วันนี้ ถ้าพูดถึงสตาร์ทอัปไทย หลายคนมองว่า อยู่ในช่วงขาลงเหมือนเศรษฐกิจหรือเปล่า ต้องบอกว่าไม่ใช่ สำหรับสตาร์ทอัพ สายพันธุ์ไทย รายนี้ เพราะเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพไทยที่ถูกจับตาว่า จะเป็นสตาร์ทอัปไทยรายแรกที่มีโอกาสจะได้ก้าวเข้าสู่ การเป็นยูนิคอร์น
ครั้งนี้ กำลังพูดถึงสตาร์ทอัปไทย ที่มีชื่อว่า Zanroo แสนรู้ ถ้าไม่ได้อยู่ในวงการตลาดดิจิทัลออนไลน์ ชื่อนี้ไม่คุ้น แต่ถ้าธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยต้องบอกว่า หลายรายเป็นลูกค้าของ Zanroo โดยเฉพาะธนาคารเกือบทุกแห่งรวมถึงองค์กรขนาดใหญ่กว่า 100 ราย หรือกว่า 70%เป็นลูกค้าของ Zanroo
มาทำความรู้จักกับ Zanroo กันก่อน
Zanroo เป็นสตาร์ทอัปที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเก็บข้อมูล BIG DATA ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก หรือ ขนาดใหญ่บนโลกออนไลน์ ทุกคนต้องการ BIG DATA เพื่อใช้วิเคราะห์แผนการตลาด ด้วยเหตุนี้เอง ส่งผลให้Zanroo เติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เริ่มกิจการในปีแรกๆ และเป็นสตาร์ทอัปไทย ที่สามารถระดมทุนได้มากกว่า 250 ล้านบาท หรือ 7.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 4ปีแรกเริ่มกิจการ และปัจจุบันเป็น 1ใน 5,000 ที่เป็น World’s Top MarTech Company และเป็นสตาร์ทอัปที่เติบโตอันดับต้นของอาเซียน
โดยปัจจุบัน มีสำนักงานที่เปิดให้บริการอยู่ประเทศต่างๆ มากถึง 5 แห่ง ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไทย มีลูกค้ามากกว่า 300 รายเป็นกลุ่ม ธนาคาร ยานยนต์ โทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซ และสินค้าอุปโภคบริโภค
ทั้งนี้ มารู้จักกับ Zanroo กันว่าเขาให้บริการอะไร ทำไม ถึงมีนักลงทุนสนใจอยากจะร่วมทุน โดยการให้บริการจะแบ่งออก 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก Social Listening คือ การให้บริการลูกค้าที่ต้องการทราบความเคลื่อนไหวสังคมในโซเชียล และอินเตอร์เน็ตว่า มีการพูดถึงธุรกิจของเราว่าอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้านำไปทำอะไรต่อ หรือต้องการให้บริษัทช่วยอะไรต่อ ส่วนที่สอง Zanroo Desk คือ การให้บริการในเรื่องของ CRM ที่สามารถช่วยให้แบรนด์กระจายงานที่ได้รับจากลูกค้าผ่านช่องทางต่างของแบรนด์ ให้เหมาะสม และถูกต้องแม่นย่ำตรงแผนก สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของลูกค้าที่มีอยู่แล้ว เพิ่มขีดความสามารถให้แพลตฟอร์มดียิ่งขึ้น
และส่วนที่สาม คือ Zanroo Search เป็นแพลตฟอร์ม ที่เปิดกว้างให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้ ผ่านบริการ Search engine เมื่อต้องการจะทราบข้อมูลขององค์กร บุคคลใด หรือ เรื่องราวอะไร เกี่ยวข้องกับการตลาด จะทราบข้อมูลว่าในโซเชียล หรือในอินเตอร์เน็ตมีการพูดถึงเรื่องที่กำลังค้นหาว่าอย่างไร
2 หนุ่มวิศวะ ฝันสร้าง Zanroo สตาร์ทอัพไทยก้าวสู่ ระดับยูนิคอร์น
พอได้รู้จักกับบริการ Zanrooไปแล้ว ครั้งนี้ มาทำความรู้จัก กับผู้ก่อตั้ง เป็น 2 หนุ่มคนรุ่นใหม่ไฟแรง ชื่อว่า “นายชิตพล มั่งพร้อม” ดีกรีวิศวะการไฟฟ้า จากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ “นายอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร” วิศวะคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เช่นกัน ทั้งสองเริ่มต้นจากศูนย์ แต่มีความฝันเดียวกัน ที่อยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง และกิจการนั้นต้องตอบโจทย์ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในอนาคต ที่ไม่ต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ ที่สำคัญ “ชิตพล” มองว่า ต้องเอาตัวเราเองเป็นทุน เพราะด้วยวัยในขณะนั้น เพียงแค่ 22 ปี เงินทุนที่หาได้ มีทางเดียว คือ เงินทุนจากพ่อ แม่ เท่านั้น เพราะคงไม่มีสถาบันการเงินกล้าให้เงินกู้กับ คนในวัย 20 ปีต้นๆ อย่างเขา
