xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานเคลื่อนพลไปลานคนเมือง ยื่น 10 ข้อเรียกร้อง “วันเมย์เดย์” ถึง “บิ๊กตู่” ขอเกษียณอายุ 60 ปี รับบำนาญเริ่มต้น 5,000 บาทต่อเดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศเคลื่อนขบวนแรงงานจากสนามม้านางเลิ้งมายังลานคนเมือง กทม.
ผู้ใช้แรงงาน 17 องค์กร เคลื่อนขบวนจากสนามม้านางเลิ้ง สู่ลานคนเมือง กทม. เตรียมยื่น 10 ข้อเรียกร้องวันแรงงานต่อ “บิ๊กตู่” ขอกำหนดอายุเกษียณ 60 ปี เงินบำนาญเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน รับเงินบำนาญพ่วงเป็นผู้ประกันตนเองได้ ด้าน คสทร. เคลื่อนขบวนจากราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล จี้ทำตามข้อเรียกร้องวันแรงงานปี 2560

วันนี้ (1 พ.ค.) เมื่อเวลา 07.15 น. ที่บริเวณราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย (สนามม้านางเลิ้ง) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี หรือ วันเมย์เดย์

ต่อมาเมื่อเวลา 09.45 น. กระทรวงแรงงาน และผู้ใช้แรงงานจำนวน 17 องค์กร ตั้งริ้วขบวนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเคลื่อนริ้วขบวนจากบริเวณสนามม้านางเลิ้ง ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ท่ามกลางฝนที่ตกลงมา เพื่อยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2561 จำนวน 10 ข้อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเดินทางมายังลานคนเมือง เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ และกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ใช้แรงงาน ในเวลา 14.30 น.

สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีดังนี้ 1. ขอให้แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี 2. ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน 3. ให้ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และรับบำนาญให้มีสิทธิ์สมัครมาตรา 39 ได้โดยไม่ตัดสิทธิ์การรับเงินบำนาญ 4. ให้ประกันสังคมใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิมคำนวณเป็นฐานรับบำนาญให้ลูกจ้างที่พ้นจากผู้ประกันตนมาตรา 33 5. ให้รัฐบาลกำหนดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้น 6. ให้เร่งออกกฎหมายที่สนับสนุนระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจและยุติการแปรสภาพ 7. ให้ออกกฎหมายคุ้มครองพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิ์จัดตั้งองค์กรได้ 8. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 9. ให้แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา และ 10. ให้รัฐบาลสั่งกระทรวงแรงงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัดโดยให้นายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดำเนินการตัดสินใจโดยเฉพาะระบบแรงงานสัมพันธ์

ขณะเดียวกัน การจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ บริเวณถนนราชดำเนิน โดยคณะจัดงานวันกรรมกรสากล 2561 ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เมื่อเวลา 09.00 น. ได้มีการตั้งขบวนและเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามข้อเรียกร้องแรงงานที่ยื่นไปเมื่อปี 2560 ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้องแต่อย่างใด ไม่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการเมื่อใด โดยไม่ได้มีการไปยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมแต่อย่างใด

สำหรับข้อเรียกร้องเดิมเมื่อปี 2560 ที่จะติดตามให้มีการดำเนินการ ประกอบด้วย 1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ อาทิ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน อาทิ กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี 3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจ ในการให้บริการที่ดีมีคุณภาพเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อาทิ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ 5. รัฐต้องยกเลิกนโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม เช่น จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ. ประกับสังคม พ.ศ. 2533 และนำเงินส่งสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 33 เป็นต้น

7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมหมวด 5 มาตรา 53) 8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการยกเลิกหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม 9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ การบังคับใช้ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง และ 10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ





บรรยากาศเคลื่อนขบวนแรงงานจากราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล ภาพจากเฟซบุ๊ก  หมอกู๊ด หทัยชนก
บรรยากาศเคลื่อนขบวนแรงงานจากราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล ภาพจากเฟซบุ๊ก  หมอกู๊ด หทัยชนก
บรรยากาศเคลื่อนขบวนแรงงานจากราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล ภาพจากเฟซบุ๊ก  หมอกู๊ด หทัยชนก
บรรยากาศเคลื่อนขบวนแรงงานจากราชดำเนินไปยังทำเนียบรัฐบาล ภาพจากเฟซบุ๊ก  หมอกู๊ด หทัยชนก


















กำลังโหลดความคิดเห็น