xs
xsm
sm
md
lg

ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา5พัน วันแรกทะลุ18ล้านคน จี้เพิ่มงบให้แพทย์-บุคลากรด้วย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คลัง" เผยยอดผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5 พันบาท วันแรกทะลุ 18 ล้านคน ยันเข้าเกณฑ์คุณสมบัติผ่าน ได้รับเงินทุกคน ฮึ่มฟันพวกฉวยโอกาสหักหัวคิว นายกฯย้ำกำชับแก้โควิด-19 ทุกภาคส่วนหมดแล้ว แนะคุมใจตัวเองให้ได้ ทำตามมาตรการที่รัฐบาลแนะนำ ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงแน่ ศบค. เผยไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 143 ราย ยอดสะสม 1,388 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นกลุ่มที่ไปสนามมวย เตือนหยุดอยู่บ้าน ลดคนเป็นพาหะไปแพร่เชื้อ "เจ๊หน่อย"จี้นายกฯ จัดเบี้ยเสี่ยงภัย ให้บุคลากรทางการแพทย์ จัดงบฯให้ รพ.สู้โควิด-19

วานนี้ (29มี.ค.) นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถึงความคืบหน้าหลังจากเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.comเปิดให้ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน (3เดือน ) ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 มี.ค. 63 เป็นต้นไป จนถึงเมื่อเวลา21.00 น. ของวันที่ 29 มี.ค.63 มียอดผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 18 ล้านคน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จะใช้เวลาในการคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนก่อนจะจ่ายเงินเยียวยาได้เร็วที่สุดภายใน 7 วันทำการ เนื่องจากมีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการ สศค. ยืนยันว่า ไม่ว่าจำนวนผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ จะเหลือตัวเลขสุดท้ายจะเป็นเท่าใดก็ตาม ทุกคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ จะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน ครบถ้วนทุกราย

ทั้งนี้ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เปิดให้ลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชม. ไม่จำกัดจำนวนสิทธิ์ต่อวัน โดยระบบจะแจ้งผลการลงทะเบียนทาง SMSตามเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ให้ไว้ หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยผู้ลงทะเบียนสามารถเลือกรับเงินโอนได้จาก 2 ช่องทาง คือ 1. ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของธนาคารใดก็ได้ ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน, และ 2. ผ่านบัญชีธนาคารใดก็ได้ ที่มีอยู่เดิมโดยที่ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีต้องตรงกับชื่อและนามสกุลที่นำมาลงทะเบียน จึงไม่จำเป็นต้องไปเปิดบัญชีใหม่ที่สาขา

ด้าน นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าว การขอรับสิทธิ์เยียวยานั้น ขอย้ำว่าการขอรับสิทธิ์ ไม่ใช่วิธีมาก่อนได้ก่อน ประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลครบทุกคน

ขณะนี้ มีผู้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือกลุ่มมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสในช่วงวิกฤตเอารัดเอาเปรียบผู้ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 ผ่านวิธีการต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการเปิดเว็บไซต์ปลอม ซึ่งมีมากกว่า 44 เว็บไซด์ และ พยายามแสวงหาผลประโยชน์ผ่านโซเชียลมีเดีย จากมาตรการนี้ โดยอ้างว่าจะรับลงทะเบียนให้เพื่อแลกเปลี่ยนกับความสะดวก รวมทั้งขอค่าตอบแทนบางส่วนจากเงินที่ได้รับ

ดังนั้น พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการนำข้อมูลส่วนตัวของท่านไปใช้ประโยชน์อื่นใดในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้ท่านได้รับความเสียหายทางการเงินตามมา

กระทรวงการคลัง ขอเตือนไปยังกลุ่มผู้มีพฤติกรรมดังกล่าว ขอให้หยุดการกระทําทันที เนื่องจากในขณะนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบอย่างเข้มงวด และพร้อมจะดําเนินการตามกฎหมายทันทีซึ่งการกระทําดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ

นายกฯประชุมกำชับมาตรการสกัดโควิด

เมื่อเวลา 10.15 น. วะนเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โควิด-19 (ศบค.) กลุ่มเล็ก ที่ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อแก้สถานการณ์ที่เร่งด่วน โดยมีปลัด พณ. ปลัด สธ. โฆษกศูนย์ฯ รองเลขาธิการนายกฯ เข้าร่วม