“ชิตพล” เล่าว่า ก่อนที่ผมและเพื่อนจะมาทำ Zanroo เราทั้งคู่ผ่านการทำงานอื่น มาก่อน อย่างผมก็เคยทำกิจการหลายอย่าง ไมว่าจะเป็นการขายแซนวิช และค่อยพัฒนามาทำแคทเทอริ่ง แต่ทำตรงนั้นไม่ตอบโจทย์ ความคิดของเราที่จะมีเงินหลักล้าน ซึ่งเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ยังไม่มีสตาร์ทอัป ไม่ได้มองว่าจะเป็นสตาร์ทอัป หรือ จะมีช่องทางในการระดมทุนเหมือนอย่างสตาร์ทอัปทุกวันนี้ ดังนั้น การเริ่มต้นของเราจึงเริ่มจากศูนย์ และคิดเพียงว่าต้องลงทุนให้ต่ำที่สุด เพราะแหล่งเงินทุนที่เรามีขณะนั้นทางเดียว คือ ยืมเงินครอบครัว
หลังจากนั้น ชวนเพื่อนซึ่ง คือ “อุดมศักดิ์” ตอนนั้นอุดมศักดิ์ มีซอฟแวร์ที่พัฒนาอยู่แล้ว คือ Zanroo นำไปเสนอกับบริษัทแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าหลังจากพรีเซนเสร็จ ชื่นชอบมาก และอยากให้เราทำให้ ตอนนั้น ครั้งแรกตั้งใจว่าจะคิดค่าบริการแค่เดือนละ 3 หมื่นบาท แต่พอเห็นถึงความต้องการของลูกค้า เปลี่ยนความคิดจากที่ตั้งใจคิดค่าบริการเดือนละ 3 หมื่น เพิ่มขึ้นมาเป็นเดือนละ 9 หมื่นบาท และทำสัญญา 1 ปี โดยการันตีว่า ทดลองทำให้ก่อน 3 เดือน ถ้าลูกค้าพอใจ ก็จะไม่รับค่าจ้าง
โดยผ่านไป 3 เดือน สุดท้ายสามารถทำได้ และได้ต่อสัญญา 1 ปี และในระหว่างนั้น เริ่มหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น ผ่านไป 3 เดือน มีรายได้ 1 ล้านบาท มีลูกค้า 10 ราย และผ่านไป 2-3 ปี มีรายได้หลักร้อยล้านบาทจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว หรือ คิดการเติบโตถึง 400 เท่าตัว ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ ประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมมูลค่าของบริษัท ในวันนี้ มีรายได้หลักพันล้านบาท
สตาร์ทอัปไทยรายแรก มีสนง.ใหญ่ 5 แห่งต่างประเทศ
“สำหรับการเป็นยูนิคอร์น ต้องบอกว่าวันนี้ มันยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามาก มีการพูดกันในกลุ่มเพื่อนที่เป็นสตาร์ทอัพด้วยกัน ว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่มี สตาร์ทอัปที่เป็นยูนิคอร์น แต่เราทุกคนก็แอบตั้งความหวังว่าจะได้เห็นสตาร์ทอัปไทยได้อยู่ในระดับยูนิคอร์นกับเขาบ้าง แต่ในความเป็นจริง คือ สตาร์ทอัปไทย เป็นธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นมาง่าย และล้มลงไปง่ายๆ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการมากกว่า คือ อยากเห็นZanroo เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนไม่ล้มง่ายเหมือนกับสตาร์ทอัปทั่วไป”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากกว่าการได้เป็นยูนิคอร์น คือ สามารถเข้าไปทำตลาดในต่างประเทศ เพราะความยากในการทำตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน มีเรื่องของภาษา ที่ต้องเรียนรู้ภาษาของแต่ละประเทศให้ได้ก่อน เพื่อจะได้สื่อสารและเขียนซอฟแวร์ให้ลูกค้าเข้าใจ ความยากที่สุดอยู่ประเทศมาเลเซีย เพราะมีภาษาที่ใช้มากถึง 6 ภาษา แต่พอเวลาผ่านไปเรื่องยาก หรืออุปสรรคต่างๆ ผ่านไปได้ ทำให้ วันนี้ มีลูกค้าต่างประเทศ มากถึง 9 ประเทศ โดยรายได้ 50% มาจากลูกค้าในต่างประเทศ และสำนักงานที่ตั้งทั้ง 5 ประเทศมีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะขยายตลาดในประเทศอื่นๆได้ โดยที่ไม่ต้องใช้สำนักงานในประเทศไทย
เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรวดเร็ว
อุปสรรคทำให้ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
“นายอุดมศักดิ์” ผู้รับหน้าที่พัฒนาด้านซอฟแวร์ เล่าถึง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาต้องพัฒนาให้ทัน โดยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ ได้ใช้เงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 40 -50% ของทุนทั้งหมด ที่ต้องโฟกัสไปที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เพราะตลาดโลกเองมีการอัพเกรดเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ตลอด การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้เราต้องตามให้ทัน ถ้าอยู่ในธุรกิจนี้ ถือว่าสำคัญมากซึ่งต้องยอมรับว่า วันนี้ จุดแข็งของเรา คือ งานบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทุกรูปแบบไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไประดับไหน
“ในขณะที่คู่แข่งที่เข้ามาในช่องทางนี้ ใหม่ๆเพิ่มขึ้น คู่แข่งรายเดิมที่ทำมาก่อน มีการพัฒนาเช่นกัน และต้องยอมรับว่า พอเจอคู่แข่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ จากต่างประเทศทำให้เป๋ไปเหมือนกัน จากเดิมเราเคยเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดนี้ ก็ตกมาเป็นเบอร์สอง แต่ไม่ได้สำคัญอะไร เพราะยังคงรักษาฐานลูกค้ารายเดิมให้ยังคงเลือกเป็นลูกค้าเราเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งที่ลูกค้าเก่ายังคงเลือกอยู่กับเรา ก็อาจจะเป็นเพราะ ถ้าต้องย้ายไปทำกับรายอื่นๆ ต้องโอนย้ายข้อมูลที่ยุ่งยากมาก และลูกค้ายังคงมั่นใจว่าข้อมูลของลูกค้าเราจะไม่เก็บไว้ และจะเป็นความลับตลอด โดยที่ผ่านมาได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ด้วยการขอมาตรฐาน ISO27001 มาตรฐานระดับโลกที่ลูกค้ามั่นใจได้หลังจากใช้บริการกับเรา”
อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมาจะมีทั้งนักลงทุนข้ามชาติ หรือ นักลงทุนไทยต่างสนใจที่จะขอเข้ามาลงทุนร่วมกับเรา แต่วันนี้ กลับมองว่าไม่จำเป็น เพราะมีเงินทุนมาก แต่กิจการของเรายังไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน คนที่ลงทุนร่วมกับเราอยากเห็นความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด ซึ่งส่วนตัวมองว่า ไม่ยั่งยืน อยากที่จะเติบโตแบบยั่งยืนมากกว่า
“อุดมศักดิ์” กล่าวถึง ความไม่แน่อนทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ปลายทางของการทำตลาด ในแง่มุมของ Marketing Technology เจออุปสรรค ที่ต้องรับมือในอนาคตอยู่ 2 เรื่อง หลัก เรื่องแรก คือ Personalize แปลว่า การทำการตลาดแบบไม่มีการตลาด ไม่มีโฆษณาอีกต่อไป ย้อนกลับไปในอดีต การโฆษณาคือ การบังคับเราให้ดู ปัจจุบันคนเลือกได้ว่าอยากดูโฆษณาสินค้าและบริการประเภทไหนผ่านข้อมูลการค้นหา ในอนาคตจะกลายเป็นว่า เทคโนโลยีสามารถรู้ว่าเรากำลังจะอยากได้อะไร ซึ่งเราเป็นคนให้ข้อมูลเองทั้งนั้น
เช่น ถ้าผมอยากจะได้รองเท้ายี่ห้อนี้ สีนี้ แบบนี้ ในตอนนี้เลยอยู่ดีๆ ผมเข้า Facebook มีโฆษณาเด้งขึ้นมา ว่า รองเท้าที่ ผมอยากจะได้เนี่ย ถ้าผมคลิกตอนนี้จะถูกกว่าช็อปทั่วไป 50% แล้วจะมาส่งผมทันทีภายใน 5 นาที สิ่งนั้นจะกลายเป็นโฆษณาสำหรับผมหรือจะกลายเป็น Solution สำหรับผม ดังนั้นโฆษณาจะไม่มี นี่แหละคือ Personalize ที่น่ากลัว และกำลังจะเกิดขึ้น
สนใจ โทร.02-116-9405
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *