xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานอุบลฯ กระทุ้งรัฐขอค่าแรงวันละ 360 บาท วอนรับรองอนุสัญญา ILO เพื่อสิทธิแรงงานไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดอุบลราชธานี เรียกร้องขอค่าแรงงานวันละ 360 บาท
อุบลราชธานี - ดีเดย์วันแรงงาน ผู้ใช้แรงงานจ.อุบลราชธานี เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 360 บาท แทนขึ้นเป็นขั้นบันไดรายจังหวัด ย้ำควรเท่าเทียมกันเรื่องรายได้ผู้ใช้แรงงาน ทั้งร้องรัฐปรับปรุงรัฐวิสาหกิจแทนแปรรูปเป็นเอกชน จี้รัฐบาลไทยลงสัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO เพื่อประโยชน์ผู้ใช้แรงงาน

วันนี้ (1 พ.ค. 61) กลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดอุบลราชธานี ชุมนุมเดินถือป้ายรณรงค์เรียกร้องเข้ามาในสนามหญ้าวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี สถานที่จัดงานเนื่องในวันแรงงานประจำปีนี้ โดยข้อเรียกร้องของแรงงานปีนี้ ต้องการให้มีการประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 360 บาทเหมือนกันทั่วประเทศ แทนอัตราค่าจ้างตามอัตราขั้นบันไดในจังหวัดต่างๆ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงนามรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานกับนายจ้าง โดยสนธิสัญญาดังกล่าวนี้ คือ หลักประกันให้กับคนทำงานสามารถทำการเจรจาต่อรองอย่างเป็นเหตุเป็นผล เมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง


นายสำเริง นากระโทก เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สาขาอุบลราชธานี (สรส.อบ) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลมีการปรับปรุงรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ให้แปรรูปเป็นของเอกชน เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน รวมทั้งไม่ให้ลดหรือเลิกสวัสดิการของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ พร้อมดูแลเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้ใช้แรงงานในรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้ปรับปรุงมานานนับสิบปี และข้อเรียกร้องอื่นๆรวม 10 ข้อ

สำหรับการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จะทำให้ประเทศมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา จึงต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง และการให้สัตยาบัน ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ ช่วยปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ซึ่งเหลืออยู่ไม่มาก และเป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า


รัฐบาลไทยกำลังศึกษาอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ แต่ยังไม่มีการลงนาม เพื่อรับรองให้อนุสัญญามีผลบังคับใช้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเห็นความสำคัญและเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องทั้งหมดต่อนายเธียรชัย พุทธรังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดให้ส่งต่อไปยังรัฐบาลด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น