“ตั๊น จิตภัสร์” ผู้แทนรัฐสภาไทยหญิง เข้าร่วมประชุมความเข้าใจและตระหนักในเรื่องเพศสภาพ จัดโดยสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA)
วันนี้ (16 มกราคม 2563) นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับความเข้าใจและตระหนักในเรื่องเพศสภาพ (Gender Sensitivity Training Workshop) ระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2563 ณ โรงแรมแลงคาสเตอร์ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA)
โดยนางสาวจิตภัสร์ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายที่สร้างความเท่าเทียมกันทางเพศและการส่งเสริมศักยภาพของสตรี มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้
ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งวางแนวทางการพัฒนาความเสมอภาคทางเพศและการเสริมอำนาจสตรี โดยบูรณาการการทำงานบนพื้นฐานของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ปฏิญญาปักกิ่งและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในระดับนานาชาติ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฯ ฉบับที่ 100 เกี่ยวกับนโยบายการจ้างงานและฉบับที่ 111 เรื่องการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและอาชีพ)
อนุสัญญา ฉบับที่ 100 ว่าด้วยค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน มีจุดมุ่งหมายให้รัฐภาคีคำนึงถึงอัตราค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับแรงงานชายและหญิงในงานที่มีลักษณะเหมือนกัน และอนุสัญญา ฉบับที่ 111 ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ (การจ้างงานและการประกอบอาชีพ) คุ้มครองบุคคลจากการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานตามมาตรฐานแรงงานสากลทุกรูปแบบ รัฐสมาชิกที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ห้ามการเลือกปฏิบัติและการกีดกันทุกรูปแบบ รวมถึง เชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง
ในการจัดการกับการเลือกปฏิบัติแรงงาน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2538 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562) ลูกจ้างจะต้องได้รับการปฏิบัติและอัตราค่าจ้างเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงาน เนื่องจากความพิการ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดโควต้าการจ้างคนพิการในภาครัฐและเอกชนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นายจ้าง
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ดำเนินการส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติในทุกด้านอย่างต่อเนื่องโดยมีรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 เป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๗๑ วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุความสำคัญของการดำเนินงานด้านงบประมาณในการจัดทำงบประมาณแบบตอบสนองต่อเพศสภาพ