xs
xsm
sm
md
lg

“ตั๊น” ร่วมเวทีรัฐสภาอาเซียน ถกความเท่าเทียมทางเพศ แย้มจ่อออก กม.เพื่อ LGBTI

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จิตภัสร์” เข้าเสวนาเวทีรัฐสภาอาเซียน ความเท่าเทียมกันทางเพศ ฐานะตัวแทน ส.ส.หญิงไทย ยันไทยพร้อมรับสังคมสูงวัย พ่วงความหลากหลายทางเพศ มีทั้ง กม.-หน่วยงานดูแล จ่อออก พ.ร.บ.หุ้นส่วนทางแพ่ง เพื่อประกันสิทธิทาง กม.กลุ่ม LGBTI

วันนี้ (13 ม.ค.) น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกในฐานะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาหญิงของไทย ให้เข้าเสวนาทางวิชาการเรื่อง ความเท่าเทียมกันทางเพศ ที่จัดโดยสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA) ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับความเข้าใจและตระหนักในเรื่องเพศสภาพ (Gender Senstivity Training Workshop) โดยช่วงเช้าเป็นการแนะนำสมาชิกรัฐสภาของแต่ละประเทศในชาติอาเซียนพร้อมคณะที่มาร่วมงานและบทบาทหน้าที่ของแต่ละท่านซึ่งมีสมาชิกชาติอาเซียนส่งตัวแทนเข้าร่วม รวม 7 ประเทศ เพื่อมุ่งหวังที่จะช่วยส่งเสริมสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ

น.ส.จิตภัสร์กล่าวในวงเสวนาตอนหนึ่งว่า ประเด็นปัญหาที่กระทบต่อความเท่าเทียมกันทางเพศและการส่งเสริมขีดความสามารถของสตรียังมีอุปสรรคปัญหาบ้าง แม้ว่าการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมไทย แต่ผู้หญิงก็ยังคงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมและได้รับประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียม ด้วยเหตุที่สังคมยังตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องเพศสภาพไม่เพียงพอ บทบาทของผู้หญิงมักถูกกำหนดโดยค่านิยมทางสังคม ดังนั้น ผู้หญิงไทยซึ่งมีจำนวนครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศ จึงถูกมองข้ามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ส่วนความท้าทายที่สําคัญ คือ เรื่องค่าตอบแทน โอกาสและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ไม่เท่าเทียมกันและโดยเฉพาะภาระการดูแลครอบครัว ขณะที่ทางสหประชาชาติสำรวจพบว่าไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย ที่วัดค่าเฉลี่ยจาก 1 ใน 10 ของประชากรของประเทศมีอายุสูงกว่า 60 ปี และกำลังจะเปลี่ยนก้าวเป็น สังคมผู้สูงอายุ ที่วัดค่าโดย 1 ใน 5 ของประชากรมีอายุสูงกว่า 60 ปี ภายในปี 2568 ทั้งนี้ จำนวนคนไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 17.5 ในปี 2563 และเปลี่ยนเป็นร้อยละ 21.2 ในปี 2568 และร้อยละ 25.5 ในปี 2573

​น.ส.จิตภัสร์กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลายฉบับ ซึ่งครอบคลุมประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ แต่ยังคงมีข้อกังวลเกี่ยวกับการออกกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน อาทิ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมกันทางเพศ ปี 2558 เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือมีเพศสภาพที่แตกต่างจากเพศที่กำเนิด พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดกลไกระดับชาติไว้ 3 ข้อเพื่อปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้อง การดูแลเรื่องร้องเรียน และให้การเยียวยาสำหรับผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ส่วนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562-2566) เป็นแผนที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกันทางเพศ เป็นพื้นฐานในการบรรลุตามแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ใช้รองรับเพื่อแก้ไขปัญหานี้ระดับหนึ่ง เมื่อรวมถึงการส่งเสริมศักยภาพสตรี ที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังยกร่าง พ.ร.บ.หุ้นส่วนทางแพ่ง เพื่อประกันสิทธิทางกฎหมายของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่จะให้สิทธิบุคคลที่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางแพ่งซึ่งครอบคลุมประเด็นต่าง เมื่อผนวกกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมที่จัดกิจกรรมฝึกอบรมในระดับจังหวัด โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังวางแผนในอนาคตอันใกล้ เพื่อรองรับสังคมที่หลากหลายทางเพศเพื่อความเท่าเทียมกัน คือการแสวงหาโอกาสความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับชาติ และระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาอคติและความรุนแรงต่อกลุ่ม LGBTI




กำลังโหลดความคิดเห็น