“หมอเลี้ยบ” อดีต รมต. “เพื่อแม้ว” วิพากษ์จัดหนัก ผลงานฝ่ายค้าน ทำประชาชนสิ้นหวัง แนะ พท.ต้องปฏิรูปใหญ่-อดีต อนค.ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหญ่ ไม่งั้นเจ๊ง ขณะ “ทอน” สั่งลา ส.ส.อดีตลูกพรรค ให้หนุนแฟลชม็อบ “นิสิต-นศ.”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(1 มี.ค.63) เฟซบุ๊ก สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ของ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” คอลัมนิสต์ประจำเว็บไซด์ประชาไท อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เลขาธิการพรรคพลังประชาชน และหนึ่งในกลุ่มคนเดือนตุลา โพสต์หัวข้อ “เพื่อไทยต้องการการปฏิรูปใหญ่ (อดีต) อนาคตใหม่ต้องการยุทธศาสตร์ใหญ่”
โดยระบุว่า “เราเดินทางมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อของหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง
สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สะสมพลังของความขัดแย้งคุกรุ่นมากว่า 13 ปี เมื่อเกิดพลังของนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นอย่างฉับพลัน ผสานกับแรงกระแทกต่อเศรษฐกิจของโลกและไทย จาก "ไวรัสโควิด-19" ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองของเรานับจากนี้เกินที่จะคาดเดา
การเตรียมพร้อมรับมืออย่างเอาจริงเอาจังในสถานการณ์ที่เกินคาดเดาจึงสำคัญ
แต่เมื่อผมสังเกตท่าทีของสองพรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว ราวกับไม่เฉลียวใจเลยว่า สถานการณ์ใหญ่กำลังมาถึง และทุกคนต้องช่วยกันผลักช่วยกันดัน มิฉะนั้น จะจมปลักกับฤดูหนาวต่อไปอีกยาวนาน
แม้พลังของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา คือความหวังที่ผุดขึ้นมาอย่างเจิดจ้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทในรัฐสภาของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไป สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในพรรคเพื่อไทยว่า ขาดภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง การบริหารจัดการอ่อนด้อย กระบวนการตัดสินใจสับสนและไม่ทันกลอุบายทางการเมือง
ผมเชื่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในคืนสุดท้ายของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้านหลักเกิดขึ้นจากปัญหา "การนำและการจัดการ" ภายในพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เรื่องอื่น
คำขอโทษที่ดีที่สุดจากพรรคเพื่อไทย จึงไม่ใช่เพียงเอ่ยปากขอโทษประชาชนและพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่คำขอโทษที่หนักแน่นและจริงใจที่สุด คือ การปฏิรูปตนเองครั้งใหญ่ของพรรคเพื่อไทย
ผมคิดว่า แกนนำของพรรคเพื่อไทยรู้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน แก้อย่างไร แต่ทอดเวลามาเนิ่นนาน ยังไม่ลงมือแก้ไข
วันนี้ เวลานี้ สถานการณ์ใหม่มาถึงแล้ว ไม่มีเวลาให้ลังเลอีกแล้ว
ส่วนปัญหาของ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่ แตกต่างออกไป
พรรคอนาคตใหม่ เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ผลงานในการอภิปรายไม่ไว้วางใจดีงามตามความคาดหวังของผู้สนับสนุนและศรัทธา แกนนำพรรคต่างทุ่มเทเชิงรุก จึงตั้งเป้าสูง เล็งผลเลิศ เพื่อสร้างพรรคให้เติบโต
การตั้งเป้าสูงเป็นสิ่งที่พึงกระทำตามแนวทางการบริหารสมัยใหม่แบบ OKRs แต่องค์กรการเมืองไม่ใช่องค์กรธุรกิจ ยิ่งเป็นการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ย่อมซับซ้อน ไม่ง่าย และมีปัจจัยหลากหลายที่มีส่วนกำหนด
