางให้โรงพยาบาลและแพทย์ให้มากที่สุด

2) เร่งแก้ไขปัญหาคอขวด การนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ทั้งแก้ระเบียบ และสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งเปิดทางในการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เป็นการชั่วคราวในภาวะฉุกเฉินนี้

3) ควรเพิ่ม “เบี้ยเสี่ยงภัย” ให้นักรบของเรา ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า รวมทั้งการดึง อสม.มาช่วยในชุมชนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งจัดเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย

4) ออกคำสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์ทุกชนิดที่ผลิตได้ในประเทศ และจำเป็นต้องใช้ เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การรักษาประชาชนในประเทศ อย่างเด็ดขาด ทั้งหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ ที่ในประเทศต้องการใช้

5) ระมัดระวังไม่ให้กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์นี้ กักตุน และปั่นราคาสินค้าอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ทำกับ หน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์, ไข่ไก่ ฯลฯ ได้อีกต่อไป

ส่วน “กรณ์ จาติกวณิช” ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า ก็โพสต์ข้อความ ในเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij-กรณ์ จาติกวณิช เกี่ยวกับการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ คนละ 5,000 บาท ว่ารัฐบาลต้องเพิ่มวงเงินเพื่อดูแลผู้เดือดร้อนให้ทั่วถึง ผู้เดือดร้อนมีมากกว่า 3 ล้านคนแน่นอน และรัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่าคัดเลือกผู้ได้สิทธิอย่างไม่เป็นธรรม และนี่ยังไม่นับถึงผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 อีกจำนวนมากที่ถูกลดเงินเดือน หรือถูกพักงาน และไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการ ของสำนักงานประกันสังคม โดยเฉพาะพนักงานกลุ่มภาคการท่องเที่ยว และบริการทั้งหมด

ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 200,000 ล้านบาท ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้าเสนอว่า ก่อนออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ รัฐควรปรับแผนการใช้เงินงบประมาณ และโอนงบที่ไม่เร่งด่วน หรือ มีแนวโน้มว่าจะใช้ไม่ทันในปีงบประมาณมาเป็นเงินทุนเพื่อดูแลประชาชนให้ทั่วถึง ทุกกระทรวง “กระทรวงละ 10%” ได้เพิ่มอีกประมาณ 3 แสนกว่าล้าน วินัยทางการคลังยังสำคัญ ทุกคนเชียร์ให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชน แต่ต้องใช้เงินภาษีให้เหมาะสมที่สุดในยามนี้

จตุพร พรหมพันธุ์
ทางด้าน “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวตอนหนึ่งในการจัดรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ ถึงกรณีรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าในการทำสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องทางการแพทย์ที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน ไม่ใช่สงครามทางการทหาร หลายคนในโลก Social Media ได้แสดงความกังวลว่านี่จะเป็นการรัฐประหารเงียบหรือไม่นั้น ส่วนตัวบอกได้เลยว่าไม่เชื่อว่าจะเป็นการรัฐประหารเงียบ เพราะในประเทศไทยไม่มีคนบ้าที่จะไปยึดอำนาจจาก โควิด-19 ดังนั้น บางเรื่องในบางสถานการณ์อย่าแสดงความวิตกไปจนเกินเหตุ เพราะสถานการณ์ในขณะนี้หากใครไปคิดเช่นนั้นตนเชื่อว่า สติสัมปชัญญะก็แย่เต็มที

แกนนำตัวท็อปของคนเสื้อแดงยังบอกอีกว่า สิ่งที่ทางการแพทย์ได้ร้องขอต่อประชาชน คือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ หากมีการปฏิบัติกันอย่างครบถ้วน และบางสถานที่ทำงาน หรือหน่วยงานที่ยังมีความจำเป็น ก็ต้องมีมาตรการป้องกัน ทั้งการฉีดยาฆ่าเชื้อ หรือแม้กระทั่งการสวมหน้ากากอนามัย

“ผมเชื่อมาตั้งแต่ต้นว่า หากแต่ละคนได้แสดงความรับผิดชอบ และรัฐบาลเองจะต้องแสดงความเชื่อมั่นว่า ประชาชนที่เข้าข่ายสงสัยว่าติดเชื้อ ต้องไม่มีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ว่าการตรวจ หรือการรักษา ซึ่งช่วงเวลานี้ก็เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ว่าการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้เกิดมีความกล้า ส่วนประชาชนที่ไม่เข้าข่ายว่าติดเชื้อก็อย่าวิตกจนเกินไป”

เห็นได้ชัดว่า คนระดับบิ๊กทางการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายค้าน และนักเคลื่อนไหวที่อยู่ตรงข้าม “ลุงตู่” มาตลอด วันนี้มีท่าทีที่สร้างสรรค์ ไม่เอาแต่ด่าอย่างไร้เหตุผลเหมือนบางคน ไม่เอาแต่เล่นการเมืองเหมือน ส.ส.บางพรรค ไม่บ้าบอถึงขนาดคิดได้ว่ารัฐบาลมีแผนการร้ายปล่อยโควิด-19 ระบาด เพื่อจะได้ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาแก้ไข และสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตย หรืออย่าง “นคร มาฉิม” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินของ “ลุงตู่” เป็นการทำรัฐประหารเงียบ อีกด้วย ซึ่ง “นคร” คนนี้คือคนที่เคยไปคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร ถึงการเดินทางกลับไทยได้อย่างไรมาก่อนหน้านี้


การออกมาเสนอแนวทางสู้โควิด-19 อย่างสร้างสรรค์เช่นนี้ คือสิ่งที่รัฐบาลและประชาชนคนไทยหลายฝ่ายต้องการเห็น จึงเชื่อว่านี่คือนิมิตหมายที่ดีที่คนไทยจะก้าวพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้อย่างไม่ยากเย็นในไม่ช้าด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น