xs
xsm
sm
md
lg

อนค.ยื่นไต่สวน 17 พยานเงินกู้ ข้องใจยื้อตั้งตุลาการศาล รธน. หวังให้ชุดเก่ายุบพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปิยบุตร” เผย อนค.ยื่นศาล รธน.เปิดไต่สวน17 พยาน ก่อนชี้ชะตาคดีเงินกู้ ชี้บริบทแวดล้อมทำสังคมกังขาลากยาวแต่งตั้งตุลาการศาล รธน.ชุดใหม่ หวังให้ชุดเก่ายุบ อนค.ทิ้งทวนก่อนหมดวาระ



วันนี้ (11 ก.พ.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึงความคืบหน้าคดีกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่ที่จะมีการตัดสินใจวันที่ 21 ก.พ.นี้ ว่าวันนี้พรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านคำสั่งที่กำหนดให้พรรคอนาคตใหม่จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 ก.พ. เพราะพรรคต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดกระบวนการพิจารณาในศาลและทำการไต่สวนอย่างเปิดเผย โดยได้ยื่นบัญชีพยานบุคคล 17 ราย แบ่งเป็นพยานนำ 4 ราย ซึ่งเป็นพยานที่พรรคสามารถนำมายังศาลรัฐธรรมนูญได้เอง ได้แก่ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค และ ฝ่ายกฎหมายของพรรค ส่วนที่เหลืออีก 13 รายเป็นพยานหมาย ซึ่งพรรคไม่สามารถนำมาเป็นพยานต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยตัวเอง เช่น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ กกต.ที่มีส่วนร่วมในการไต่สวนและมีความเห็นให้ยกคำร้อง โดยพยานหมายในกลุ่มนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการเรียกมาเป็นพยานเพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อไป

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า จากเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่กำหนดให้พรรคอนาคตใหม่จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 12 ก.พ. จำนวน 17 รายนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจเข้าใจว่าทั้ง 17 รายล้วนเป็นพยานนำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่พรรคจะสามารถยื่นบันทึกถ้อยคำได้ทันตามกำหนดเวลาของศาลรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผล และพรรคไม่มีอำนาจจะไปขอบันทึกการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ กกต. และประการที่ 2 การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีเอกสารข่าวเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ทำให้พรรคมีเวลาจัดทำบันทึกเพียง 3 วันเท่านั้น เนื่องจากติดวันหยุดราชการถึง 3 วัน ได้แก่ วันที่ 8-9-10 ก.พ. ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนั้นย่อมไม่มีทางเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ที่พรรคจะดำเนินการได้ทัน

เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าวอีกว่า ที่สำคัญในชั้นการพิจารณาของกรรมการการเลือกตั้งจะต้องเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายชี้แจง แต่พรรคใหม่ไม่เคยได้รับโอกาสนั้นเลย โดยในกรณีของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ว่าด้วยการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคเกิน 5 ล้านบาทต่อปี พรรคถูกเชิญชี้แจงในฐานะพยานเท่านั้นก่อนที่คณะอนุกรรมการไต่สวนจะยกคำร้องในเวลาต่อมา แต่ กกต.กลับไม่ยอมจบส่วนมาตรา 72 ว่าด้วยการไม่ให้พรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่า กกต.เพิ่งมาดำเนินการเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2562 โดยพรรคไม่เคยได้รับการชี้แจง และเมื่อคดีขึ้นมาศาลรัฐธรรมนูญแล้วพรรคหวังว่าจะได้เปิดการไต่สวนเพื่อให้ได้มีโอกาสชี้แจง ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงขอคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ให้ไต่สวนและเร่งส่งคำชี้แจงภายใน 6 วัน ซึ่งทั้งหมดเป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ

นายปิยบุตรยังหยิบยกกรณีที่สื่อบางฉบับที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีความพยายามยื้อเวลาการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญชุดใหม่เพื่อให้ชุดเก่าได้ยุบพรรคอนาคตใหม่ก่อนหมดวาระว่า เป็นเรื่องที่สื่อและสังคมมองกัน และวันนี้วุฒิสภากำลังพิจารณาให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จำนวน 5 คน แต่ตนคิดว่าจะเป็นคนใหม่หรือ 5 คนเก่าไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเรามั่นใจในข้อมูลข้อกฎหมายในการต่อสู้คดี และเชื่อมั่นในความเป็นกลางของศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่มีบริบทแวดล้อมที่ทำให้สงสัยว่าทำไมวุฒิภาถึงมีการเลื่อนการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถึง 4 ครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น