xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ เดินหน้าลงมติ พ.ร.บ.งบฯ ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันต้องให้ ศาล รธน.วินิจฉัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ - การประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
วุฒิสภาเดินหน้าลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 63 “พรเพชร” ชี้ปม ส.ส.เสียบบัตรแทนกันทำให้เป็นโมฆะหรือไม่ ต้องให้ศาล รธน.ตัดสินก่อน ส.ว.ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ด้าน “คำนูณ” ระบุ ส.ว.ทำได้แค่เห็นชอบกับเนื้อหาหรือไม่ ไม่มีอำนาจส่งร่างฯ คืนสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้ (21 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ได้หารือต่อที่ประชุมกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ไม่อยู่ในที่ประชุมสภาแต่มีชื่อลงมติว่า เรื่องนี้ผลเกี่ยวข้องกับวุฒิสภาโดยตรง เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการสภาผู้แทนราษฎรแล้วจึงได้ส่งมายังวุฒิสภา การที่วุฒิสภาจะพิจารณาต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอยากหารือว่าวุฒิสภาจะดำเนินการอย่างไร จะกลายเป็นการลงมติกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นลงมมติไม่ชอบทั้งวุฒิสภาหรือไม่

“เราจะอภิปรายต่อไปแต่อย่าเพิ่งลงมติ หรือเราจะคืนเรื่องให้สภาแล้วค่อยลงมติใหม่ภายใน 20 วันตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ถ้าไม่ทำแบบนี้จะกลายเป็นประเด็น และไม่จบ ดังนั้นต้องหารือว่าจะใช้วิธีการอย่างใด” นายเสรีกล่าว

นายพรเพชรวินิจฉัยว่า ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ สภาผู้แทนราษฎร เข้าใจว่าสภาฯ กำลังดำเนินการอยู่ ร่างกฎหมายนี้ส่งมาอย่างเป็นทางการยังวุฒิสภาก็ต้องถือว่าร่างที่ส่งมาถูกต้อง อีกทั้งวุฒิสภาคงไม่มีอำนาจวินิจฉัยหรือดำเนินการว่าร่างกฎหมายนี้ถูกหรือผิด แต่ถ้าระหว่างนี้สภาฯ บอกว่าขอให้รอไว้ก่อน เราก็ต้องรอ เราต้องดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับ คือพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน ส่วนร่างกฎหมายจะเป็นโมฆะหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดของวุฒิภา เพราะวุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยหรือไปก้าวก่าย วุฒิสภาก็ต้องพิจาณาไปตามที่สภาฯ ยืนยันมาว่าถูกต้อง

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวว่า การเสียบบัตรแทนกันระหว่างกรณีของนายฉลอง กับกรณีของนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น มีความแตกต่างกัน โดยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วภายใน 20 วัน เราส่งคืนให้สภาฯ ไม่ได้ และวันนี้ต้องลงมติ ส่วนถ้าวุฒิสภาเห็นว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญต้องเข้าชื่อกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

นายสมชายกล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้เป็นการตื่นตระหนก วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองประโยชน์สาธารณะ และกรณีของนายฉลองไม่ชัดเท่ากับกรณีของนายนริศร แม้นายฉลองจะยอมรับว่าไม่อยู่ในสภาก็จริง แต่ต้องตรวจสอบว่าใครกดบัตรแทนให้ อย่างไรก็ตาม หากศาลวินิจฉัยว่ากฏหมายนี้ใช้ไม่ได้จริง ก็มี พ.ร.บ.งบประมาณปี 2562 เพื่อเดินหน้าได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาา (วิปวุฒิสภา) ให้สัมภาษณ์ว่า ส.ว.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในส่วนเนื้อหาเท่านั้น แต่กรณีที่เกิดขึ้นอยู่นี้ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา แต่เป็นเพียงกระบวนการกล่าวหาในชั้นของสภาฯ ทั้งนี้การหยุดพิจารณาและส่งคืนไปยังสภาฯ ตามการอนุมานที่สภาฯ กล่าวหานั้น ไม่สามารถทำได้จนกว่าองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาด คือ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน แต่หากยังไม่มีคำตัดสิน ถือว่ายังเป็นความถูกต้อง

“ที่มีผู้ยกเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีที่เคยเกิดก่อนหน้านี้ ต้องยอมรับว่าแต่ละคดีมีข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้น หากจะสรุปว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้ขาด ไม่ใช่สภาฯ หรือวุฒิสภา ส่วนสภาฯ หรือวุฒิสภา หากเห็นว่าไม่ถูกต้องจะมีช่องทางดำเนินการตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งวุฒิสภานัดหมายจะลงมติร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 ประมาณ 15.00 น.” นายคำนูณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น