การเรียกร้องประชาธิปไตย อาศัยการขับเคลื่อนโดยพรรคการเมืองเดียว ไม่มีวันสำเร็จ แต่ต้องมีแนวร่วมที่กว้างขวาง และประชาชนจำนวนมากสนับสนุน
การสร้างแนวร่วม จึงสำคัญ ต้องมีการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง, มองภาพรวมเป็นหลัก ไม่ชิงดีชิงเด่น แนวร่วมจึงจะมั่นคง ยากที่ใครยุแหย่และทำลาย
คนเก่งมีน้อย แต่คนทำงานแนวร่วมเก่งยิ่งมีน้อยกว่า เพราะคนทำงานแนวร่วมเก่ง ไม่เพียงเก่งเฉพาะตัว แต่ต้องเก่งในการทำให้ทั้งขบวนเดินไปอย่างประสานสอดคล้อง เป็นเอกภาพ คนทำงานแนวร่วมเก่งเห็นประโยชน์ของทั้งขบวน มากกว่าประโยชน์ของตนและพรรค
ภายใต้สถานการณ์ที่เรียกร้องการรวมพลังของฝ่ายประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์ของ (อดีต) พรรคอนาคตใหม่จึงต้องการยุทธศาสตร์ใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่ายุทธศาสตร์ของพรรค
คือ ยุทธศาสตร์แนวร่วมประชาธิปไตย
แน่นอน, สิ่งที่ “หมอเลี้ยบ” กล่าวถึง ตอนหนึ่ง สำหรับพรรคเพื่อไทยว่า “...แกนนำของพรรคเพื่อไทยรู้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน แก้อย่างไร แต่ทอดเวลามาเนิ่นนาน ยังไม่ลงมือแก้ไข...” อาจหมายถึงการช่วงชิงการนำในพรรคเพื่อไทย ซึ่งคนในพรรครู้ดีว่ามีปัญหา จนมีข่าวส.ส.อีสานบางส่วนเดินทางไป “ล็อบบี้” นายทักษิณ ชินวัตร ถึงดูไบ ให้ปลด “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค ก่อนที่จะมีข่าวว่า “ทักษิณ” ไฟเขียวให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กุมบังเหียนยุทธศาสตร์พรรคแทน รวมทั้งเป็นผู้นำในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านมา นั่นเอง
ขณะเดียวกัน กรณีอดีตพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แทนที่จะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จนสำเร็จลุล่วง กลับได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทยแทน
กรณีกล่าวหาว่า พรรคเพื่อไทย อาจมีดีลลับกับรัฐบาล จนเป็นเหตุให้ ไม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ฝ่ายค้านยังแถลงการณ์ “วอร์คเอ้าท์” ไม่ร่วมลงมติ ขณะที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ต้องการลงมติ จนอดีตพรรคอนาคตใหม่ มีการติด แฮชแท็ก “กูสั่งให้มึงเข้าสภา” เพื่อร่วมลงมติไม่ไว้วางใจฯ
นั่นย่อมหมายถึงรอยร้าวครั้งนี้ จะไม่มีวันประสานได้อย่างสนิทแน่นอน เพราะความเชื่อใจมันหมดไปแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่ “หมอเลี้ยบ” เรียกร้องให้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหญ่ โดยไม่เน้นแค่ยุทธศาสตร์พรรค แต่เป็นยุทธศาสตร์แนวร่วมประชาธิปไตย ก็คงเป็นได้ยากเช่นกัน ตราบที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังเป็นพรรคเพื่อไทย ภายใต้ผู้นำชุดนี้
อย่างไรก็ตาม จังหวะก้าวของอดีตพรรคอนาคตใหม่ นับแต่นี้ อาจสอดคล้องกับ กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit เมื่อวันที่ 1 มี.ค.63 เรื่อง "ฝากข้อความสุดท้ายถึง ส.ส. ที่เหลืออยู่ของอดีตพรรคอนาคตใหม่"
โดยระบุว่า “ภารกิจสุดท้ายของผมในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คืองานอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ภายใต้ชื่อปฏิบัติการพิน็อคคิโอได้จบลงไปแล้ว ผมเชื่อว่าพวกเราได้ทำให้ประชาชนเห็นถึงการทำงานอย่างสร้างสรรค์ ทุ่มเท และกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างกล้าหาญตรงไปตรงมาเหมือนที่เราสัญญาไว้ ถือเป็นเกียรติของผมที่ได้ร่วมงานกับผู้อภิปรายของเราทุกท่าน ทุกคนทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ ผมถือว่าตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นการทำงานที่สนุกและท้าทายอย่างยิ่ง
