เมืองไทย 360 องศา
ในทางแท็กติกทางกฎหมายหลายคนอาจมองแบบนั้นก็ได้หลังจากล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ทางพรรคอนาคตใหม่ได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อคัดค้านและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้มีการไต่สวนพยานจำนวน 17 ปากในคดีพรรคอนาคตใหม่กู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคจำนวน 191 ล้านบาทอย่างเปิดเผย
น่าสังเกตก็คือการมายื่นคำร้องในครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญนายทะเบียนพรรคการเมืองและพยานจำนวน 17 ปากส่งคำชี้แจงเพียงหนึ่งวัน คือภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยไม่จำเป็นต้องมีการไต่สวน เนื่องจากเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว สามารถวินิจฉัยคดีได้ แต่อย่างไรก็ดีศาลระบุเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคดีจึงอนุญาตให้มีการส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรในวันดังกล่าวก่อนที่จะมีการวินิจฉัยคดีวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้อ้างถึงสาเหตุที่พรรคต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดกระบวนการพิจารณาในศาลและทำการไต่สวนอย่างเปิดเผย โดยได้ยื่นบัญชีพยานบุคคล 17 ราย แบ่งเป็นพยานนำ 4 ราย ซึ่งเป็นพยานที่พรรคสามารถนำมายังศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ได้แก่ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค และ ฝ่ายกฎหมายของพรรค ส่วนที่เหลืออีก 13 รายเป็นพยานหมาย ซึ่งพรรคไม่สามารถนำมาเป็นพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง เช่น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ กกต.ที่มีส่วนร่วมในการไต่สวนและมีความเห็นให้ยกคำร้อง โดยพยานหมายในกลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการเรียกมาเป็นพยานเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไป
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า จากเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่กำหนดให้พรรคอนาคตใหม่จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์จำนวน 17 รายนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจเข้าใจว่าทั้ง 17 รายล้วนเป็นพยานนำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พรรคจะสามารถยื่นบันทึกถ้อยคำได้ทันตามกำหนดเวลาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล และพรรคไม่มีอำนาจจะไปขอบันทึกการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต. )และประการที่ 2 การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทำให้พรรคมีเวลาจัดทำบันทึกเพียง 3 วันเท่านั้น เนื่องจากติดวันหยุดราชการถึง 3 วัน ได้แก่ วันที่ 8-9-10 กุมภาพันธ์ ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นย่อมไม่มีทางเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ที่พรรคจะดำเนินการได้ทัน
แน่นอนว่านี่คือสิทธิ์ทางกฎหมายหรืออาจเรียกว่าเป็นแท็กติกทางกฎหมายก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญว่าจะอนุญาตให้ตามคำร้องดังกล่าวหรือไม่ และการยื่นคำร้องมาก่อนถึงกำหนดเพียงไม่กี่ชั่วโมงมันก็สามารถมองได้หลายแง่มุม นั่นคือหนึ่งเป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีการไต่สวนพยานเกิดขึ้น เนื่องจากมีปัญหาในการทำบันทึกถ้อยคำของพยานที่ว่าจริงๆ หรือ สองนี่คือรายการยื้อคดีออกไปให้นานที่สุด
นั่นคือหากศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตตามคำร้องก็ต้องมีการใช้เวลาในการไต่สวนพยานแบบเปิดเผยอีกพักใหญ่
อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าจับตาก็คือในช่วงเวลานี้บรรดาแกนนำพรรคอนาคตใหม่บางคน เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล พยายามออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะกดดันหรือมองว่าเป็นการดิสเครดิตศาลรัฐธรรมนูญมากขึ้นในทำนองเหมือนกับว่าเป็นการ “ปิดกั้น” ไม่ยอมให้มีการชี้แจงหรือมีการไต่สวนพยานอย่างเปิดเผย รวมไปถึงมีความพยามชี้ให้เห็นว่าการที่ศาลฯกำหนดวันวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก่อนที่พรรคฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเพียงไม่กี่วัน นั่นคือกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาวันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
อีกทั้งยังระบุในทำนองว่าเป็นความพยายามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางส่วนที่ต้องการวินิจฉัยคดีทิ้งทวนก่อนที่ตัวเองจะหมดวาระ ซึ่งในข้อเท็จจริงก็จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คนกำลังจะพ้นวาระ
แม้ว่าในที่สุดแล้วผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญจะอนุญาตให้มีการไต่สวนพยานโดยเปิดเผยตามที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเรื่องเข้ามาก่อนถึงวันครบกำหนดเพียงแค่หนึ่งวันหรือไม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลฯได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่ามีข้อเท็จจริงครบถ้วนสำหรับการวินิจฉัยคดีแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีช่องทางให้ดิ้นรนก็ถือว่าต้องดิ้นกันจนนาทีสุดท้าย
เพราะต้องเข้าใจว่าคดีเงินกู้ของพรรคอนาคตใหม่ถือเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสที่สุด และที่สำคัญยังเป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคเปิดเผยออกมาเองว่าให้พรรคกู้เงิน ดังนั้นเหลือเพียงแค่คำวินิจฉัยว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่เท่านั้นเอง !!