xs
xsm
sm
md
lg

DITP จับมือ IDS โค้ชชิ่ง “ดิจิทัลดีไซเนอร์” เตรียมยึดหัวหาด CLMV

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



DITP จับมือ IDS จัดกิจกรรม Design Service Transformation อบรมเชิงลึกเชิญดิจิทัลดีไซเนอร์มืออาชีพมาโค้ชชิ่ง พร้อมติว 5 เทรนด์โลกอนาคตต้องเท่าทัน AI - Digital Data - Circular Economy พร้อมจุดประกายปฏิรูปตัวเองแสวงหาโมเดลใหม่ทางธุรกิจ

น.ส.ประอรนุช ประนุช
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 63 ที่อาคารเคเอ็กซ์ ชั้น 11 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี น.ส.ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดโครงการกิจกรรมการส่งเสริมความรู้ผ่านการอบรมสัมมนาเชิงลึกภายใต้แนวคิด Design Service Transformation ว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักออกแบบในฐานะผู้สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลทางธุรกิจและอุตสาหกรรมการส่งออกด้วยการใช้งานออกแบบ ซึ่งกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

น.ส.ประอรนุช กล่าวว่า สำหรับบทบาทของกรมฯ เกี่ยวกับการอบรมและสร้างนักออกแบบหน้าใหม่นั้น มุ่งเน้น 2 เรื่องด้วยกัน คือสร้างนักออกแบบมืออาชะที่จะช่วยออกแบบสร้างสรรค์และเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและอุตหกรรมการส่งออกของผู้ประกอบการคนไทย ขณะเดียวกันก็มุ่งหวังจะสร้างนักออกแบบมืออาชีพและส่งออกไปยังต่างประเทศในรูปแบบของธุรกิจการให้บริการด้านการออกแบบ โดยมีเป้าหมายกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (CLMV) 4 ประเทศ ที่ประกอบด้วย กัมพูชา, สปป.ลาว, เวียดนาม และเมียนมา โดยเฉพาะ เมียนมา และเวียดนาม ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก ซึ่งในเดือน มี.ค.นี้จะพานักออกแบบไทยไปให้บริการด้านการออกแก่กับผู้ประกอบการที่เมียนมาเป็นที่แรก ถือเป็น Business Matching ในรูปแบบหนึ่ง

“การสร้างนักออกแบบมืออาชีพรุ่นใหม่ให้เข้าไปแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ แก่ผู้ประกอบการ นักออกแบบมืออาชีพเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าถือเป็นสินค้าส่งออกอีกรูปแบบหนึ่ง นอกเหนือจากการให้บริการช่วยให้คำแนะนำการออกแบบสินค้าเพียงอย่างเดียว” น.ส.ประอรนุช กล่าว

ด้าน รศ.ดร.โชคอนันต์ บุษราคัมภากร นายกสมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ Industrial Designers Society (IDS) กล่าวว่า นักออกแบบรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล ต้องปฏิรูปความคิดการให้บริการและรูปแบบธุรกิจใหม่ด้านการออกแบบให้ทันสมัยตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก 5 เทรนด์ ดังนี้ 1.การออกแบบที่เรียกว่า “Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML)” สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ตอบสนองสินค้าหรือบริการใหม่ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาให้บริการ เช่น ตู้ซื้อสินค้าอัตโนมัติ หุ่นยนต์ปรุงอาหาร ร้านสะดวกซื้อโดยไม่มีพนักงานขาย 2.การออกแบบที่เรียกว่า “Digital Data” ด้วยการออกแบบให้ตอบโจทย์ได้ทุกมิติที่เป็นความต้องการทางธุรกิจ โดยสามารถใช้ “อัลกอริทึม” และ “Data” เข้ามาเครื่องมือในการออกแบบ 3.การออกแบบที่เน้นสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ “ประสบการณ์ส่วนบุคคล” เช่น เสื้อผ้าที่สามารถตอบโจทย์เรื่อง Health Tech 4.การออกแบบที่เน้นสร้าง “ผลกระทบทางสังคม หรือ สิ่งแวดล้อม” เช่น บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse หรือ Recycle) เพราะแนวโน้มบรรจุภัณฑ์จะเลิกใช้พลาสติกและหันมาใช้วัสดุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 5.แนวคิดการออกแบบ “Circular Economy” หรือ “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน” กล่าวคือ กระบวนการผลิตตั้งแต่จัดหาวัตถุดิบ การผลิตเป็นสินค้า โดยทุกกระบวนการปราศจากของเสียสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่รู้จับ ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องปรับวิธีคิด เพราะนี่คือ แนวทางการออกแบบยุคดิจิทัลดีไซน์

ทั้งนี้การเป็น “ดิจิทัลดีไซเนอร์” ต้องมีการทบทวนกรอบความคิด 3 ประการ คือ Rethink ต้องทบทวน และ ปฏิรูปกระบวนการออกแบบใหม่ Redefine สามารถอธิบายการให้บริการออกแบบในรูปแบบใหม่ได้ และ Remodel จะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ในการออกแบบได้อย่างไร ดังนั้นการฝึกอบรมในครั้งนี้ ต้องการจุดประกายทางความคิดเพื่อนำไปสู่การปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัลดิไซน์

“ถึงเวลาต้อง Reskill และ Upskill เพราะการ Layoff คนรุ่นเก่าที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด หรือ Disruptive ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาอีกแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำงานที่คนรุ่นเก่าทำไม่ได้ และ คนรุ่นเก่าไม่สามารถทำงานที่คนรุ่นใหม่ทำได้เช่นกัน ดังนั้นปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่จึงปรับกลยุทธ์ ด้วยการไม่ไล่คนออก แต่จะให้คนที่มีอยู่พัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ใหม่ให้สามารถค้นหาคุณค่าตัวเองที่เท่าทันเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างไรต่างหาก” รศ.ดร.โชคอนันต์ กล่าว

ทั้งนี้กิจกรรมสัมมนาเชิงลึกในครั้งนี้ ต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ที่มีประสบการณ์ตรงด้านดิจิทัลดีไซน์มาถ่ายทอดองค์ความรู้ในเชิงลึกว่า หากจะปรับตัวจากอุตสาหกรรมดีไซน์ ไปสู่ ดิจิทัลดีไซน์ จะต้องปรับตัวอย่างไร เพราะในอีก 2 ปีข้างหน้าไม่ใช่วงการออกแบบเท่านั้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการธุรกิจ อาจต้องตกยุคหากไม่ปฏิรูปตัวเองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้เท่าทันกับเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ คุณวริน ธนทวี Director of CorDesign Studio นับเป็นดิจิทัลดีไซเนอร์มืออาชีพผ่านประสบการณ์ทำธุรกิจสตาร์ทอัพมาอย่างโชกโชน ก่อนจะมาทำงานให้กับบริษัท Tech Company ชั้นนำของโลก มีผลงานออกแบบอันโดดเด่น คือ มอเตอร์ไซด์พลังงานไฟฟ้า ยี่ห้อ Zapp กล่าวให้คำแนะนำว่า ดิจิทัลดีไซเนอร์ ไม่เพียงแต่เก่งในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สวยงามเท่านั้น แต่ต้องสามารถออกแบบเพื่อนำไปสู่การ “สร้างแบรนด์” ให้โดดเด่นมีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จัก เพื่อความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจระยะยาว รวมไปถึงต้องรู้จักนำข้อมูลงานวิจัยและพัฒนา หรือ ฐานข้อมูล (Data Base) จากลูกค้าหรือผู้บริโภคที่จัดเก็บโดยดิจิทัลเทคโนโลยี มาใช้ประโยชน์ช่วยให้การออกแบบได้สะดวกและง่ายตรงตามความต้องการตลาดอย่างแท้จริง และหากแนวคิดการออกแบบใหม่ประสบความสำเร็จต้องรีบจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาทันทีเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ
อย่างไรก็ตาม โครงการ Design Service Society จัดมาเป็นปีที่ 6 แล้ว ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อบรมและป้อนนักออกแบบมืออาชีพเข้าสู่อุตสาหกรรมการส่งออกไปช่วยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ จำนวนกว่า 100 คน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการสร้างจุดเริ่มต้นในการสร้างแฟลตฟอร์ม หรือ เวทีสร้างความรู้จักระหว่างนักออกแบบกับผู้ประกอบการที่อาจจะร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในอนาคต ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา มามีส่วนร่วมในการสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีฝีมือการออกแบบอย่างมือาชีพตอบโจทย์เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.idsocietythailand.org หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่email : idsocietythai@gmail.com Facebook Fanpage : idsocietythai
กำลังโหลดความคิดเห็น