xs
xsm
sm
md
lg

สศร.ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.เชียงราย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศร.ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชน จ.เชียงราย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ได้จัดโครงการโครงการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบรุ่นใหม่ มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มเมื่อปี 2558 จนถึงปัจจุบันเพื่อส่งเสริมให้นักออกแบบรุ่นใหม่ด้านเรขศิลป์ หรือกราฟิกดีไซน์ ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ของไทย โดยส่งเสริมให้นักออกแบบซึ่งเป็นเยาวชนของสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ลงพื้นที่สถานการณ์จริง มีการอบรมด้านการออกแบบเรขศิลป์ และสร้างสรรค์ผลงานจริงในชุมชนต่างๆ โดยค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชนมาออกแบบผลงาน ขณะเดียวกันจะพัฒนาทักษะของคนในชุมชนนำมาสู่การค้นหาตัวตนในท้องถิ่น และสามารถผลิตได้เอง จัดทำเป็นรายการออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องอัมรินทร์ สำหรับปีนี้ได้มีเยาวชนจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศสมัครแข่งขันถึง 90 ทีม ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 5 ชุมชนใน จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 เมืองศิลปะ ได้แก่ ชุมชนบ้านปางขอน ต.ห้วยชมพู อ.เมือง ชุมชนท่องเที่ยวชุมชนปางห้าโฮมสเตย์ อ.แม่สาย ชุมชนบ้านแซว อ.เชียงแสน ชุมชนบ้านสันทางหลวง อ.แม่จัน และชุมชนศรีดอนชัยไทลื้อ อ.เชียงของ ผลิตเป็นโลโก้ แผ่นพับ ป้ายชุมชน บรรจุภัณฑ์ และสินค้าที่ระลึก

ด้าน น.ส.สิริพร ไพบัญญา พร้อมด้วย น.ส.สุภาวดี วรรณสิงห์ จากทีมมะงุมมะงาหรา มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คว้ารางวัลชนะเลิศปีนี้ กล่าวว่า ทีมของเธอรู้สึกดีใจที่ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชนบ้านปางขอน ต.ห้วยชมพู ได้รับความสนใจจนชนะการแข่งขันในครั้งนี้ พร้อมกันนี้รู้สึกประทับใจการได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงได้มีส่วนช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยการดึงศักยภาพความโดดเด่นของชาติพันธ์ของคนในหมู่บ้านที่มีทั้งอาข่า ล่าหู่ อิวเมียน ที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่มีคุณภาพดีมาเป็นอัตลักษณ์ทั้งแบบกาแฟคั่ว น้ำผึ้งดอกกาแฟ เชอร์รี่ดอยดอง ให้มีตราสัญลักษณ์ที่โดดเด่น ดึงดูดความน่าสนใจ จัดทำเป็นของที่ระลึกทั้งตรายาง กระเป๋า รวมถึงเสื้อผ้า พร้อมกับการและส่งเสริมจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นร้านกาแฟปางขอน พิพิธภัณฑ์ลานกิจกรรม ไร่กาแฟ และโรงคั่วกาแฟ ที่สำคัญชุมชนไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก แต่สามารถต่อยอดนำไปใช้สร้างเป็นสินค้าสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น