ต่อมาเวลา 13.00 น. นายกฯ ได้ลงจากตึกไทยคู่ฟ้า โดยก่อนเดินทางกลับ นายก ฯได้วนรถยนต์ส่วนตัวมาที่ ศบค. ซึ่งตั้งอยู่ภายในตึกสันติไมตรี โดยนายกฯ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่มาจากหลายภาคส่วน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ก่อนเดินทางกลับ นายกฯ กล่าวว่า กำชับมาตรการไปหมดแล้ว โดยให้แต่ละส่วนชี้แจงข้อมูล

เมื่อถามว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน จะมีมาตรการเพิ่มเติม หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรเพิ่ม ก็ให้ทำตามมาตรการจะได้ลดลง เมื่อถามย้ำว่า จะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้อีกหรือไม่ เพราะบางจังหวัดมีมาตรการที่เข้มข้น และปิดพื้นที่ไปแล้ว นายกฯ กล่าวว่า “คุมใจตัวเองให้ได้แล้วกัน สื่อก็คุมตัวเองด้วย”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งหน่วยงานภายใต้ ศบค. และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวประกอบด้วย

1. สำนักเลขาธิการ 2. สำนักประสานงานกลาง 3. ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านก่รแพทย์และสาธารณสุข 4. ศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน 5. ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน

6. ศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า 7. ศูนย์ปฎิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ 8. ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม 9. ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง 10. ศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19

โดยการปฏิบัติงานของศูนย์ดังกล่าว จะรายงานตรงสู่นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามสถานการณ์และสั่งการทันทีหากมีข้อติดขัด

ไทยติดเชื้อรายใหม่143 รายตายเพิ่ม1ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 มีคนติดเชื้อทั้งโลกแล้ว 645,158 ราย และเสียชีวิต 29,951 ราย ส่วนในประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ จำนวน 143 ราย ผู้ป่วยสะสมรวม 1,388 ราย เป็นคนไทย 1,172 ราย คนต่างชาติ 216 ราย เป็นผู้ชาย 61% โดยเป็นผู้ป่วยใน กทม. 641 ราย ที่เหลือกระจายตามภูมิภาค มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นผู้ชายอายุ 68 ปี ที่ จ.นนทบุรี โดยรายนี้ มีประวัติเชื่อมโยงกับการไปในสนามมวย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย

ทั้งนี้ ย้ำว่าผู้ติดเชื้อมีทั้งที่มีอาการ และไม่มีอาการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีอาการต้องตรวจหาให้เจอ เพราะเดินทางไปมาได้ หรืออาการเล็กน้อย ไม่ได้หยุดพักอยู่กับบ้าน เป็นพาหะนำโรคที่ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นายกฯระบุว่า เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีความเป็นห่วง และกังวล ดังนั้น มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะต้องมีมาตรการที่เฉพาะเจาจะจงลงไป โดยสั่งการให้กระทวงมหาดไทย แจ้งมาว่าแต่ละแห่งมีมาตรการอย่างไร และให้รายงานต่อนายกฯโดยตรงทุกวัน ซึ่งขณะนี้ทุกพื้นที่เข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศห้ามเดินทางเข้า-ออก ยกเว้นต้องการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้า หากใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่รัฐบาลต้องทำแบบนี้เพื่อท่านเอง อาจเสียความสะดวกสบายไปบ้าง แต่อดทนสักนิด ทุกอย่างจะกลับคืนกลับมาเหมือนเดิม และขอย้ำว่า รวมกันติดหมู่ แยกกันอยู่ เรารอด

จี้จัดงบให้รพ.-เพิ่มเบี้ยเสี่ยงภัยให้แพทย์

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า การสู้รบกับ “ศัตรูที่มองไม่เห็น”ขวัญ-กำลังใจ และอุปกรณ์ป้องกันตัว คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่ง ขวัญ-กำลังใจ คือสิ่งที่ประชาชนไทยพร้อมใจกันมอบให้กับ “นักรบด่านหน้า”ทุกท่าน ที่เสียสละ “เสี่ยงชีวิตตัวเอง เพื่อช่วยชีวิตพวกเรา”โดยเวลา 20:00-20:05 น. คืนนี้ ประชาชนทั้งประเทศ ได้นัดกับตบมือให้กำลังใจ คุณหมอ-พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน จากทุกตรอกซอกซอย ทุกแหล่งพักอาศัย ทุกๆที่ ที่มีประชาชนอาศัยอยู่

ส่วนในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันตัวของบุคลากรทางการแพทย์นั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับแรก และถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด

นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็นวันที่ 4 แล้ว เรื่องเร่งด่วนที่นายกฯ ควรจัดการมากที่สุดคือ การผ่าตัดระบบการบริหารจัดการอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อให้ทุกโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ต่างๆใช้อย่างเพียงพอ จะปล่อยให้ขาดแคลน จนถึงขั้นที่ต้องใช้ถุงก๊อปแก๊ปมาครอบกันเชื้อ หรือซักแมสตากไว้ใช้ซ้ำอีก อย่างที่ผ่านมาไม่ได้ นายกฯต้องลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้ค่ะ

การที่นายกฯ ส่งคุณหมอไปใกล้ชิดรักษาผู้ป่วย โดยที่ไม่สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันตัวให้นั้น มันไม่ต่างอะไรจาก ผบ.ทบ. ส่งทหารราบ ออกไปรบ โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันกระสุนเลยค่ะ

นอกจากนั้นแล้ว ที่ผ่านมา ยังมีกลุ่มบุคคลที่โยงใยถึงคนในรัฐบาล ได้แสวงหาผลประโยชน์ จากอุปกรณ์เหล่านี้ จนกระทั่งทั้งคุณหมอ และประชาชนทั่วไปไม่มีใช้ เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว นายกฯ ควรจัดการให้เด็ดขาด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายประจำ เพื่อสร้างขวัญ-กำลังใจ และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลกลับมา

ดิฉันขอเสนอให้นายกฯ ในฐานะประธานศูนย์ฯสู้ COVID-19 ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เร่งดำเนินการเรื่องต่อไปนี้ ให้เร็วที่สุด

1. เร่งจัดสรรงบกลาง ให้ รพ. ให้มากพอที่จะจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลน กระจายอำนาจการจัดซื้อให้ รพ.จัดซื้อเอง โดยแก้ระเบียบจัดซื้อ และข้อบังคับต่างๆ ชั่วคราวในภาวะวิกฤต ขณะนี้รัฐบาลจัดสรรงบกลางให้สาธารณสุข เพียง 1,500 ล้านบาท จากงบกลาง 4 แสนกว่าล้านบาท นั้น ไม่เพียงพอกับการต่อสู้กับ COVID-19 ขอย้ำว่า ให้ทุ่มงบกลางให้ รพ. และแพทย์ ให้มากที่สุด

2. เร่งแก้ไขปัญหาคอขวด การนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น ทั้งแก้ระเบียบ และสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งเปิดทางในการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นโดยด่วน

3. เพิ่ม "เบี้ยเสี่ยงภัย" ให้นักรบของเรา ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า

4. ออกคำสั่งห้ามส่งออกอุปกรณ์ทุกชนิดที่ผลิตได้ในประเทศ และจำเป็นต้องใช้ เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และการรักษาประชาชนในประเทศ อย่างเด็ดขาด ทั้งหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ

5. ระมัดระวังไม่ให้กลุ่มแสวงหาผลประโยชน์นี้ กักตุน และปั่นราคาสินค้าอื่นๆ เช่นเดียวกับที่ทำกับหน้ากากอนามัย, เจลแอลกอฮอล์, ไข่ไก่ ฯลฯ ได้อีกต่อไป

ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาในข้อเสนอเหล่านี้ เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาด, รักษาคนไข้อย่างมีประสิทธิภาพ, บำรุงขวัญและกำลังใจให้ "นักรบด่านหน้า" ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล กลับคืนมาให้กับพี่น้องประชาชนไทย โดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น