วันนี้ผมเดินทางไปกับพรรคใหม่กับพวกคุณด้วยไม่ได้ ผมจะให้กำลังใจและเฝ้ามองความสำเร็จของพวกคุณอยู่ห่างๆ โดยไม่แทรกแซงและไม่ครอบงำการทำงาน ภาวะการเมืองในวันนี้คือช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นี่คือช่วงเวลาแห่งความกล้าฝัน กล้าที่จะทะเยอทะยาน วันนี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน “อยู่ไม่เป็น”
พวกเขาเสียสละอย่างมาก เพราะมีต้นทุนในชีวิตที่ต้องเสียไปมากกว่า เขาไม่มีเอกสิทธิ์ปกป้องเฉกเช่นเดียวกับ ส.ส. พวกเขาเป็นคนธรรมดาไม่มีชื่อเสียงสถานะ พวกเขาเถียงกับเพื่อน ทะเลาะกับพ่อแม่ พวกเขาไม่มีรายได้ แต่พวกเขาก็ลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ดังนั้นการ “ไม่ทรยศประชาชน” ของ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่เพียงพอ
ผมขอฝากเพื่อน ส.ส. ที่เคยทำงานด้วยกันว่า คุณต้องทำมากกว่านั้น ต้องยืนยันหลักการ ต่อสู้ร่วมกับประชาชน สนับสนุนพวกเขา อย่าให้ตำแหน่งที่คุณมีกลายเป็นโซ่ตรวน เป็นพันธนาการของตัวเอง จงใช้มันเพื่อรับใช้มวลชน
ส่วนตัวผมเอง ขอทำหน้าที่การรณรงค์ทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกสภา ต่อสู้และต่อต้านระบอบรัฐประหารร่วมกับประชาชนให้ถึงที่สุด รณรงค์สนับสนุนพวกคุณ และเมื่อวันหนึ่งหากคุณได้เป็นรัฐบาล ผมหวังว่าคุณจะใช้อำนาจที่พี่น้องประชาชนให้มาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ผลักดันวาระก้าวหน้า และสร้างฝันของเราให้เป็นจริง ประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องมีพรรคที่ก้าวหน้า กล้าหาญ และเท่าทันสถานการณ์ในสภา
ในสถานการณ์การต่อต้านเผด็จการ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย สภาผู้แทนราษฎรยังมีความสำคัญ นี่คือภารกิจที่คนอื่นในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทำไม่ได้ นอกจากพวกคุณ (อย่างน้อยที่สุดก็ในรอบนี้) อย่าทิ้งโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์มอบโอกาสให้คุณแล้ว ถ้าไม่ยืนหยัดสู้ในวันนี้แล้ว เราจะสบตาคนรุ่นต่อไปได้อย่างไร จงยึดมั่นในความยุติธรรมและความเท่าเทียม เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ใหม่ๆ โลกใบใหม่อยู่ในมือเรา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเด็นที่เห็นชัด จากโพสต์ของ “หมอเลี้ยบ” และ “ธนาธร” ก็คือ พรรคฝ่ายค้านหรือที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย กำลังอยู่ในภาวะที่เป็นที่พึ่งประชาชนไม่ได้ เพราะอ่อนแอ ระส่ำระสาย ทั้งภายในพรรคแต่ละพรรคก็ไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่การนำของแต่ละพรรค ก็อยู่ในภาวะ “หัวขาด” ทั้งสองพรรค
ยิ่งกว่านั้น จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังเห็นได้ชัดด้วยว่า “เอกภาพ” ของการพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
ต่อไป.. ก็อยู่ที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาแฟลชม็อบ นิสิต-นักศึกษาอย่างไร เพื่อไม่ให้บานปลายกลายเป็นการลุกฮือของประชาชน และการแก้ปัญหาของประเทศอย่างจริงจังในทุกปัญหา เพื่อจะได้ไม่สะดุดขาตัวเอง
มิเช่นนั้น ต่อให้รอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯในสภา แต่ใครจะรู้ว่า นอกสภา อาจน่ากลัวกว่าก็เป็นได้ ใครจะรู้!!!